เตรียมชง ศบค.ชุดใหญ่พรุ่งนี้ ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-ยุบศบค.

เตรียมชง ศบค.ชุดใหญ่พรุ่งนี้ ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-ยุบศบค.
Highlight

เมื่อรัฐบาลมีแผนปรับระดับความรุนแรงของโควิด-19 จากโรคติดต่อร้ายแรงเป็นโรคเฝ้าระวัง โดยมีผลตั้งแต่ 1 ต.ค.นี้ และจำนวนผู้ติดเชื้อประจำวันและผู้เสียชีวิตลดลงมากประกอบกับการเปิดประเทศเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว ความหวังในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ อีกทั้งการเป็นเจ้าภาพจัดประชุม APEC ในช่วงปลายปี การยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะทำให้การเดินทางเข้าประเทศทำได้สะดวกขึ้น ซึ่งอาจเป็นเหตุผลสำคัญในการยกเลิกพ.ร.ก.ในครั้งนี้



พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) กล่าวว่า ที่ประชุม ศปก.ศบค.เห็นชอบร่วมกันว่าวันพรุ่งนี้ (23 ก.ย.) จะเสนอต่อที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ให้พิจารณายกเลิกการบังคับใช้พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ)

“หากพรุ่งนี้ที่ประชุม ศบค.เห็นชอบก็จะส่งผลให้ยุบ ศบค., ศปก.ศบค. และศูนย์ที่เกี่ยวข้องอีก 9 ศูนย์ ยุบส่วนราชการต่างๆ ที่ตั้งมาก่อนหน้านี้ ทั้งอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ภาคเศรษฐกิจ ยุบทั้งหมด แต่จะมีกลไกรองรับและได้มีการเตรียมการเป็นลำดับแล้ว โดยหากผ่านความเห็นชอบก็จะเริ่มต้นได้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป

โดยหลังจากนี้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ โดยรมว.สาธารณสุข จะเป็นคนดูแลด้วย พ.ร.บ.โรคติดต่อ ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลและปรับปรุงให้เกิดความเหมาะสมมากขึ้นเพื่อรองรับกับสถานการณ์” อย่างไรก็ตามยืนยันว่า การเตรียมยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่เกี่ยวข้องกับการประชุมเอเปคที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพ แต่เป็นการดำเนินการเพื่อให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปข้างหน้า

พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า การประชุมวันนี้เป็นการประชุมนัดสุดท้ายของ ศปก.ศบค.มีเรื่องสำคัญ คือ การรับทราบสถานการณ์ปัจจุบัน ตามที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศให้ทราบทุกอย่างเริ่มดีขึ้นตามลำดับ ผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตลดลง ซึ่งเป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุข คือรณรงค์ดำเนินการต่อไปให้เหลือน้อยที่สุดหรือไม่มีเลย

นอกจากนี้ได้มีการหารือเรื่องแผนการเปลี่ยนผ่านให้โควิด-19 เป็นโรคเฝ้าระวังตั้งแต่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป โดยกระทรวงสาธารณสุขได้รับความเห็นชอบจาก ศบค.ไปก่อนหน้านี้ และวานนี้ได้ประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่ไม่ร้ายแรง

ในส่วนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้คิดแผนรองรับและเตรียมบูรณาการการทำงาน เพื่อกลับไปสู่กลไกปกติของประเทศ ทั้งนี้จะมีคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติของกระทรวงสาธารณสุขเป็นหลัก มีคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและกรุงเทพมหานครเป็นกลไกหลักในการบริหารจัดการ

“จากนี้กระทรวงสาธารณสุขจะได้ทำแผนและแจ้งแนวทางต่างๆ ที่ต้องปฏิบัติหลังมีการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่โรคติดต่อที่ไม่ร้ายแรง ตลอดจนองค์กร สถานประกอบการต่างๆ ต้องปฏิบัติอย่างไรหลังจากนี้ ซึ่งทั้งหมดจะมีแผนเผชิญเหตุรองรับด้วยในช่วงการเปลี่ยนผ่าน เพื่อไม่ให้กลับไปสู่การเสียหายขนาดใหญ่อีก” พล.อ.สุพจน์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมย่อยยังมีข้อกังวลเป็นพิเศษในช่วงเปลี่ยนผ่าน คือ เรื่องการใช้ชีวิตประจำวัน หากยกเลิกแล้ว ไม่ใช่ว่าจะถอดหน้ากากหรือดำเนินชีวิตอย่างไรก็ได้ แต่ต้องมีมาตรการป้องกันส่วนบุคคล เพราะในการรวมตัวยังมีคลัสเตอร์ใหญ่และย่อยเกิดขึ้นได้ เพียงแต่ภูมิคุ้มกันหมู่ภาพรวมของประเทศไทยอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมากและไม่มีอาการเจ็บป่วยรุนแรง มียาแพทย์ พยาบาล และโรงพยาบาลเพียงพอ

สำหรับการถอดหน้ากากในชีวิตประจำวันนั้นคงจะต้องค่อยเป็นค่อยไป เพราะหากตามดูที่รัฐบาลได้ทำมาต่อเนื่องได้ทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่เปิดให้เสียหายมากและค่อยมาแก้ไข แต่เราจะคำนึงถึงประชาชน ความเสียหายของประชาชนเป็นสำคัญ ดังนั้นคิดว่าค่อยๆ ปรับตัวกันไปก่อน

ติดต่อโฆษณา!