จีนสุดล้ำ ! พัฒนาขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงบนอากาศ และมุดดำน้ำแบบหาพิกัดได้ยาก

จีนสุดล้ำ ! พัฒนาขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงบนอากาศ และมุดดำน้ำแบบหาพิกัดได้ยาก
Highlight

จีนประสบความสำเร็จในการพัฒนาขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงใช้งานแบบ Multi ได้ทั้งบนอากาศและในน้ำ สามารถดำน้ำเข้าโจมตีเป้าหมาย หลายรูปแบบยากต่อการค้นพบระบุตำแหน่งจากฝ่ายข้าศึก โจมตีได้ไกลและเร็วกว่าตอร์ปิโดทั่วไป ซึ่งจีนทุ่มเทคิดค้นอาวุธดังกล่าวเสริมศักยภาพทางทหารหลังเกิดข้อพิพาททางทะเลบ่อยครั้ง นอกจากนี้ยังเตรียมส่งยานอวกาศสำรวจดวงจันทร์รอบใหม่ โดยกำหนดภารกิจสำรวจด้านไกลและขั้วใต้ของดวงจันทร์



ท่ามกลางความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และทางการค้าเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ กลุ่มประเทศมหาอำนาจ ต่างก็พัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ ไม่หยุดยั้งอยู่กับที่และดูเหมือนตลาดการค้าอาวุธสงครามจะคึกคักไปตามสถานการณ์ตึงเครียดของโลก

สำหรับข้อพิพาททางทะเลของประเทศต่างๆ มีให้เห็นบ่อยครั้ง สร้างความตึงเครียดให้กับพื้นที่ใกล้เคียง ในเอเชียหนีไม่พ้นกรณี จีน-ไต้หวัน ที่จีนมักจะซ้อมรบรอบเกาะไต้หวันอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อทีมนักการเมืองสหรัฐมาเยือนไต้หวันแบบถี่ๆ เป็นการท้าทายจีน ที่ประกาศว่าไต้หวันคือส่วนหนึ่งของจีน และจะมีเพียงจีนเดียว

ล่าสุดประเทศจีนได้พัฒนาขีปนาวุธต่อต้านเรือเดินทางด้วยความเร็วเหนือเสียงบนอากาศและสามารถดำน้ำเข้าโจมตีเป้าหมาย หรืออาวุธที่เคลื่อนที่และโจมตีหลายรูปแบบยากต่อการค้นพบระบุตำแหน่งจากฝ่ายข้าศึก

อาวุธต่อต้านเรือที่โดดเด่นนี้จะใช้เครื่องยนต์แรมเจ็ตที่จับเคลื่อนด้วยโบรอน ซึ่งใช้งานได้ทั้งในอากาศและในน้ำ ความเร็วเหนือเสียง มันสามารถโจมตีได้ไกลและเร็วกว่าตอร์ปิโดทั่วไป

ปัจจุบันประเทศจีนพัฒนาขีดความสามารถด้านการทหารจนขึ้นมาอยู่เป็นลำดับต้น ๆ ของโลก หนึ่งในทีมผู้พัฒนามาจากทีมงานนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีป้องกันประเทศแห่งชาติฉางซา มณฑลหูหนาน

เปิดสเป็กขีปนาวุธที่บินได้และดำน้ำได้ความเร็วเหนือเสียง

โครงสร้างของขีปนาวุธรุ่นใหม่นี้มีความยาว 5 เมตร ภายนอกมีลักษณะคล้ายการผสมกันระหว่างขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงและตอร์ปิโดที่เดินทางใต้น้ำ ทีมงานวิจัยเปิดเผยข้อมูลว่าขีปนาวุธสามารถเดินทางบนอากาศด้วยความเร็ว 2.5 มัค หรือ 3,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ที่ระดับความสูง 32,800 ฟุต หรือประมาณ 10 กิโลเมตร

สำหรับระบบขับเคลื่อนขีปนาวุธรุ่นใหม่นี้ทีมงานพัฒนาเปิดเผยออกมาเพียงบางส่วน โดยใช้รูปแบบเครื่องยนต์แรมเจ็ทความเร็วเหนือเสียงใช้แท่งเชื้อเพลิงแข็งที่มีโบรอนเป็นส่วนประกอบ 60% ซึ่งทีมงานยืนยันว่าสามารถทำให้เกิดการเผาไหม้ที่รุนแรงทั้งการบินบนอากาศและการเคลื่อนที่ใต้น้ำ

อย่างไรก็ตามเชื้อเพลิงแข็งที่มีโบรอนเป็นส่วนประกอบนั้นปัจจุบันจีนยังคงต้องใช้วิธีนำเข้าโบรอนจากต่างประเทศจำนวนมาก ซึ่งยังคงเป็นคำถามเกี่ยวกับเชื้อเพลิงชนิดดังกล่าวว่าจีนสามารถนำมาใช้ด้านการทหารได้มากน้อยเพียงใด

รูปแบบวิธีการโจมตีเมื่อขีปนาวุธเดินทางเข้าใกล้เป้าหมายเป็นเรือรบบนผิวน้ำของข้าศึกในระยะ 10 กิโลเมตร ขีปนาวุธจะบินด้วยความสูงระดับใกล้ผิวน้ำเพื่อหลบหลีกการตรวจพบ ก่อนดำลงใต้น้ำในลักษณะคล้ายตอร์ปิโดความเร็วสูงเข้าโจมตีเรือรบบนผิวน้ำของข้าศึกอย่างรวดเร็ว นับเป็นรูปแบบการทำงานของขีปนาวุธที่มีประสิทธิภาพสูงและตรวจพบระบุตำแหน่งได้ยาก รองรับการใช้งานในสงครามทางทะเลและป้องกันประเทศของจีนที่ปัจจุบันมักมีปัญหาข้อพิพาทอยู่บ่อยครั้ง

สำหรับจีนนั้นไม่เพียงแต่มีความก้าวหน้าในการพัฒนาอาวุธ แต่ยังได้โชว์ศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในภารกิจอวกาศสำรวจด้านไกลและขั้วใต้ของดวงจันทร์ โดยได้ส่วยานอวกาศสำรวจดวงจันทร์อย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดจีนประกาศภารกิจสำรวจดวงจันทร์ครั้งใหม่ที่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาล ใน 3 ภารกิจ เพื่อวางรากฐานของสถานีสำรวจบนดวงจันทร์ของจีนในอนาคต โดยจะเป็นการนำยานอวกาศลงจอดบริเวณด้านไกลและขั้วใต้ของดวงจันทร์ 

ปัจจุบันจีนได้พัฒนายานฉางเอ๋อ 6 (Change'e 6) ใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้วและยานอวกาศลำนี้จะเป็นหนึ่งในยานอวกาศที่จะเดินทางไปสำรวจดวงจันทร์ ความคืบหน้าดังกล่าวถูกเปิดเผยโดยลู่ จีซวง (Liu Jizhong) ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจดวงจันทร์และโครงการอวกาศขององค์การอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA)

จีนเคยประสบความสำเร็จในการส่งยานฉางเอ๋อ 5 (Change'e 5) ลงจอดบนดวงจันทร์และนำตัวอย่างหินบนดวงจันทร์เดินทางกลับโลกมาแล้วในช่วงปี 2020 สำหรับยานฉางเอ๋อ 6 (Change'e 6) คาดว่าจะถูกส่งไปลงจอดด้านไกลของดวงจันทร์ อย่างไรก็ตามจีนยังไม่เปิดเผยกำหนดการที่ชัดเจนของภารกิจ 

นอกจากยานฉางเอ๋อ 6 (Change'e 6) และยานฉางเอ๋อ 7 (Change'e 7) จีนยังมีแผนการส่งยานฉางเอ๋อ 8 (Change'e 8) ลงจอดบนดวงจันทร์พร้อมทดสอบอุปกรณ์เครื่องมือก่อสร้างสถานีสำรวจ International Lunar Research Station (ILRS) บนดวงจันทร์โดยใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือกับรัสเซีย เริ่มต้นโครงการในช่วงปี 2030

ที่มา :

https://newatlas.com/military/china-boron-missile-torpedo/

https://www.space.com/china-moon-exploration-chang-e-missions-approved

TNN World News

ติดต่อโฆษณา!