"ไทยพาณิชย์" จับมือ “แบงก์ชาติ” นำร่องทดสอบสกุลเงินดิจิทัล CBDC ภาคประชาชน

"ไทยพาณิชย์" จับมือ “แบงก์ชาติ” นำร่องทดสอบสกุลเงินดิจิทัล CBDC ภาคประชาชน
Highlight

ธนาคารไทยพาณิชย์ ตอกย้ำความเป็นหนึ่งในผู้นำด้านดิจิทัลแบงก์กิ้ง ล่าสุด ได้รับการคัดเลือกจาก ธปท.เป็นหนึ่งในผู้ร่วมทดสอบการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลสำหรับการใช้งานในภาคประชาชน เพื่อใช้งานจริงในวงจำกัดในช่วงปลายปี 2565 ไปจนถึงกลางปี 2566 ทั้งนี้เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงบริการทางการเงินได้โดยสะดวก และมีทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้น


20220902-c-01.jpg

ดร.ชาลี อัศวธีระธรรม รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Digital Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า “ธนาคารไทยพาณิชย์ รู้สึกยินดี และเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับการคัดเลือกจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ให้เป็นหนึ่งในผู้ร่วมทดสอบการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลสำหรับการใช้งานในภาคประชาชน (retail central bank digital currency (CBDC)) เพื่อใช้งานจริงในวงจำกัด

ภายใต้ 2 แกนหลัก ได้แก่

1. การทดสอบระดับพื้นฐาน (Foundation Track) เพื่อประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของระบบ รวมถึงรูปแบบของการนำเทคโนโลยีมาใช้งานจริงกับประชาชนรายย่อย

2. การทดสอบระดับนวัตกรรม (Innovation Track) เพื่อสร้างบริการทางการเงินใหม่ๆ 

โดยจะนำร่องเปิดทดสอบให้บริการในช่วงปลายปี 2565 จนถึงกลางปี 2566 ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารมีความเชี่ยวชาญในเชิงลึก

รวมถึงมีประสบการณ์ในการพัฒนาแพลตฟอร์ม และแอปพลิเคชันต่างๆ เพื่อลูกค้ารายย่อย เช่น กระเป๋าเงินดิจิทัล (E-Wallet) ในวงจำกัดร่วมกับหลากหลายพาร์ทเนอร์ชั้นนำของประเทศ แอปพลิเคชัน SCB EASY Robinhood (โรบินฮู้ด) และอื่นๆ อีกมากมาย   

นอกจากนี้ธนาคารยังมีความพร้อมด้านทรัพยากร และบุคลากรที่สามารถช่วยรองรับการให้บริการแก่ลูกค้า เราจึงเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถนำจุดแข็งของธนาคารมาประยุกต์ใช้เพื่อต่อยอดความร่วมมือครั้งนี้ร่วมกับ ธปท. ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางเพื่อให้ประชาชนใช้งาน (Retail CBDC) คือ เงินในรูปแบบธนบัตรที่ถูกพัฒนาให้กลายสภาพเป็นรูปแบบเงินดิจิทัล

ทำให้การถือ Retail CBDC เทียบเท่ากับการถือธนบัตร ไม่มีความเสี่ยง นับเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินครั้งสำคัญ ที่จะเชื่อมโอกาสจากทั่วทุกมุมโลกมาสู่ประเทศไทยอย่างไร้พรมแดน พร้อมช่วยเพิ่มโอกาสและขีดความสามารถทางการแข่งขันให้แก่ภาคธุรกิจ ด้วยเครือข่ายการชำระเงินที่หลากหลาย โปร่งใส และสามารถติดตามได้แบบเรียลไทม์ ตลอดจนสามารถพัฒนาต่อยอด สร้างสรรค์ประสบการณ์ทางการเงินรูปแบบใหม่ๆ พร้อมช่วยให้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่สะดวก และมีทางเลือกที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Retail CBDC ว่า retail CBDC คือ เงินบาทที่เปลี่ยนรูปแบบจากธนบัตรมาเป็นรูปแบบดิจิทัลซึ่งออกโดยธนาคารกลาง โดย ธปท. นั้นให้ความสนใจศึกษาในมิติที่ว่า retail CBDC จะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเงินในรูปแบบดิจิทัลที่ออกโดย ธปท. และนำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น

อีกทั้งเป็นโครงสร้างพื้นฐานระบบชำระเงินที่เข้าถึงง่าย มีความปลอดภัยสูง และสามารถรองรับการนำเทคโนโลยีใหม่มาต่อยอดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เป็นระบบการชำระเงินรายย่อยที่เอื้อให้ภาคธุรกิจสามารถเข้าถึง เชื่อมต่อ และต่อยอดพัฒนาบริการทางการเงินใหม่ ๆ ได้ในอนาคต ปัจจุบันมีบางประเทศที่ออกใช้แล้วคือ ประเทศในแถบหมู่เกาะแคริบเบียน บาฮามาส และไนจีเรีย

ปัจจุบันเรามี PromptPay เป็น "ระบบ" โครงสร้างพื้นฐานการชำระเงิน ใช้โอนเงินที่ประชาชนมีในบัญชีธนาคารผ่านระบบออนไลน์ โดยใช้หมายเลขโทรศัพท์มือถือหรือเลขประจำตัวประชาชนแทนเลขบัญชี โอนได้สะดวก รวดเร็ว และไม่เสียค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรม ให้บริการโดยธนาคารที่ประชาชนนำเงินไปฝากไว้ ขณะที่ retail CBDC เป็นทั้ง "เงินสดในรูปดิจิทัล" และ "ระบบ" ช่องทางการชำระเงินสำหรับประชาชน ซึ่งออกและกำกับดูแลโดย ธปท.

Retail CBDC ยังมีความแตกต่างจาก PromptPay ในเรื่องความสามารถในการเขียนเงื่อนไขลงบนเงิน (programmable money) ที่ retail CBDC สามารถเขียนเงื่อนไขให้เป็นไปตามที่ต้องการได้ เช่น กำหนดเงื่อนไขผู้รับเงิน ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีใหม่มาต่อยอดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบการชำระเงินในยุคดิจิทัล ดังนั้น ในอนาคตหาก retail CBDC มีการออกใช้จริง จะเป็นเสมือนอีกทางเลือกหนึ่งให้กับประชาชนได้เลือกใช้ควบคู่ไปกับ PromptPay ในปัจจุบัน  

Retail  CBDC ซึ่งเป็นเงินบาทในรูปดิจิทัล ที่มีมูลค่าคงที่คือ 1 CBDC = 1 บาท และไม่สามารถนำมาซื้อขายเพื่อเก็งกำไรได้ โดย retail CBDC มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อไว้รองรับการใช้จ่ายของประชาชนที่มีแนวโน้มเปลี่ยนไปทำธุรกรรมทางการเงินในรูปแบบออนไลน์มากขึ้นไม่ใช่เพื่อการลงทุน และขอย้ำว่า CBDC ไม่ใช่ cryptocurrency

ติดต่อโฆษณา!