“สำเร็จ” ผู้บริหาร Bitkub ถูก ก.ล.ต. ลงโทษอีก ยันบริสุทธิ์ใจและยังอยู่ต่อในตำแหน่ง พร้อมต่อสู้ทางกฏหมาย

“สำเร็จ” ผู้บริหาร Bitkub ถูก ก.ล.ต. ลงโทษอีก ยันบริสุทธิ์ใจและยังอยู่ต่อในตำแหน่ง พร้อมต่อสู้ทางกฏหมาย
Highlight

คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ลงโทษนายสำเร็จ วจนะเสถียร ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท บิทคับ บล็อคเชน เทคโนโลยี กรณีใช้ข้อมูลภายในซื้อเหรียญ KUB สั่งปรับกว่า 8.5 ล้านบาท พร้อมสั่งพักงานจากตำแหน่ง 1ปี เหตุล่วงรู้ดีล SCBX ที่จะเข้าซื้อ Bitkub Online เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2021 นายสำเร็จจึงได้เข้าซื้อ KUB ไว้กว่า 60,000 เหรียญ แต่นายสำเร็จอ้างว่าไม่ทราบเรื่องดังกล่าว และตั้งใจถือลงทุนระยะยาว จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่ได้ขายออกไป จึงขอต่อสู้คดี และไม่พักงานจากตำแหน่งอีกด้วย



คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ประกาศลงโทษนายสำเร็จ วจนะเสถียร ร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี (Chief Technology Officer (CTO) บริษัท บิทคับ บล็อคเชน เทคโนโลยี จำกัด (BBT) กรณีใช้ข้อมูลภายในซื้อโทเคนดิจิทัล Bitkub Coin (เหรียญ KUB) โดยเป็นบุคคลซึ่งรู้หรือครอบครองข้อมูลภายใน โดยให้ผู้กระทำความผิดชำระเงินรวม 8,530,383 บาท และกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารเป็นเวลา 12 เดือนและกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารเป็นเวลา 12 เดือน

ทั้งนี้ ก.ล.ต.ได้ติดตามสภาพการซื้อขายบนศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด หรือเรียกว่า Bitkub Exchange ตามที่ธนาคาร ไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB) ได้แจ้งสารสนเทศผ่านระบบข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 เวลา 18.53 น. ว่า บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด จะเข้าทำสัญญาซื้อหุ้นร้อยละ 51 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด (BO) จากบริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (BCGH) คิดเป็นมูลค่าประมาณ 17,850 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขว่า ผลการสอบทานธุรกิจ (Due Diligence) ของบริษัท BO ส่วนที่เป็นสาระสำคัญต้องเป็นที่น่าพอใจและคู่สัญญาได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญาซื้อขายหุ้นครบถ้วน

เหตุการณ์ตามสารสนเทศดังกล่าวมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อราคาเหรียญ KUB ที่เสนอขายโดยบริษัท BBT ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มบริษัทบิทคับและมีความเกี่ยวพันกัน อันเป็นข้อมูลภายในเกี่ยวกับบริษัท BBT โดยในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 ราคาซื้อขายเหรียญ KUB ได้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อนที่จะเปิดเผยข้อมูลสารสนเทศ โดยราคาสูงสุดของวันอยู่ที่ 99.99 บาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 101 จาก 49.53 บาท ซึ่งเป็นราคาสุดท้ายก่อนที่จะเปิดเผยข้อมูลสารสนเทศ

นอกจากนี้ ก.ล.ต. ได้รับการร้องเรียนให้ตรวจสอบกรณีมีเหตุสงสัยว่ามีบุคคลซื้อขายเหรียญ KUB โดยรู้หรือครอบครองข้อมูลภายในเกี่ยวกับเหตุการณ์ตามสารสนเทศดังกล่าว ผลการตรวจสอบของ ก.ล.ต. พบว่า กลุ่มธนาคาร SCB และบริษัท BCGH ได้เริ่มเจรจาการซื้อขายหุ้นของบริษัท BO ตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม 2564 และในระหว่างวันที่ 4 กันยายน – 2 พฤศจิกายน 2564 ก่อนการเปิดเผยข้อมูลภายในดังกล่าว นายสำเร็จ ดำรงตำแหน่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี (CTO) ของบริษัท BBT ได้มีพฤติกรรมการซื้อเหรียญ KUB จำนวนมากอย่างต่อเนื่อง เป็นจำนวน 61,107.66 เหรียญ มูลค่า 1,994,966.56 บาท ซึ่งต่างจากพฤติกรรมก่อนเกิดข้อมูลภายในดังกล่าว

การกระทำของนายสำเร็จเป็นความผิดฐานซื้อเหรียญ KUB โดยเป็นบุคคลซึ่งรู้หรือครอบครองข้อมูลภายในตามมาตรา 42(1) ประกอบมาตรา 43(1) ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 70 และมาตรา 72 แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561

คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) มีมติให้นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับกับนายสำเร็จ โดยกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่ง ได้แก่ ค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับ และชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 8,530,383 บาท รวมทั้งห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัลหรือผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นเวลา 12 เดือน

การกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารดังกล่าวข้างต้นจะมีผลนับตั้งแต่วันที่ผู้กระทำความผิดลงนามในบันทึกการยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนด หากผู้กระทำความผิดไม่ยินยอม ก.ล.ต. จะมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลแพ่งเพื่อกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งในอัตราที่อัตราสูงสุดที่กฎหมายบัญญัติโดยไม่ต่ำกว่าอัตราที่ ค.ม.พ. กำหนด

ทั้งนี้ เงินค่าปรับทางแพ่งและเงินค่าชดใช้คืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำความผิดเป็นรายได้แผ่นดินที่นำส่งกระทรวงการคลัง

ในกรณีนี้ ก.ล.ต. ได้ประสานความร่วมมือกับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) โดยกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ในการตรวจสอบรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของหน่วยงานทั้ง 2 แห่งที่ได้มีการหารือแนวทางการทำงานเชิงรุกร่วมกันในการสืบสวนและตรวจสอบการกระทำผิดเกี่ยวกับตลาดทุนและสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย

นายสำเร็จประกาศขอต่อสู้คดี ไม่ออกจากตำแหน่ง

บริษัท บิทคับ บล็อคเชน เทคโนโลยี จำกัด ออกแถลงการณ์ ณ วันที่ 30 สิงหาคม 2565 ว่า สืบเนื่องจากข่าว ก.ล.ต. ใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งกับนายสำเร็จ วจนะเสถียร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี (Chief Technology Officer : CTO) นั้น ทางบริษัทขอแจ้งให้ทราบว่า นายสำเร็จยังปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งดังกล่าวตามปกติ จนกว่าจะเกิดความชัดเจนในกระบวนการทางกฎหมาย โดยบริษัทจะติดตามและเรียนแจ้งให้ลูกค้าและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทราบต่อไป

จากกรณีดังกล่าวบริษัทขอยืนยันว่า บริษัทไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว ตลอดจนการพัฒนาเครือข่าย Bitkub Chain และการดำเนินการของบริษัท ไม่ได้รับผลกระทบกับเหตุการณ์นี้แต่อย่างใด

บริษัทขอเรียนให้ลูกค้าและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่านทราบว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาและต่อไปในอนาคต บริษัทยังคงมุ่งมั่นพัฒนาเครือข่าย Bitkub Chain ตามแผนงานที่ได้ให้คำมั่นสัญญากับสาธารณะชนดังที่นำเสนอผ่านเอกสาร Whitepaper ด้วยความมุ่งหวังที่จะให้ Bitkub Chain เป็นโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจดิจิทัลที่แข็งแรงของประเทศไทยให้ทัดเทียมกับเครือข่ายบล็อกเชนชั้นนำระดับโลก ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถเข้าถึงได้และสร้างประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนอย่างเท่าเทียม และโปร่งใสต่อไป

ด้านนายสำเร็จ  ได้ชี้แจงในผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว โดยมีข้อความว่า

“ตามที่ กลต. ได้กล่าวหาผมเรื่องการใช้ข้อมูลภายในสำหรับการซื้อเหรียญ KUB ของผม ระหว่างวันที่ 4 กันยายน 2564 จนถึงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 นั้น ผมอยากจะใช้ช่องทางนี้เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและความบริสุทธิ์ใจของผม ดังนี้

ผมรู้กฎหมายเรื่อง Insider trading เป็นอย่างดีว่า เวลาผมทำโปรเจค ผมก็จะซื้อ KUB ไม่ได้ ดังนั้น ผมจะมีช่วงเวลาสั้น ๆ หลังโปรเจคเปิดตัว และยังไม่ได้เริ่มโปรเจคใหม่ที่ผมจะลงทุนซื้อ KUB ได้ โดยก่อนหน้าช่วงเวลาดังกล่าว ผมอยากซื้อ KUB ในราคาที่ต่ำกว่า 30 บาท แต่ซื้อไม่ได้เนื่องด้วยผมทำโปรเจค Morning Moon ก่อนหน้านี้ สุดท้ายผมรอโปรเจค Morning Moon เปิดตัวเลยต้องซื้อ KUB ได้ที่ราคา 30 บาท - 32 บาท เพราะหากไม่ซื้อภายในช่วงเวลาดังกล่าว ผมก็จะต้องเริ่มโปรเจคใหม่ และจะทำให้ผมไม่สามารถซื้อ KUB ได้อีกนาน

ส่วนเวลาก่อนหน้านี้ก็ซื้อเพื่อแลกเป็นค่าธรรมเนียมการเทรดใน Exchange ทันทีช่วงเวลาที่ กลต. กล่าวโทษ ผมเป็นผู้บริหาร BBT ซึ่งเป็นคนละบริษัทกับ Exchange ดังนั้นผมกล้าพูดได้ว่า ผมไม่รู้เรื่อง SCB Deal ใด ๆ ทั้งสิ้น ถ้าผมรู้ผมคงขาย WAN, SNT, BNB, Ethereum ซึ่งมีมูลค่ารวมประมาณ 4 ล้านบาทแล้ว และคงลงเงินกับ KUB ไปให้หมดไปแล้ว ซึ่งจำนวนเงินที่ผมลงทุนใน KUB ก็ใกล้เคียงกับเหรียญอื่น ๆ ที่ผมมีส่วนตัวแล้ว เป็นจำนวน 60,000 KUB ผมมองว่าจำนวนไม่ได้ผิดแปลกแต่เป็นความบังเอิญที่เป็นเวลาที่เค้าทำ Deal กันพอดี

การซื้อเหรียญ KUB ของผมมีวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุนระยะยาว ดังจะเห็นได้ว่า หากผมซื้อเหรียญ KUB โดยมีเจตนาที่จะมุ่งหวังทำกำไรระยะสั้นแล้ว ผมคงเทขายเหรียญ KUB ทั้งหมดเพื่อทำกำไรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ผมยังไม่ได้ขายเหรียญ KUB ดังกล่าวเพื่อทำกำไรแต่อย่างใดจนถึงวันนี้ที่ผมพิมพ์ มีส่วนหนึ่งที่เอาไปแลกค่าธรรมเนียมการเทรดใน Exchange เท่านั้น

เรื่องราวทั้งหมดผมได้บอก กลต. แล้วแต่ทาง กลต. ก็ยังตัดสินลงโทษอยู่ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีหลักฐานชัดเจนว่าผมกระทำผิด ผมจึงจะขอต่อสู้ในกระบวนการทางกฎหมายต่อไป ผมขอยืนยันว่า ผมบริสุทธิ์ใจและยืนหยัดที่จะพัฒนาเทคโนโลยีของ Bitkub Chain ต่อไป เพื่อให้ประเทศไทยมีเทคโนโลยีบล็อกเชนที่ดีและได้มาตรฐานเพื่อให้คนไทยได้ใช้งานอย่างแพร่หลาย” สำเร็จ วจนะเสถียร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี (Chief Technology Officer : CTO)  บริษัท บิทคับ บล็อคเชน เทคโนโลยี จำกัด

อย่างไรก็ตามกลังจากเรื่องดังกล่าวเปิดเผยต่อสาธารณะ ราคาเหรียญ KUB ได้ปรับลดลงจากประมาณ 55 บาท เหลือ 48.75 บาท หรือลดลงราว 10%ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา (เวลา 12.50น. ของวันที่ 31 ส.ค.65) 

ในช่วงที่มีการประกาศดีล SCBX จะเข้าซื้อ Bitkub Online ราคาเหรียญ KUB ปรับตัวสูงสุดที่ 580 บาท และจากข่าวร้ายทั้งภาพรวมตลาดคริปโทที่ซบเซา และเรื่องดีล SCBX ล้ม ทำให้ราคาเหรียญ KUB ลดลงต่อเนื่อง

ติดต่อโฆษณา!