“กษัตริย์ชาร์ลส์ที่สาม” พระราชาพระองค์ใหม่แห่งสหราชอาณาจักร ทรงสืบทอดราชบัลลังก์ หลังสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จสู่สวรรคาลัย

“กษัตริย์ชาร์ลส์ที่สาม” พระราชาพระองค์ใหม่แห่งสหราชอาณาจักร  ทรงสืบทอดราชบัลลังก์ หลังสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จสู่สวรรคาลัย
Highlight

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองเสด็จสู่สวรรคาลัยด้วยสิริพระชนมายุ  96 พรรษา และทรงครองราชย์ยาวนานที่สุดถึง 70 ปี เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ องค์มกุฎราชกุมารผู้ดำรงพระยศ "เจ้าชายแห่งเวลส์" พระชนมายุ 73 พรรษา ได้ทรงสืบทอดราชบัลลังก์เป็นกษัตริย์ชาร์ลส์ที่สาม (Charles the III) โดยอัตโนมัติและไม่ต้องมีพิธีการใด ๆ ก่อนทั้งสิ้น  สำหรับเจ้าชายวิลเลียม ดยุคแห่งเคมบริดจ์ผู้เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ จะทรงได้รับการสถาปนาเลื่อนพระอิสริยยศขึ้นเป็นมกุฎราชกุมาร หรือเจ้าชายแห่งเวลส์ในภายหลัง แต่ฐานันดรศักดิ์ที่จะทรงได้ครองแทนที่พระราชบิดาโดยอัตโนมัติในทันที คือตำแหน่งดยุคแห่งคอร์นวอลล์ ส่วนพระชายาแคเทอรีนก็จะได้เป็นดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์ แทนที่พระชายาคามิลลาซึ่งขึ้นเป็นสมเด็จพระราชินีของกษัตริย์พระองค์ใหม่เช่นกัน



ทันทีที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองเสด็จสู่สวรรคาลัย เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ องค์มกุฎราชกุมารผู้ดำรงพระยศ "เจ้าชายแห่งเวลส์" มาอย่างยาวนาน ได้ทรงสืบทอดราชบัลลังก์เป็นกษัตริย์ชาร์ลส์ที่สาม (Charles the III) โดยอัตโนมัติและไม่ต้องมีพิธีการใด ๆ ก่อนทั้งสิ้น

แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะมีขั้นตอนปฏิบัติและพิธีการต่าง ๆ ตามธรรมเนียมติดตามมา ก่อนที่จะมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเพื่อเสด็จขึ้นครองราชย์อย่างเป็นทางการ

สิ่งที่กษัตริย์พระองค์ใหม่จะต้องทรงตัดสินพระทัยเป็นอย่างแรก นั่นก็คือพระนามที่ใช้ประจำรัชกาล ซึ่งอาจทรงเลือกใช้พระนามปัจจุบัน "ชาร์ลส์" หรือพระนามที่เป็นชื่อกลางชื่อใดชื่อหนึ่งจากพระนามเต็มว่า ชาร์ลส์ ฟิลิป อาเธอร์ จอร์จ

กรณีตัวอย่างที่กษัตริย์พระองค์ใหม่เลือกใช้พระนามประจำรัชกาลที่ไม่ใช่ชื่อตัวในปัจจุบัน ได้แก่พระเจ้าจอร์จที่ 6 พระอัยกา ซึ่งทรงเลือกใช้พระนาม "จอร์จ" แทนที่จะเป็น "อัลเบิร์ต" เพื่อแสดงความต่อเนื่องของการสืบสันตติวงศ์จากพระเจ้าจอร์จทั้ง 5 พระองค์ที่ครองบัลลังก์ก่อนหน้านั้น

นอกจากกษัตริย์ชาร์ลส์ที่สามแล้ว เจ้าชายวิลเลียม ดยุคแห่งเคมบริดจ์ผู้เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ จะทรงได้รับการสถาปนาเลื่อนพระอิสริยยศขึ้นเป็นมกุฎราชกุมาร หรือเจ้าชายแห่งเวลส์ในภายหลัง แต่ฐานันดรศักดิ์ที่จะทรงได้ครองแทนที่พระราชบิดาโดยอัตโนมัติในทันที คือตำแหน่งดยุคแห่งคอร์นวอลล์ ส่วนพระชายาแคเทอรีนก็จะได้เป็นดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์ แทนที่พระชายาคามิลลาซึ่งขึ้นเป็นสมเด็จพระราชินีของกษัตริย์พระองค์ใหม่เช่นกัน

พิธีแรกที่เป็นทางการ

ภายใน 24 ชั่วโมงหลังการสวรรคตของพระราชมารดา กษัตริย์ชาร์ลส์ที่สามจะมีพระราชโองการประกาศการสืบทอดบัลลังก์ของพระองค์อย่างเป็นทางการ โดยพิธีนี้จะมีขึ้นที่พระราชวังเซนต์เจมส์ในกรุงลอนดอน ต่อหน้าคณะบุคคลสำคัญที่เรียกว่า "สภาการขึ้นครองราชย์" (Accession Council) ซึ่งประกอบไปด้วยเหล่าองคมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอาวุโสทั้งในอดีตและปัจจุบัน สมาชิกสภาขุนนาง ข้าราชการระดับสูง รวมทั้งข้าหลวงใหญ่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ประจำรัฐต่าง ๆ ในเครือจักรภพ

คณะบุคคลสำคัญเหล่านี้อาจมีได้สูงสุดถึง 700 คน แต่ในทางปฏิบัติที่ต้องเร่งรีบแล้ว อาจมีผู้เข้าร่วมจริงน้อยกว่านั้นมาก เช่นในปี 1952 ที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองเสด็จขึ้นครองราชย์ มีผู้เข้าร่วมราว 200 คน

ตามธรรมเนียมแล้วกษัตริย์พระองค์ใหม่มักไม่เสด็จพระราชดำเนินไปในพิธีการนี้ แต่ประธานองคมนตรีจะเป็นผู้อ่านประกาศการสวรรคตของกษัตริย์พระองค์ก่อน รวมทั้งประกาศการขึ้นครองราชย์ไปในคราวกัน เนื้อหาของประกาศนี้ส่วนใหญ่เป็นบทสวดภาวนาและการให้คำมั่นต่าง ๆ โดยสรรเสริญคุณความดีของกษัตริย์พระองค์ก่อนและปฏิญาณตนว่าจะจงรักภักดีต่อกษัตริย์พระองค์ใหม่

มีการลงนามรับรองคำประกาศการขึ้นครองราชย์นี้โดยผู้นำคนสำคัญจำนวนหนึ่ง รวมถึงนายกรัฐมนตรี อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี ผู้นำศาสนจักรอังกฤษ และประธานสภาขุนนาง โดยหลายฝ่ายต่างจับจ้องให้ความสนใจว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มลดข้อความในประกาศ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการเข้าสู่รัชสมัยใหม่อย่างไรหรือไม่

ปฐมบรมราชโองการ

สภาการขึ้นครองราชย์จะพบปะกันอีกครั้งในวันถัดมา ซึ่งในครั้งนี้กษัตริย์พระองค์ใหม่จะเสด็จมาในพิธีด้วย เพื่อทรงประกาศพระปฐมบรมราชโองการ ซึ่งมีเนื้อหาแตกต่างจากการสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของผู้นำชาติอื่น ๆ โดยจะมีข้อความตามธรรมเนียมโบราณปะปนอยู่ด้วย เช่นทรงปฏิญาณว่าจะอุปถัมภ์และคุ้มครองศาสนจักรแห่งสกอตแลนด์ ตามธรรมเนียมที่มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18

หลังการประโคมเสียงแตรสัญญาณ จะมีเจ้าพนักงานอ่านประกาศการขึ้นครองราชย์ต่อสาธารณชนที่ระเบียงเหนือลาน Friary Court ในพระราชวังเซนต์เจมส์ โดยจะป่าวร้องขึ้นว่า "พระผู้เป็นเจ้าทรงปกปักรักษาพระราชา" (God Save the King) ซึ่งคราวนี้จะเป็นครั้งแรกในรอบ 70 ปี ที่เพลงชาติของสหราชอาณาจักรซึ่งมีชื่อเดียวกัน จะเปลี่ยนเนื้อร้องจากคำว่า Queen มาเป็นคำว่า King

การประกาศพระปฐมบรมราชโองการนี้จะมีขึ้นนอกกรุงลอนดอน ที่เมืองเอดินบะระ คาร์ดิฟฟ์ และเบลฟาสต์ด้วย พร้อมกับมีการยิงสลุดที่สวนสาธารณะไฮด์ปาร์ก หอคอยแห่งลอนดอน และจากเรือรบหลวงต่าง ๆ

ราชาภิเษก

พระราชพิธีทางการที่เป็นสัญลักษณ์อันสูงสุดของการขึ้นครองราชย์ นั่นก็คือพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งจะต้องใช้เวลาจัดเตรียมงานระยะหนึ่งหลังกษัตริย์พระองค์ใหม่เริ่มการสืบทอดราชบัลลังก์ เช่นในกรณีของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองนั้น พระราชพิธีบรมราชาภิเษกมีขึ้นหลังทรงครองราชย์ได้ถึง 1 ปีเต็ม

ในประวัติศาสตร์ 900 ปีที่ผ่านมา พระราชพิธีบรมราชาภิเษกจัดขึ้นที่มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ทุกครั้ง โดยพระเจ้าวิลเลียมผู้พิชิต (William the Conqueror) เป็นกษัตริย์อังกฤษพระองค์แรกที่ทรงประกอบพิธีราชาภิเษกที่นั่น และกษัตริย์ชาร์ลส์ที่สามจะนับเป็นองค์ที่ 40 ในครั้งนี้

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกจะมีขึ้นตามแนวทางของศาสนจักรอังกฤษ และประกอบพิธีโดยอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี ผู้นำนิกายแองกลิกัน จุดสำคัญของพิธีดังกล่าวอยู่ที่การสวมพระมหามงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด ซึ่งทำขึ้นตั้งแต่ปี 1661 ด้วยทองคำล้วนหนัก 2.23 กิโลกรัม ลงบนพระเศียรของกษัตริย์พระองค์ใหม่ รวมทั้งการเจิมน้ำมันหอม การรับคทาและลูกโลกประดับกางเขนจากอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี

พระราชพิธีนี้ถือว่าเป็นรัฐพิธีเช่นกัน ทำให้รัฐบาลอังกฤษเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในงานนี้ทั้งหมด ทั้งยังคัดเลือกจัดทำรายชื่อผู้เข้าร่วมงานเองอีกด้วย

นอกจากกษัตริย์พระองค์ใหม่จะทรงเป็นพระประมุขของสหราชอาณาจักรแล้ว ยังทรงเป็นผู้นำของเครือจักรภพที่มีรัฐเอกราช 56 ชาติ และประชากร 2,400 ล้านคนร่วมเป็นสมาชิกอยู่ โดยในจำนวนนี้ 14 ประเทศมีกษัตริย์อังกฤษเป็นประมุขของรัฐ

พระราชประวัติสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 (Elizabeth II)

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงพระราชสมภพ 21 เมษายน ค.ศ. 1926   พระองค์เป็นพระราชธิดาพระองค์เเรกของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 เเละสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนี พระราชบิดาเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่สองในสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 กับสมเด็จพระราชินีแมรี

หลังจาก สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 พระราชบิดาสวรรคต ในคืนวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 1952 เจ้าหญิงเอลิซาเบธ อเล็กซานดรา แมรี เเห่งยอร์ก จึงเสด็จขึ้นครองราชย์ ในขณะที่เจ้าหญิงเอลิซาเบธ พระองค์มีพระชนมายุ 25 พรรษา

แม้ว่าเจ้าหญิงเอลิซาเบธได้เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ แล้ว แต่ก็เป็นเวลาอีก 16 เดือนกว่าจะถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระองค์ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกจัดขึ้นที่มหาวิหารเวสมินสเตอร์ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ค.ศ. 1953 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่พระราชพิธีนี้ได้ถ่ายทอดไปทั่วโลก

โดยพระราชพิธีอภิเษกสมรสกับเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 1947 พระองค์มีพระราชโอรสพระองค์แรกคือเจ้าชายชาลส์ ซึ่งปัจจุบันทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น "เจ้าชายแห่งเวลส์" ประสูติเมื่อปี 1948 พระองค์ที่สองเป็นพระราชธิดา มีพระนามว่าเจ้าหญิงแอนน์ ประสูติเมื่อปี 1950 ซึ่งปัจจุบันทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น "ราชกุมารี" พระราชโอรสพระองค์ที่สามคือเจ้าชายแอนดรูว์ ประสูติเมื่อปี 1960 ปัจจุบันทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น "ดยุกแห่งยอร์ก" และพระราชโอรสพระองค์เล็กคือเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ซึ่งประสูติในปี 1964 ปัจจุบันดำรงพระอิสริยยศเป็น "เอิร์ลแห่งเวสเซ็กส์"

พระองค์ยังเป็นพระราชินีนาถที่ทรงราชย์นานที่สุดในประวัติศาสตร์และพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยังทรงราชย์ยาวนานที่สุดในโลก หลังจากการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 (ค.ศ. 2016) วันที่ 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2017 พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักร พระองค์แรกที่มีการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 65 ปี รวมระยะเวลาทรงครองราชนาน 70 ปี

สวรรคต

ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงติดเชื้อโควิด-19 โดยมีพระอาการเล็กน้อย พระองค์ทรงหายประชวรจากการติดเชื้อดังกล่าวและเริ่มปฏิบัติพระราชภารกิจอีกครั้งในวันที่ 1 มีนาคม

หลังจากนั้น สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ปรากฎพระองค์ต่อสาธารณะน้อยลง โดยพระราชภารกิจส่วนใหญ่นั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้เจ้าชายแห่งเวลส์เป็นผู้แทนพระองค์ซึ่งรวมถึงรัฐพิธีการเปิดประชุมสภา และพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี

สองวันก่อนการสวรรคต สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ลิซ ทรัสส์ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เนื่องในโอกาสเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี วันต่อมาพระองค์มีกำหนดการประชุมกับคณะองคมนตรีผ่านทางออนไลน์ แต่ได้เลื่อนออกไปหลังจากคณะแพทย์ถวายคำแนะนำให้งดพระราชภารกิจ

ในวันที่ 8 กันยายน 2022 สำนักพระราชวังประกาศว่าสมเด็จพระราชินีทรงประชวรและอยู่ภายใต้การเข้าเฝ้ารักษาพระวรกายอย่างใกล้ชิดที่บาลมอรัล โดยในประกาศระบุว่า "คณะแพทย์ประจำพระองค์มีความกังวลต่อพลานามัยของพระองค์เป็นอย่างมาก และได้แนะนำให้พระองค์อยู่ภายใต้การดูแลทางการแพทย์อย่างใกล้ชิด ขณะนี้พระองค์ประทับอยู่โดยสบายที่ปราสาทแบลมอรัล


เวลา 12.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น สำนักพระราชวังบักกิงแฮม ออกแถลงการณ์ว่า คณะแพทย์ได้เข้าดูแลสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 อย่างใกล้ชิดที่ปราสาทแบลมอรัล พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ทุกพระองค์ รวมทั้งเจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายเฮนรี เสด็จพระราชดำเนินมายังปราสาทแบลมอรัล

เวลาประมาณ 14.00 น. บรรษัทแพร่ภาพกระจายเสียงอังกฤษ (บีบีซี) ยกเลิกโปรแกรมปกติทั้งหมดเพื่อเข้าสู่รายการพิเศษติดตามพระอาการประชวรของสมเด็จพระราชินีนาถ โดยพนักงานบีบีซีทั้งหมดสวมชุดสีดำ สถานีโทรทัศน์อื่น ๆ ของสหราชอาณาจักรก็มีช่วงรายงานพิเศษในการนี้เช่นเดียวกัน หนึ่งชั่วโมงต่อมาผู้สื่อข่าวบีบีซีคนหนึ่งทวีตข้อความว่าสมเด็จพระราชินีนาถสวรรคตแล้ว ก่อนจะลบออกไป

ลิซ ทรัสส์ นายกรัฐมนตรี ได้รับแจ้งการสวรรคตในเวลา 16.30 น.

เวลา 18.30 น. สำนักพระราชวังบักกิงแฮม ประกาศว่า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จสวรรคตด้วยพระอาการสงบ พระชนมายุ 96 พรรษา

อ้างอิง : BBC, Wikipedia

ติดต่อโฆษณา!