ก๊าซพรอมรัสเซียหยุดส่งเยอรมันแล้ว อ้างเยอรมัน-ยุโรป พยายามทุกวิถีทางเพื่อทำลายความสัมพันธ์ด้านพลังงานกับรัสเซีย

ก๊าซพรอมรัสเซียหยุดส่งเยอรมันแล้ว อ้างเยอรมัน-ยุโรป พยายามทุกวิถีทางเพื่อทำลายความสัมพันธ์ด้านพลังงานกับรัสเซีย
Highlight

บริษัทก๊าซพรอม รัสเซียหยุดส่งก๊าซไปยังเยอรมันและยุโรปแล้ว เพื่อหยุดซ่อมบำรุง 3 วัน และกล่าวหาเยอรมนีว่ากำลังพยายามที่จะทำลายความสัมพันธ์ด้านพลังงานระหว่าง 2 ประเทศลงอย่างสิ้นเชิง ทำให้สถานการณ์ด้านพลังงานตึงเครียดมากยิ่งขึ้น เบื้องต้นรัสเซียแจ้งปิดท่อก๊าซนอร์ดสตรีม 1 เพื่อซ่อมบำรุง 3 วัน ด้านเยอรมัน แจงรัสเซียพยายามใช้เรื่องก๊าซเป็นอาวุธทางการเมือง


20220901-a-01.jpg

รัฐบาลรัสเซียเปิดเผยว่า รัฐบาลเยอรมนีกำลังพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อทำลายความสัมพันธ์ด้านพลังงานกับรัสเซีย ซึ่งแถลงการณ์ดังกล่าวมีขึ้น หลังจากที่บริษัทก๊าซพรอมของรัสเซียระงับการจัดส่งก๊าซผ่านท่อนอร์ดสตรีม 1 ไปยังยุโรป

มาเรีย ซาคาโรวา โฆษกของกระทรวงการต่างประเทศของรัสเซียแถลงต่อสื่อมวลชนว่า เยอรมนีกำลังพยายามที่จะทำลายความสัมพันธ์ด้านพลังงานระหว่าง 2 ประเทศลงอย่างสิ้นเชิง

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ก๊าซพรอม (Gazprom) ได้ระงับการจัดส่งก๊าซผ่านท่อนอร์ดสตรีม 1 ไปยังยุโรปเพื่อทำการซ่อมบำรุงไปจนถึงเวลา 01.00 GMT ของวันที่ 3 ก.ย. หรือราว 08.00 น.ตามเวลาประเทศไทย

ทั้งนี้ ทางก๊าซพรอมระบุว่า งานซ่อมบำรุงที่สถานีอัดก๊าซนั้นถือเป็นเรื่องจำเป็น โดยต้องดำเนินการเช่นนี้ทุก ๆ 1,000 ชั่วโมงของการดำเนินงาน

เอ็นต์ซอก (Entsog) ผู้ดำเนินการของท่อส่งก๊าซนอร์ด สตรีม 1 ประกาศว่า การส่งก๊าซยุติลงก่อนเวลา 13.00 น.ของวันนี้ตามเวลาในไทยเล็กน้อย

อย่างไรก็ตาม นายเคลาส์ มึลเลอร์ หัวหน้าสำนักงานเครือข่ายรัฐบาลกลางเยอรมนีระบุว่า การระงับจัดส่งก๊าซครั้งนี้เป็นการตัดสินใจที่ยากเกินกว่าจะเข้าใจได้ พร้อมเตือนว่าเป็นไปได้ที่รัสเซียจะใช้เรื่องดังกล่าวเป็นข้ออ้างในการใช้พลังงานเป็นอาวุธทางการเมือง

ราคาก๊าซธรรมชาติในยุโรปพุ่งสูงขึ้นถึง 10 เท่าเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค ภาคอุตสาหกรรม และเสถียรภาพรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ในขณะที่อีกไม่นานก็กำลังก้าวเข้าสู่ฤดูหนาว ในขณะที่สงครามยังไม่มีทีท่าจะสงบ

ราคาก๊าซธรรมชาติและค่าไฟที่พุ่งสูงขึ้นเป็นปัญหาใหญ่ที่ยุโรปกำลังเผชิญ หลังจากที่รัสเซียบุกยูเครน รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ในยุโรปพยายามหาทางนำเข้าพลังงานจากประเทศอื่นทดแทนการนำเข้าจากรัสเซีย โดยสหภาพยุโรป (EU) ใช้ก๊าซจากรัสเซียในสัดส่วนถึง 40% ด้วยเหตุนี้ ราคาพลังงานทางเลือกอื่น ๆ จึงปรับตัวสูงขึ้นตามมา

ยุโรปมุ่งมั่นที่จะลดการพึ่งพาก๊าซจากรัสเซีย

โดยเมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมา ประเทศสมาชิกยุโรปตกลงร่วมกันว่า จะลดปริมาณการใช้ก๊าซลง 15% ขณะที่เยอรมนีซึ่งนำเข้าก๊าซจากรัสเซียถึง 55% ก่อนหน้าที่รัสเซียจะบุกยูเครน แต่ปัจจุบันเยอรมนีได้ลดปริมาณการนำเข้าลงเหลือ 35% และวางแผนว่าจะยกเลิกการนำเข้าก๊าซจากรัสเซีย แม้ว่าจะมีแรงกดดันเรื่องการยุติการพึ่งพาก๊าซจากรัสเซีย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า สถานการณ์ที่รัสเซียจะคุมเข้มหรือหยุดส่งก๊าซ เพื่อตอบโต้ยุโรปที่ให้ความช่วยเหลือด้านการทหารแก่ยูเครนนั้น เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่รัสเซียได้รับความเสียหายอย่างมากจากมาตรการคว่ำบาตรของยุโรป

ล่าสุด ก๊าซพรอม จะลดการจัดส่งก๊าซตั้งแต่วันที่ 30 ส.ค. เป็นต้นไป เนื่องจากมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันเกี่ยวกับสัญญาบางข้อ นับเป็นการส่งสัญญาณที่ว่า ยุโรปจะเผชิญปัญหาอุปทานพลังงานตึงตัวมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ก๊าซพรอมยังวางแผนที่จะระงับการจัดส่งก๊าซผ่านท่อนอร์ดสตรีมไปยังเยอรมนีตั้งแต่วันที่ 31 ส.ค. เป็นเวลา 3 วันตามแผนการซ่อมบำรุงของบริษัท และยังเปลี่ยนมาส่งออกก๊าซให้กับจีนแทนยุโรป โดยส่งออกก๊าซผ่านทางท่อส่งพาวเวอร์ออฟไซบีเรีย ซึ่งตั้งอยู่ที่ไซบีเรียไปจนถึงภาคตะวันออกของจีนในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นถึง 61% ในช่วงปี 2564 และนับตั้งแต่เดือนก.ค.ที่ผ่านมา ปริมาณการส่งออกยังเพิ่มเป็นประวัติการณ์และยังสูงกว่าปริมาณที่ได้มีการกำหนดไว้ในสัญญา

ผู้บริหารเชลล์เตือนวิกฤตพลังงานยุโรปยืดเยื้อ เบน แวน บูเดน ประธานบริหารบริษัทเชลล์ได้ออกมาเตือนว่า ยุโรปอาจจะต้องจัดสรรพลังงานอีกเป็นเวลาหลายปีนับจากนี้ เนื่องจากวิกฤตพลังงานที่ยุโรปกำลังเผชิญอยู่ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะสิ้นสุดลงแค่ฤดูหนาวของปีนี้ หลังจากที่ราคาก๊าซจากรัสเซียที่ขายให้กับยุโรปพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ส่งผลอย่างมากต่อเศรษฐกิจซึ่งท้ายที่สุดอาจถูกดึงเข้าสู่ภาวะถดถอย

ผู้บริหารเชลล์มองว่า วิกฤตที่เกิดขึ้นนี้ถือเป็นการทดสอบ “ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน” ของบรรดาประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ในขณะที่รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ถูกบีบให้รีบหาหนทางพยุงอุตสาหกรรมหลัก ๆ ให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ พร้อมกับแนะนำว่า นานาประเทศต้องหาหนทางแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นการประหยัดพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดสรรพลังงาน และการสร้างคลังพลังงานทางเลือกอย่างรวดเร็ว

ในขณะที่ผู้บริหารบริษัทโททาลก็มีมุมมองที่ไปในทิศทางเดียวกันผู้บริหารเชลล์ โดยนายแพททริค โปยาน ประธานบริหารบริษัทโททาล ได้แนะนำให้รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ในยุโรปลองคิดเรื่องพลังงานโดยไม่ต้องนึกถึงรัสเซีย เพราะในโลกใบนี้ มีพลังงานเพียงพอโดยที่ไม่ต้องใช้พลังงานจากรัสเซีย

หากจะมาดูกันในฝั่งผู้บริโภคทั่วในบางประเทศอย่างสหราชอาณาจักรนั้น ประชาชนต่างต้องรอคิวติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่บ้านของตนเองเพื่อประหยัดค่าไฟก่อนที่ฤดูหนาวจะมาเยือน ส่งผลให้ดีมานด์ในการติดตั้งโซลาร์เซลล์เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF คาดการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกอ่อนแอลงในปีนี้ หากรัสเซียหยุดส่งออกก๊าซ หากรัสเซียยกเลิกการส่งออกก๊าซ ไม่เพียงแค่ยุโรปเท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบ เศรษฐกิจโลกก็จะได้รับผลกระทบอย่างมหาศาลตามมาด้วยเช่นกัน โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้คำนวณเมื่อช่วงกลางเดือนก.ค.ที่ผ่านมาว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของฮังการี สโลวาเกีย และสาธารณรัฐเช็ก อาจจะหดตัวลงถึง 6% ขณะที่เศรษฐกิจโลกอาจจะอ่อนแอลง 2.6% ในปีนี้ และอ่อนแอลงอีก 2% ในปี 2566 โดยในระดับประชาชนนั้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจจะทำให้หลายคนไม่สามารถใช้ฮีตเตอร์ และประชาชนอีกเป็นจำนวนมากจะต้องเลือกระหว่างความอบอุ่นหรืออาหาร

ลีเวลลิน คิง ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า ในช่วงสิ้นปีนี้ฤดูหนาวของยุโรปจะกลายเป็น “ฤดูหนาวที่เลวร้ายที่สุด” นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2สถานการณ์ดังกล่าวจะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ ก็คงต้องติดตามดูกันต่อไป

https://www.reuters.com/business/energy/nord-stream-1-nominations-fall-zero-aug-31-0200-cet-2022-08-30/

ติดต่อโฆษณา!