รู้จัก “โกตาบายา ราจาปักษา” อดีตประธานาธิบดีศรีลังกา ที่จะแวะมา “ลี้ภัยการเมือง” ชั่วคราวในไทย

รู้จัก “โกตาบายา ราจาปักษา” อดีตประธานาธิบดีศรีลังกา ที่จะแวะมา “ลี้ภัยการเมือง” ชั่วคราวในไทย
Highlight  
 โกตาบายา ราจาปักษา อดีตประธานาธิบดีศรีลังกา  ยังคงไม่สามารถกลับประเทศได้หลังถูกประชาชนขับไล่และหนีออกนอกประเทศตั้งแต่ 14 ก.ค. เขาจะแวะลี้ภัยทางการเมืองชั่วคราวที่ไทย ตั้งแต่ 11 ส.ค. ซึ่งเป็นประเทศที่ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เส้นทางอนาคตยังไม่รู้จะจบลงอย่างไร ทั้งนี้สถานการณ์ในศรีลังกายังคงไม่สงบ เนื่องจากประเทศประสบวิกฤตเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะล้มละลาย และประชาชนโกรธแค้นอดีตผู้นำ


“โกตาบายา ราจาปักษา" อดีตผู้นำของศรีลังกาขอเดินทางเข้าไทย หลังจาก 
วีซ่าพำนักสิงคโปร์หมดลงใันวันที่ 11 ส.ค. แต่รัฐบาลสิงคโปร์ให้การปฏิบัติเช่นบุคคลทั่วไป ไม่มีสิทธิพิเศษแต่อย่างใด และการต่อวีซ่ายังไม่ได้รับการต่อวีซ่า จึงติดต่อมายังไทยเพื่อพำนักเป็นการชั่วคราว  

ราจาปักษา ยังคงกลับศรีลังกาไม่ได้ จนกว่าสถานการณ์การเมืองประเทศในประเทศจะสงบลง เขาหลบหนีออกนอกประเทศศรีลังกา เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา ท่ามกลางการประท้วงที่รุนแรง โดยเขาและครอบครัวไม่ประสบความสำเร็จในการเข้าใช้สนามบินพลเรือนในขณะนั้น จึงต้องใช้เครื่องบินทหารบินไปลงที่มัลดีฟส์ จากนั้นบินต่อไปยังสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 14 ก.ค. และประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีในเวลาต่อมา กลายเป็นประมุขของศรีลังกาคนแรกที่ลาออกกลางเทอม

สำนักข่าว AFP รายงานอ้างแหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับราจาปักษา ว่า เหตุผลที่ต้องเดินทางออกจากสิงคโปร์ เป็นเพราะวีซ่าหมดอายุในวันที่ 11 ส.ค. ซึ่งอดีตผู้นำศรีลังกายื่นขอต่อวีซ่าแล้ว แต่จนถึงเช้าวันที่ 10 ส.ค.ยังไม่ได้รับการอนุมัติ สอดคล้องกับเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลสิงคโปร์ออกมายืนยันว่าไม่ได้ให้สิทธิพิเศษ หรือความคุ้มกันใดๆ แก่อดีตผู้นำศรีลังกา

สื่อต่างประเทศระบุว่า รานิล วิกรมสิงเห อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนี้กลายเป็นประธานาธิบดีศรีลังกา ระบุว่า ราจาปักษายังไม่ควรกลับประเทศในตอนนี้ อีกทั้งยังให้สัมภาษณ์สื่อต่างชาติว่า รัฐบาลชุดก่อนปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวิกฤตเศรษฐกิจ

สำหรับ วิกรมสิงเห ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานาธิบดี เมื่อวันที่ 20 ก.ค. ซึ่งก่อนหน้านี้เขาเป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้วถึง 6 วาระ และอยู่ในการเมืองศรีลังกามากว่า 45 ปี การรับตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งนี้คาดว่าเขาจะนั่งเก้าอี้บริหารประเทศไปจนหมดวาระในเดือน พ.ย.2024

เส้นทางการเมืองของ “ราจาปักษา”

ราจาปักษา ปัจจุบันอายุ 73 ปี เกิดเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2492 ที่เมืองปาลาตูวา ในเขตมาทารา ทางภาคใต้ของศรีลังกา เป็นบุตรชายของ ดี เอ ราชปักษา (D A Rajapaksa) นักการเมืองชาวศรีลังกาที่มีชื่อเสียงในยุค 1960s (ปี 2503-2512) และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งพรรคเสรีภาพศรีลังกา  

โกตาบายา มีพี่-น้องรวม 9 คน โดยเขาเป็นบุตรคนที่ 5 เข้าเรียนชั้นประถมและมัธยม ณ วิทยาลัยอนันดา (Ananda College) โรงเรียนของผู้นับถือศาสนาพุทธ สถาบันการศึกษาเก่าแก่ที่เปิดสอนมาตั้งแต่ปี 2429 ในกรุงโคลัมโบ เมืองหลวงของศรีลังกา จนถึงปัจจุบัน

ในปี 2514 โกตาบายา สมัครเข้าเรียนในโรงเรียนนายร้อยทหารบก และเริ่มชีวิตการทำงานในฐานะนายทหารในเวลาต่อมา หลังจากนั้นในปี 2523 มีโอกาสได้ไปฝึกหลักสูตรต่อต้านการก่อความไม่สงบและการรบในพื้นที่ป่า ที่รัฐอัสสัมของประเทศอินเดีย ในปีเดียวกัน ยังสำเร็จการศึกษาปริญญาโท (Master) หลักสูตรการป้องกันประเทศ จากมหาวิทยาลัยมัทราส (University of Madras) เมืองเจนไน รัฐทมิฬนาฑูของอินเดีย

ระหว่างที่อยู่ในกองทัพ โกตาบายา เคยได้รับเหรียญกล้าหาญจาก ปธน. ศรีลังกา ถึง 3 คน คือ เจ อาร์ เจย์วาร์เดน (J R Jayewardene) รณสิงห์ พรีมาดาสา (Ranasinghe Premadasa) และ ดี บี วิเจตุงกา (D B Wijetunga) ตำแหน่งสุดท้ายในกองทัพคือ รองผู้บัญชาการสถาบันป้องกันประเทศ เซอร์ จอห์น โคเทลาวาลา (ปัจจุบันคือ General Sir John Kotelawala Defence University) ในปี 2534 กระทั่งลาออกจากกองทัพในปี 2535  

ในปี 2535 โกตาบายา สำเร็จการศึกษาระดับหลังปริญญาตรี (Postgraduate Degree) ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ จากมหาวิทยาลัยโคลัมโบ ศรีลังกา และเริ่มงานใหม่ในฐานะผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท Informatics ซึ่งประกอบกิจการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ มีสำนักงานในกรุงโคลัมโบ ก่อนจะย้ายไปอยู่ สหรัฐอเมริกา ในปี 2541 เนื่องจากได้งานเป็นผู้ดูแลระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ณ โรงเรียนกฎหมายโลโยตา (Loyola Law School) ภายในมหาวิทยาลัยโลโยตา แมรีเมาท์ เมืองลอส แองเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย

โกตาบายา กลับมาบ้านเกิดอีกครั้งในปี 2548 เพื่อช่วย มหินดา ราชปักษา (Mahinda Rajapaksa) ผู้เป็นพี่ชาย หาเสียงเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีศรีลังกา ซึ่งท้ายที่สุด มหินดา ก็ชนะเลือกตั้ง และได้แต่งตั้งให้ โกตาบายา ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม ระหว่างปี 2548-2557 ช่วงเดียวกับที่ มหินดา ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี  

ทั้งนี้ สำหรับมุมมองต่อ โกตาบายา ในฐานะทหาร ซึ่งต้องต่อสู้กับกองกำลังติดอาวุธกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม (LTTE)  

ความขัดแย้งดังกล่าวกลายเป็นสงครามกลางเมืองที่กินเวลายืดเยื้อกว่า 2 ทศวรรษ ตั้งแต่ปี 2526-2552 บทสรุปของสงครามคือฝ่ายรัฐบาลได้รับชัยชนะ และ เวลูพิลไล ประภาการัน (Velupillai Prabhakaran) ผุ้นำกลุ่ม LTTE ถูกสังหาร ซึ่งก็มีทั้งฝ่ายที่มองว่าโกตาบายา เป็นวีรบุรุษสงคราม และที่มองว่าเป็นผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ด้วยการปล่อยให้ทหารในกองทัพเข่นฆ่าและทรมานผู้คนตามอำเภอใจในระหว่างช่วงสงคราม อย่างไรก็ตาม โกตาบายา ปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านั้นตลอดมา

ในปี 2562 โกตาบายา ชนะการเลือกตั้ง ได้เป็นประธานาธิบดีศรีลังกา ซึ่งถือเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่เคยเป็นทหารมาก่อน โดยได้รับความนิยมอย่างมากจากประชากรส่วนใหญ่ที่นับถือศาสนาพุทธที่หวั่นเกรงการแผ่ขยายอิทธิพลของกลุ่มผู้นับถือศาสนาอิสลามที่มีความคิดสุดโต่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดโบสถ์ของผู้นับถือศาสนาคริสต์ เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2562 ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 250 ราย

ในวันสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี โกตาบายา เลือกสถานที่ประกอบพิธี ณ เจดีย์รุวันเวลี มหาเสยา (Ruwanwelisaya) วัดโบราณในเมืองอนุราธปุระ ซึ่งก่อสร้างในรัชสมัย กษัตริย์ดูตูเกมูนู (King Dutugemunu) ผู้ปกครองชาวสิงหลที่นำกองทัพขับไล่ชาวทมิฬผู้รุกราน การเลือกสถานที่ดังกล่าว เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ว่า โกตาบายา โน้มเอียงไปทางประชากรชาวพุทธ แม้จะมีประชากรที่นับถือศาสนาฮินดูและศาสนาอิสลาม รวมกันได้ประมาณร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมดก็ตาม

ภายใต้การปกครองของประธานาธิบดีมหินดา พี่ชายของ โกตาบายา ในช่วงท้ายของสงครามกลางเมือง ศรีลังกาเผชิญกับการถูกโดดเดี่ยวจากนานาชาติ แต่กลายเป็นโอกาสให้ประเทศจีนเข้าไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ซึ่งนั่นก็ทำให้ มหินดา ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเวลาต่อมา ว่าพาประเทศไปติด “กับดักหนี้ (Debt Trap)” ของจีน โดยเฉพาะโครงการท่าเรือฮัมบันโตตา (Hambantota Port) ที่ได้รับเงินกู้จากจีนในสมัยของ ปธน.มหินดา แต่แล้วในปี 2560 ศรีลังกาต้องยอมให้จีนเช่าท่าเรือดังกล่าวเป็นเวลา 99 ปี หลังจากประเทศล้มเหลวในการชำระหนี้

วิกฤติเศรษฐกิจในศรีลังกา มาจากการขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ ทำให้ไม่สามารถจ่ายเงินเพื่อนำเข้าอาหารและเชื้อเพลิงได้ ส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนสินค้าจำเป็นในประเทศ ในช่วงกลางเดือน เม.ย. 2565 ปธน.โกตาบายา พยายาลดแรงกดดันทางการเมือง ด้วยการปลด ชามัล (Chamal) พี่ชาย และ นามัล (Namal) หลายชาย ออกจากคณะรัฐมนตรี และต่อมา มหินดา อดีต ปธน. ที่มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็ลาออกเช่นกัน หลังเกิดเหตุปะทะระหว่างประชาชนฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้านตระกูลราชปักษา  

ในช่วง 2-3 สัปดาห์หลังจากนั้น โกตาบายา ยังพยายามหาทางจัดการกับเหตุวุ่นวายในประเทศ พร้อมกับ รานิล วิกรมสิงห์ (Ranil Wickremesinghe) ที่มารับตำแหน่งนายกฯ ต่อจาก มหินดา แต่ท้ายที่สุด โกตาบายา ก็ถูกบีบให้ต้องหลบหนีหลังการชุมนุมประท้วงลุกลามไปทั่ว และมีการบุกเข้าโจมตีที่พักของเขา กระทั่งในวันที่ 9 ก.ค. 2565 โกตาบายา ซึ่งอยู่ในสถานที่ที่ไม่เปิดเผย แจ้งกับ มหินดา ยาพา อเบยวาร์เดนา (Mahinda Yapa Abeywardena) ว่าตนเตรียมจะลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี

กระทั่งในเวลาต่อมา มีรายงานข่าวว่า โกตาบายา ราชปักษา หลบหนีออกจากศรีลังกา ไปพักที่มัลดีฟส์ ก่อนเดินทางต่อไปยังสิงคโปร์ และยื่นหนังสือประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีในที่สุด!


วิกฤตเศรษฐกิจ..ชนวนประชาชนโกรธแค้น  

ปัจจุบัน รัฐบาลศรีลังกา มีภาระหนี้ 51,000 ล้านดอลลาร์ และไม่สามารถที่จะชำระดอกเบี้ยเงินกู้ดังกล่าวได้ ขณะที่ภาคการท่องเที่ยว ที่เป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ได้รับผลกระทบการการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และความกังวลเรื่องความปลอดภัยหลังจากเหตุก่อการร้ายเมื่อ 3 ปีก่อน ซ้ำร้ายค่าเงินศรีลังการ่วงหนักถึง 80% ทำให้การนำเข้าสินค้าต่าง ๆ แพงขึ้นอย่างมาก และทำให้ภาวะเงินเฟ้อของประเทศเป็นปัญหาที่ยากเกินควบคุม ด้วยต้นทุนราคาอาหารพุ่งสูง 57% อ้างอิงจากข้อมูลของรัฐบาลศรีลังกา

จากปัจจัยทั้งหลายที่กล่าวมา ได้ผลักให้ศรีลังกาดำดิ่งเข้าสู่ภาวะล้มละลาย ไม่มีเงินสำหรับการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง นม แก๊สหุงต้ม หรือแม้แต่กระดาษชำระ

อีกด้านหนึ่ง ยังมีปัญหาการทุจริตในศรีลังกา ไม่เพียงแต่มีบทบาทสำคัญในการทำลายความมั่งคั่งของประเทศแล้ว ยังเป็นอุปสรรคต่อการกู้วิฤตการเงินของศรีลังกาอีกด้วย

สถานการณ์ปัจจุบัน ศรีลังกาขึ้นค่าไฟ 264% แก้ขาดทุนสะสม

ชาวศรีลังกายังคงเดินหน้าประท้วงรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง เพื่อเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งใหม่ และปล่อยตัวผู้ประท้วงที่ถูกจับกุม ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจในศรีลังกา ล่าสุดบริษัท Ceylon Electricity Board ซึ่งเป็นบริษัทไฟฟ้าผูกขาดเจ้าเดียวในศรีลังกา ประกาศขึ้นราคาค่าไฟ 264% สำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟในปริมาณน้อย ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟมากกว่าจะเผชิญสัดส่วนราคาที่เพิ่มขึ้นน้อยกว่า ลดหลั่นกันไป

ดังนั้น ประมาณ 2 ใน 3 ของ 7.8 ล้านครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าเดือนละไม่ถึง 90 กิโลวัตต์ จะได้รับผลกระทบมากที่สุด ปัจจุบันจ่ายค่าไฟอยู่หน่วยละ 2.5 รูปี หรือราว 25 สตางค์ จะเพิ่มขึ้นเป็นหน่วยละ 8 รูปี หรือ 80 สตางค์ เท่ากับค่าไฟขึ้นร่วม 3 เท่าตัว ส่วนบ้านหรือกิจการที่ใช้ไฟมากจะจ่ายแพงขึ้นประมาณ 80%

ความเคลื่อนไหวนี้เป็นความพยายามชดเชยตัวเลขการขาดทุนของบริษัทไฟฟ้าศรีลังกา ซึ่งขาดทุนสะสม 616 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 2.18 หมื่นล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้ทางบริษัทขอขึ้นค่าไฟสูงถึง 835% แต่หน่วยงานกำกับดูแลกำหนดเพดานให้ขึ้นได้ 264%

กต.เผย "โกตาบายา" อยู่ไทยได้ 90 วัน  

นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า การเดินทางเข้าประเทศไทยของอดีตประธานาธิบดีศรีลังกา เป็นการร้องขอจากรัฐบาลศรีลังกาชุดปัจจุบัน โดยไทยพิจารณาคำขอดังกล่าวบนพื้นฐานของความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างไทยกับศรีลังกา

ขณะนี้ยังไม่ทราบระยะเวลาที่อดีตประธานาธิบดีศรีลังกาจะพำนักอยู่ในไทย แต่เป็นผู้ถือหนังสือเดินทางทูต ซึ่งได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราไม่เกิน 90 วัน พร้อมยืนยันว่าการเดินทางมาครั้งนี้เป็นการพำนักชั่วคราว และฝ่ายศรีลังกาแจ้งว่าโกตาบายาไม่มีเจตนาจะขอลี้ภัยทางการเมือง โดยจะเดินทางไปยังประเทศอื่นต่อไป 
 
ขณะที่นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ต่างประเทศ ชี้แจงว่า อดีตประธานาธิบดีศรีลังกาจะสามารถอยู่ในไทยได้ไม่เกิน 90 วัน จะพำนักในโรงแรม บ้านเช่า หรือห้องเช่าได้ทั้งสิ้น โดยยอมรับว่ามีเรื่องหนึ่งที่อาจเป็นประเด็นขึ้นมาได้คือชาวศรีลังกาในไทย พร้อมทั้งย้ำว่าไทยสามารถปฏิเสธการเข้าเมืองได้ในฐานะเจ้าของประเทศ แต่สิ่งสำคัญคือต้องไม่สร้างปัญหาให้กับไทย ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีสิ่งบอกเหตุถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้น 
 
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การอนุญาตให้อดีตประธานาธิบดีศรีลังกาเดินทางเข้าไทยเป็นเรื่องของมนุษยธรรม โดยมีการสัญญาว่าจะขอพำนักอยู่ชั่วคราว ไม่ยุ่งเกี่ยว ไม่มีการพบปะกันและจะไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ 
 
 
ที่มา : AFP , VOA, ThaiPBS, กระทรวงการต่างประเทศ
ติดต่อโฆษณา!