นักวิจัยชี้หากสหรัฐฯ และรัสเซียทำสงครามนิวเคลียร์ ประชากรโลกจะเสียชีวิตจากความอดอยากถึง 5 พันล้านคน

นักวิจัยชี้หากสหรัฐฯ และรัสเซียทำสงครามนิวเคลียร์ ประชากรโลกจะเสียชีวิตจากความอดอยากถึง 5 พันล้านคน

Highlight

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยรัตเกอส์ ในรัฐนิวเจอร์ซีของสหรัฐได้เผยแพร่ผลการศึกษาโดยประเมินว่าหากเกิดสงครามนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซีย จะเกิดความเสียหายมหาศาล โดยคาดว่าประชากรโลกจะเสียชีวิตจากความอดอยากมากถึง 5 พันล้านคน หรือ 75 เปอร์เซนต์ หรือคิดเป็นสัดส่วน 3 ใน 4 ของประชากรโลกทั้งหมด 7 พันล้านคน ในขณะที่โลกกังวลกับสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่สุ่มเสี่ยงให้เกิดหายนะจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปห์ริสเซีย ซึ่งมีขนาดใหญ่พอๆ กับเชอร์โนบิลที่เกิดระเบิดขึ้นเมื่อหลายปีก่อน



ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยรัตเกอส์ (Rutgers University) ในรัฐนิวเจอร์ซีของสหรัฐได้เผยแพร่ผลการศึกษาที่ประเมินว่าหากเกิดสงครามนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซีย จะทำให้ประชากรโลกเสียชีวิตจากความอดอยากมากถึง 5 พันล้านคน หรือ 75 เปอร์เซนต์ หรือคิดเป็นสัดส่วน 3 ใน 4 จากจำนวนประชากรโลกทั้งหมด 7 พันล้านคน

โดยทีมวิจัยให้เหตุผลว่าการระเบิดของอาวุธนิวเคลียร์จะทำให้เกิดไฟไหม้ขนาดใหญ่และพ่นเขม่าสู่ชั้นบรรยากาศ เขม่าเหล่านั้นจะปิดกั้นแสงแดดไม่ให้ส่องลงมาบนพื้นผิวโลก ส่งผลกระทบต่อการการผลิตพืชพันธุ์ธัญญาหาร

ขณะที่ในสถานการณ์จำลอง ทีมวิจัยพบว่า ภายใน 2-3 ชั่วโมงหลังสงครามนิวเคลียร์เกิดขึ้น จะมีผู้เสียชีวิตทันทีอย่างน้อย 34 ล้านคน และบาดเจ็บอีกกว่า 57 ล้านคน หลัก ๆ ความสูญเสียจะเกิดขึ้นในยุโรปและรัสเซียก่อน เพราะในยุโรปมีฐานทัพของนาโต ซึ่งน่าจะเป็นเป้าหมายการโจมตีหลักของรัสเซีย

สหประชาชาติติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดประสานทุกฝ่ายป้องกันมหันตภัย

ด้านนาย อันโตนิโอ กูร์เตียเรซ เลขาธิการสหประชาชาติ เดินทางเยือนประเทศยูเครน 18 สิงหาคมที่ผ่านมาโดยพบกับผู้นำยูเครน และตุรกี เพื่อหารือถึงแนวทางการแก้ไขความขัดแย้งกับรัสเซีย และการโจมตีโรงฟ้านิวเคลียร์ซาโปริสเซีย ที่อาจก่อให้เกิดหายนะภัยครั้งใหญ่

นาย สเตฟาน ดูจาริค โฆษกเลขาธิการสหประชาชาติ เปิดเผยว่า นาย อันโตนิโอ กูร์เตียเรซ เลขาธิการสหประชาชาติมีการร่วมประชุมกับ ประธานาธิบดี โวโลดิเมียร์ เซลินสกี ผู้นำยูเครน และ ประธานาธิบดี เรย์ซิป เทย์ยิป เออร์โดอาน ผู้นำตุรกี

โดย ดูจาริค เปิดเผยว่า ทั้ง 3 คน หารือกันในประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการสู้รบในยูเครน ทั้งการวิธีแก้ไขความขัดแย้งกัยรัสเซีย การตรวจสอบเหตุอาชญกรรมต่างๆที่อาจเกี่ยวข้องกับการสู้รบ และ การยิงโจมตีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปห์ริสเซีย ที่กำลังสร้างความกังวลว่าอาจก่อให้เกิดวิกฤตครั้งใหญ่ในระดับเดียวกับการระเบิดของโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล

ขณะที่ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ระบุว่าการที่สหรัฐฯให้ความช่วยเหลือด้านอาวุธอย่างต่อเนื่องให้กับยูเครน เป็นเพราะต้องการให้สงครามยืดเยื้อออกไปเพื่อรักษาสถานะการเป็นประเทศมหาอำนาจที่มีอิทธิพลครอบงำโลก

นอกจากนี้ ปูตินยังเชื่อว่าโลกตะวันตกมีความต้องการขยายครือข่ายทางทหารเข้าไปในทวีปเอเชีย ด้วยการจัดตั้งองค์กรที่มีลักษณะคล้ายๆกับองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต

โดย ปูติน ได้วิจารณ์ว่าความเคลื่อนไหวสนับสนุนยูเครนของสหรัฐฯ และการเดินทางเยือนไต้หวันของนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฏรสหรัฐฯเมื่อเร็วๆนี้ ต่างเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของอเมริกา ที่ต้องการสร้างความปั่นป่วนและให้ทั่วโลกไร้เสถียรภาพ

ยูเครนเผยรัสเซียโจมตีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

ประธานาธิบดียูเครน โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี เรียกร้องให้มีการเพิ่มมาตรการลงโทษต่อรัสเซีย ท่ามกลางความกังวลต่อการโจมตีที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริห์เชีย ทางภาคใต้ของยูเครน

ปธน.เซเลนสกี กล่าวปราศรัยในวันจันทร์ เตือนถึง "ภัยพิบัติด้านนิวเคลียร์" ที่อาจเกิดขึ้นซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นในภูมิภาคนี้

"หากทั่วโลกไม่แสดงความเข้มแข็งและความเด็ดเดี่ยวในการปกป้องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้ นั่นจะหมายความว่าโลกถึงคราวพ่ายแพ้แล้ว" เซเลนสกีกล่าว

ที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายต่างกล่าวหากันและกันว่าเป็นผู้โจมตีในบริเวณใกล้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในเมืองซาปอริห์เชีย ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรป

ในวันจันทร์ เจ้าหน้าที่รัสเซียระบุว่า ลูกปืนใหญ่ของยูเครนตกลงใกล้กับโรงไฟฟ้าแห่งนี้ ขณะที่ยูเครนกล่าวหากลับว่า ทหารรัสเซียเป็นฝ่ายโจมตีและพยายามโยนความผิดให้ยูเครน

รัฐมนตรีกลาโหมยูเครน โอเลกไซ เรซนิคอฟ กล่าวกับวีโอเอว่า ไม่มีเหตุผลที่ยูเครนจะโจมตีโรงไฟฟ้าแห่งนี้ เพราะทุกวันนี้ชาวยูเครนตระหนักดีถึงผลกระทบจากภัยพิบัติทางนิวเคลียร์ หลังจากเกิดเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลเมื่อปีค.ศ. 1986

"นั่นคือเหตุผลที่เราต้องขอร้องไปยังทุกฝ่ายให้ช่วยแทรกแซงสถานการณ์ ไม่ใช่แค่สำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงประชาคมโลกทั้งหมดเพื่อช่วยกันปกป้องไม่ให้เกิดหายนะด้านนิวเคลียร์อีกครั้งในยุโรป" รมต.เรซนิคอฟกล่าว และยังขอร้องไปยังกองทัพรัสเซียให้หลีกเลี่ยงการโจมตีบริเวณโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริห์เชียด้วย

ด้านโฆษกเลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ กล่าวว่า อันโตนิโอ กูเทอเรซ เลขาฯ ยูเอน ได้หารือกับรัฐมนตรีกลาโหมรัสเซีย เซอร์เกย์ ชอยกู เรื่องความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่รัสเซียยึดครองไว้ตั้งแต่เดือนมีนาคม รวมถึงการอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบระหว่างประเทศเดินทางเข้าไปตรวจความเสียหายที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ดังกล่าว

ทางโฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย มาเรีย ซาคาโรวา กล่าวว่า รัสเซียจะทำทุกอย่างที่จำเป็นเพื่อเปิดทางให้ผู้ตรวจสอบของสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) เข้าถึงเมืองซาปอริห์เชีย

อย่างไรก็ตาม สื่อของทางการรัสเซียรายงานอ้างคำพูดของเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านนิวเคลียร์ของรัสเซียว่า อันตรายเกินไปที่คณะเจ้าหน้าที่ของ IAEA จะเดินทางจากกรุงเคียฟไปถึงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนั้น

อ้างอิง : ข้อมูลบางส่วนจากเอพี เอเอฟพี รอยเตอร์ และ VOA

ติดต่อโฆษณา!