รัฐจัดงบ 3 พันล้านบาท หนุนใช้รถจักรยานยนต์-รถยนต์ EV มูลค่า 18,000-150,000 บาท/คัน

รัฐจัดงบ 3 พันล้านบาท หนุนใช้รถจักรยานยนต์-รถยนต์ EV  มูลค่า 18,000-150,000 บาท/คัน
Highlight

คณะรัฐมนตรีในวันนี้ (23 ส.ค.) มีมติอนุมัติงบประมาณปี 65 วงเงิน 2,923 ล้านบาท เพื่อช่วยอุดหนุนธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า BEV ทั้งจักรยานยนต์ รถกระบะและรถยนต์นั่งไม่เกิน 10 คน ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ได้รับเงินหนุนสูงสุดไม่เกิน 150,000 บาทต่อคัน ด้านจักรยานยนต์ราคาไม่เกิน 150,000 บาท ได้รับเงินอุดหนุนสูงสุดไม่เกิน 18,000 บาทต่อคัน  นอกจากนี้ ครม.มีมติตรึงราคาน้ำมันดีเซลลิตรละ 34.94 บาท เพื่อช่วยลดผลกระทบด้านค่าครองชีพของประชาชนอย่างต่อเนื่อง


นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติงบประมาณปี 65 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่าย วงเงิน 2,923 ล้านบาท เพื่อดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ตามประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรับสิทธิตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2565 ดังนี้

  1. กรณีรถยนต์นั่ง หรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท
  • สำหรับรถยนต์นั่ง หรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ที่มีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 10 กิโลวัตต์ชั่วโมงแต่น้อยกว่า 30 กิโลวัตต์ชั่วโมง จำนวนเงินอุดหนุน 70,000 บาท/คัน
  • สำหรับรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ที่มีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป จำนวนเงินอุดหนุน 150,000 บาท/คัน

  1. กรณีรถยนต์กระบะประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท เฉพาะรถยนต์กระบะที่ผลิตในประเทศและมีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป (เฉพาะรถยนต์กระบะที่ผลิตในประเทศเท่านั้น) จำนวนเงินอุดหนุน 150,000 บาท/คัน

  1. กรณีรถจักรยานยนต์ประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 150,000 บาท จำนวนเงินอุดหนุน 18,000 บาท/คัน


ผู้ขอรับสิทธิเพื่อขอรับเงินอุดหนุนตามมาตรการ จะต้องเป็นบุคคลตามประกาศกรมสรรพสามิตกำหนด เช่น ผู้ประกอบอุตสาหกรรมที่มีโรงงานอุตสาหกรรม ผู้นำเข้าที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ เป็นต้น และต้องเข้ามาทำข้อตกลงร่วมกับกรมสรรพสามิต เพื่อรับทราบและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข ที่กรมสรรพสามิตกำหนด และยอมรับบทลงโทษหากไม่สามารถดำเนินการได้

ผู้เข้าร่วมโครงการ จะต้องยื่นขอรับสิทธิตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าฯ สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าของตนเองเป็นรายรุ่น เพื่อให้กรมสรรพสามิตพิจารณาโครงสร้างราคาขายปลีกแนะนำก่อนและหลังรับสิทธิ ตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าฯ เพื่อให้ราคาขายปลีกแนะนำสำหรับยานยนต์รุ่นดังกล่าวสะท้อนถึงส่วนลดต่าง ๆ ที่ภาครัฐมอบให้ตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าฯ รวมทั้งนำส่งรวบรวมเอกสารหลักฐานการจำหน่ายและการจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าให้กรมสรรพสามิตเป็นรายไตรมาส เพื่อให้กรมสรรพสามิตดำเนินการพิจารณาอนุมัติจ่ายเงินอุดหนุนต่อไป

อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกอบกิจการไม่ดำเนินการผลิตรถยนต์นั่งรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน หรือรถจักรยานยนต์ แล้วแต่กรณี เพื่อชดเชยการนำเข้าให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด กรมสรรพสามิต จะเรียกคืนเงินอุดหนุนดังกล่าวจากผู้ได้รับเงินอุดหนุนเป็นรายคันตามจำนวนที่ไม่สามารถดำเนินการผลิตชดเชยได้ พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี โดยไม่คิดทบต้น และจะบังคับตามหนังสือสัญญาค้ำประกันโดยธนาคารที่วางไว้

ข้อมูลจากกระทรวงการคลังระบุว่า ในปีงบประมาณ 2565 มีผู้ได้รับสิทธิที่ต้องได้รับเงินอุดหนุนตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าฯ แบ่งเป็นรถยนต์ 18,100 คัน และรถจักรยานยนต์ 8,800 คัน

โดยแนวทางการดำเนินงานส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อสนับสนุนให้ราคาของรถยนต์และรถจักรยานยนต์แบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ (BEV) ลดลงใกล้เคียงกับราคารถยนต์และรถจักรยานยนต์ประเภทเครื่องยนต์สันดาปภายใน ทำให้ผู้ประกอบการมีความมั่นใจในการลงทุน ผู้บริโภคเกิดความต้องการซื้อและสร้างแรงจูงใจให้มีการผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์แบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ (BEV) เพิ่มขึ้น

อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนเป้าหมายเพื่อให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ และผลักดันให้ไทยยังเป็นศูนย์กลางการผลิตรถ EV และชิ้นส่วนรถยานยนต์ EV ในภูมิภาคด้วย

อนุมัติ กบน. ตรึงราคาขายปลีกดีเซลต่อเนื่อง แม้ราคาน้ำมันโลกปรับเพิ่มขึ้น

นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ได้พิจารณาทบทวนราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลประจำสัปดาห์ โดยมีมติให้คงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ลิตรละ 34.94 บาท เพื่อช่วยประคองผลกระทบด้านค่าครองชีพของประชาชน

แม้ว่าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดีเซลในตลาดโลกยังมีความผันผวน โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 65 ราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 137.52 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับเพิ่มขึ้น 6.56 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า (12 ส.ค.65) อยู่ที่ 130.96 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

ปัจจัยหลักที่ทำให้ราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้น มาจากการคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันในสหรัฐฯ ยังคงเพิ่มขึ้นจากตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งตลาดได้รับแรงหนุนจากการห้ามการส่งออกน้ำมันของรัสเซียโดยสหภาพยุโรป ซึ่งอาจทำให้อุปทานตึงตัวขึ้นอย่างมาก และส่งผลให้ราคาปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

โดยนักวิเคราะห์ ระบุว่าการคว่ำบาตรของสหภาพยุโรป จะบังคับให้การผลิตน้ำมันของรัสเซียต้องปิดตัวลงประมาณ 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายในสิ้นปี 65 และเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 66

นอกจากนี้ ด้านกลุ่มโอเปกโดย Haitham Al Ghais เลขาธิการคนใหม่ของโอเปก กล่าวว่าการลงทุนในภาคน้ำมันและก๊าซที่ไม่เพียงพอ หลังจากที่ราคาน้ำมันตกต่ำในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้กำลังการผลิตสำรองของโอเปกลดลงอย่างมาก

ในส่วนราคาน้ำมันขายปลีกดีเซลของประเทศ มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 65 ได้วางมาตรการลดค่าครองชีพให้กับประชาชน โดยมีมาตรการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล 50% ในส่วนที่ราคาขายสูงกว่า 35 บาทต่อลิตรเป็นเวลา 3 เดือน (ก.ค. – ก.ย.65)

สำหรับประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงปัจจุบัน วันที่ 21 ส.ค.65 ติดลบ 118,010 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น บัญชีน้ำมันติดลบ 76,741 ล้านบาท และบัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 41,269 ล้านบาท


ที่มา : www.thaigov.go.th

ติดต่อโฆษณา!