เงินปอนด์อังกฤษอ่อนค่าในรอบ 37 ปี ห่วงเงินเฟ้อ-เศรษฐกิจถดถอย นโยบายการจัดเก็บภาษีเพิ่มของนายกฯคนใหม่

เงินปอนด์อังกฤษอ่อนค่าในรอบ 37 ปี ห่วงเงินเฟ้อ-เศรษฐกิจถดถอย นโยบายการจัดเก็บภาษีเพิ่มของนายกฯคนใหม่

Highlight

เงินปอนด์ อังกฤษทำสถิตอ่อนค่าต่ำสุดในรอบ 37 ปีเมื่อวานนี้ ก่อนกลับมารีบาวน์เล็กน้อย จากหลายปัจจัยกดดันตลาด เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อสูง จากการขาดแคลนพลังงานทำให้ราคาพุ่งสูง รวมทั้งแนวโน้มภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจและความกังวลเกี่ยวกับ นโยบายลดภาษีและเพิ่มการใช้จ่ายของรัฐบาลชุดใหม่อาจกดดันค่าเงินปอนด์ให้ต่ำลงอีก นอกจากนี้ตลาดยังจับตาการประชุมธนาคารกลางยุโรปในวันนี้จะปรับขึ้นดอกเบี้ยตามธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือไม่



สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ค่าเงินปอนด์อังกฤษในวันพุธอ่อนตัวลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 37 ปีเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ และมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่องหลังจากที่นักลงทุนพากันเทขายเงินปอนด์เพราะการคาดการณ์ภาพรวมเศรษฐกิจที่ไม่สู้ดีนัก รวมทั้งเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น

ค่าเงินปอนด์ลดลงอย่างมากในช่วงที่ผ่านมาเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อสูง ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจและความกังวลว่านโยบายลดภาษีและเพิ่มการใช้จ่ายของรัฐบาลชุดใหม่อาจกดดันค่าเงินปอนด์ให้ต่ำลงอีก

ในปีนี้ เงินปอนด์มีค่าลดลงไปแล้วมากกว่า 15% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ อยู่ที่ระดับ 1 ปอนด์ต่อ 1.14 ดอลลาร์ในวันพุธ ซึ่งต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปีค.ศ. 1985 อ้างอิงจากข้อมูลของ Refinitiv

นักวิเคราะห์คาดว่า ทิศทางของค่าเงินปอนด์ต่อจากนี้จะขึ้นอยู่กับนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลอังกฤษชุดใหม่ที่นำโดย ลิซ ทรัสส์ นายกรัฐมนตรีหญิงคนใหม่ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งในสัปดาห์นี้ โดยรายละเอียดของนโยบายดังกล่าวจะเปิดเผยในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

นักลงทุนยังวิตกเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยและปัญหาขาดแคลนพลังงานในยุโรป หลังรัสเซียยุติการส่งก๊าซผ่านท่อนอร์ดสตรีม 1 ให้กับยุโรป โดยสหภาพยุโรป (EU) ได้เสนอกำหนดเพดานราคาก๊าซของรัสเซียในวันพุธ (7 ก.ย.) หลังประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ขู่ที่จะยุติการส่งพลังงานทั้งหมดหาก EU ดำเนินการดังกล่าว และ EU กำลังวางแผนกำหนดเพดานราคาค่าไฟสำหรับบริษัทผู้ผลิตที่ไม่ได้ใช้ก๊าซ

หุ้นกลุ่มสาธารณูปโภคพุ่งขึ้นรับข่าวดังกล่าว โดยหุ้นอีดีพี, หุ้นเอสเอสอี, หุ้นเอ็นจี, หุ้นอาร์ดับบลิวอี และหุ้นเวอร์บันด์ พุ่งขึ้น 3.4-13.3%

นอกจากนี้นักลงทุนจะจับตาการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันพฤหัสบดีนี้ (8 ก.ย.) ซึ่งคาดการณ์กันอย่างกว้างขวางว่า ECB จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย 0.75% เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่สูงเป็นประวัติการณ์ในยูโรโซน

หุ้นยูบิซอฟต์ซึ่งเป็นบริษัทเกมของฝรั่งเศส ร่วงลง 17.2% หลังประกาศข้อตกลงที่บริษัทเทนเซ็นต์ โฮลดิ้งส์ของจีนจะเพิ่มการถือหุ้นในยูบิซอฟต์ ซึ่งบ่งชี้ว่า ไม่มีแนวโน้มที่ยูบิซอฟต์จะขายหุ้นทั้งหมด

หุ้นเอชแอนด์เอ็ม (H&M) ซึ่งเป็นบริษัทค้าปลีกสินค้าแฟชั่นของสวีเดน ร่วงลง 2.3% หลังเจพีมอร์แกนแนะนำให้ลดน้ำหนักในหุ้นตัวนี้

ทั้งนี้ นายกฯ ทรัสส์ เตรียมประกาศรายละเอียดของนโยบายรับมือราคาพลังงานที่สูงขึ้นในวันพฤหัสบดีนี้ แต่เธอยืนยันว่าจะไม่มีการเก็บภาษีเพิ่มต่อบรรดาบริษัทพลังงานต่าง

คุณพูน พาณิชพิบูล นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai Global Market ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า แนวโน้มนโยบายการเงินของ ECB ที่อาจส่งผลกระทบต่อตลาดได้ โดยหาก ECB ไม่ได้เร่งขึ้นดอกเบี้ยตามที่ตลาดคาด และแสดงความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจมากขึ้น ก็อาจกดดันให้เงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลงไปอีก และหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นได้

ในกรณีที่เงินบาทอ่อนค่าลงตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ KTB  ประเมินว่า เงินบาทอาจอ่อนค่าไปทดสอบโซนแนวต้านแถว 36.80 บาทต่อดอลลาร์ได้ ขณะที่โซนแนวรับที่ผู้นำเข้าอาจรอทยอยเข้ามาซื้อเงินดอลลาร์อยู่นั้น จะอยู่ในช่วง 36.30-36.40 บาทต่อดอลลาร์

ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป รายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีนล่าสุด อย่างยอดการค้าที่แย่กว่าคาด และปัญหาการระบาดของ COVID-19 ในจีน ได้เพิ่มความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวหนัก และส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะเทขายหุ้นกลุ่มโภคภัณฑ์ อาทิ กลุ่มเหมืองแร่ (Glencore -3.8%) และกลุ่มพลังงาน (Equinor -5.7%) ตามการปรับตัวลดลงต่อเนื่องของราคาน้ำมันดิบ นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังคงเผชิญแรงกดดันจากความกังวลวิกฤตพลังงานที่อาจยิ่งกดดันแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรป ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง ทำให้ดัชนี STOXX600 ของยุโรป กลับมาปรับตัวลดลง -0.57%

ตลาดคาด ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ย +0.75%

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ได้ปรับตัวลดลงกลับสู่ระดับ 109.7 จุด ตามการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังถูกกดดันจากการกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินยูโร (EUR) ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดว่า ECB อาจ  เดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ย +0.75% ในการประชุมวันพฤหัสฯ นี้

ซึ่งตลาดคาดว่า อัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นและอยู่ในระดับสูงจะหนุนให้ ECB ตัดสินใจเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย (Deposit Facility Rate) +0.75% สู่ระดับ 0.75% ทั้งนี้ ตลาดจะรอจับตาการปรับคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อใหม่ของ ECB ท่ามกลางความกังวลว่า เศรษฐกิจยุโรปอาจชะลอตัวลงหนักและเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ หากเผชิญกับวิกฤตพลังงานในช่วงฤดูหนาว

นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของประธาน Fed  โดยเฉพาะมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อสหรัฐฯ เพื่อประเมินแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งล่าสุด ข้อมูลจาก CME FedWatch Tool ชี้ว่า ตลาดมองเฟดมีโอกาส 76% ที่จะเร่งขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในเดือนกันยายน


ที่มา: รอยเตอร์, Krungthai Global Market, VOA

https://www.cnbc.com/2022/09/07/british-pound-falls-to-its-lowest-level-against-the-dollar-since-1985.html

ติดต่อโฆษณา!