ทำไมสหรัฐฯ กล้าท้าทายจีน ด้วยการส่ง 'แนนซี เพโลซี' เยือนไต้หวัน

ทำไมสหรัฐฯ กล้าท้าทายจีน ด้วยการส่ง 'แนนซี เพโลซี' เยือนไต้หวัน
Highlight

ในที่สุด “แน่นซี่ เพโลซี” ประธานสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐฯ ก็มาเยือนไต้หวันจริงๆ นับเป็นการปรากฏตัวของบุคคลระดับสูงของสหรัฐในรอบ 25 ปีบนแผ่นดินไต้หวัน ที่แม้ว่าจะปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแต่โดยนัยจีนยังคงมีอิทธิพลและประกาศนโยบายเป็น “จีนเดียว”ตลอดมา ยังไม่แน่ว่า อนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไป เพราะจีนไม่พอใจอย่างยิ่งต่อเหตุการนี้ ในขณะที่นักวิชาการไทย รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กมีเนื้อหาว่า นี่คือ “เรื่องสยองขวัญของชาวโลก”ที่สุ่มเสี่ยงอาจเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 ได้



ปฏิเสธไม่ได้ว่าการมาเยือนไต้หวันของ แนนซี่ เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐฯเป็นการเพิ่มอุณหภูมิทางการเมืองของโลกซีกเอเชียแปซิฟิกให้ร้อนฉ่า..ขึ้นมาทันที

ท่ามกลางความตึงเครียดที่ทางรัฐบาลจีนได้แสดงออกอย่างแข็งกร้าว และกล่าวเตือนสหรัฐเรื่องการล้ำเส้นทางเมืองปัญหาระหว่างจีน-ไต้หวัน

แต่ดูเหมือนคำขู่ของจีนไม่ได้ผล “เพโลซี” ปรากฎตัวมาเหยียบแผ่นดินไต้หวันตั้งแต่เมื่อคืนวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา มีคำถามว่า “เพโลซี”มีเหตุผลอะไร ทำไมถึงต้องมาถึงไต้หวันให้จงได้ มีนัยยะอะไรกันแน่!

สื่อดังของฝั่งสหรัฐ Washington Post ได้เผยแพร่บทความซึ่งเป็นการเขียนขึ้นเองจากเพโลซี อธิบายถึงเหตุผลในการเดินทางมาเยือน “ไต้หวัน” ให้ได้ในครั้งนี้  โดยมีสาระสำคัญบางส่วน ว่า

การกล้ามาเยือนไต้หวันในรอบ 25 ปี ของตัวแทนระดับสูงจากสหรัฐในครั้งนี้ โดยไม่หวั่นคำข่มขู่จากจีน เหตุผลชัดเจนที่สุดคือ “เพโลซี”ต้องการแสดงถึงการสนับสนุนความเคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตย เหมือนเช่นที่เคยทำเมื่อปี 1991 (พ.ศ. 2534) หรือ 31 ปีก่อน หลังเกิดเหตุการณ์นองเลือดที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ซึ่งทางการจีนปราบปรามนักศึกษาประชาชน

ครั้งนั้นเธอเพิ่งจะเป็น ส.ส.ใหม่ ร่วมทริปไปกับคณะเล็ก ๆ ของสมาชิกสภาผู้แทนสหรัฐ ลงไปถือป้ายสนับสนุนประชาธิปไตยที่เทียนอันเหมิน จุดเดียวกับที่เกิดเหตุนองเลือด 2 ปีก่อนหน้านั้น แม้รัฐบาลจีนพยายามปิดกั้นอย่างที่สุด

เธอบอกว่า เมื่อ 43 ปีที่แล้ว รัฐสภาคองเกรสแห่งสหรัฐฯ และประธานาธิบดี จิมมี คาร์เตอร์ ได้ลงนามในกฎหมาย นั่นคือพระราชบัญญัติความสัมพันธ์ไต้หวัน ซึ่งเป็นหนึ่งในเสาหลักที่สำคัญที่สุดของนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

เพโลซี ระบุว่า “การมาเยือนของคณะผู้แทนรัฐสภาสหรัฐฯ ควรถูกมองว่าเป็นคำยืนยันที่แน่ชัดว่า สหรัฐฯ จะยืนหยัดกับไต้หวัน ซึ่งเป็นพันธมิตรในระบอบประชาธิปไตยของเราในขณะที่ปกป้องตนเองและเสรีภาพของตน”

การมาเยือนของเรา ไม่มีทางขัดแย้งกับนโยบายจีนเดียวที่มีมาช้านาน โดยเป็นไปตามพระราชบัญญัติความสัมพันธ์ไต้หวันปี 1979 ประชาคมร่วมระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และข้อตกลง 6 ประการ

วันนี้ สหรัฐฯ ต้องจดจำคำมั่นสัญญานั้นไว้ให้ได้ เราต้องยืนหยัดเคียงข้างไต้หวัน ไต้หวันเป็นผู้นำด้านธรรมาภิบาล โดยเฉพาะสถานการณ์ปัจจุบันในการจัดการกับการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และสนับสนุนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการดำเนินการด้านสภาพอากาศ เป็นผู้นำในด้านสันติภาพ ความมั่นคง และพลังทางเศรษฐกิจ ด้วยจิตวิญญาณของผู้ประกอบการ วัฒนธรรมแห่งนวัตกรรม และความสามารถทางเทคโนโลยีที่คนทั้งโลกอิจฉา

“เราต้องยืนเคียงข้างไต้หวัน” เพโลซีเขียนถึงข้ออ้างอิงในคำมั่นสัญญาของสหรัฐที่มีต่อไต้หวัน ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายปี 1979 (พ.ศ. 2522) เผยแพร่ในวอชิงตันโพสต์ สื่อใหญ่ของสหรัฐ ในขณะที่เดินทางถึงไต้หวัน

เราต้องแสดงชัดว่าอเมริกาและพันธมิตร จะไม่ยอมให้กับพวกปกครองด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด” เพโลซีระบุ

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนได้เพิ่มระดับความตึงเครียดกับไต้หวันอย่างมาก สาธารณรัฐประชาชนจีน (PRC) ได้เพิ่มการลาดตระเวนเครื่องบินทิ้งระเบิด เครื่องบินขับไล่ และเครื่องบินสอดแนมใกล้กับและแม้กระทั่งเหนือเขตป้องกันภัยทางอากาศของไต้หวัน ส่งผลให้กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้ข้อสรุปว่า กองทัพจีน “มีแนวโน้มว่าจะเตรียมผนวกรวมไต้หวันเข้ากับสาธารณรัฐประชาชนจีนด้วยกำลัง”

PRC ยังได้นำการต่อสู้เข้าสู่โลกไซเบอร์ โดยโจมตีหน่วยงานรัฐบาลไต้หวันในแทบจะทุก ๆ วัน ในเวลาเดียวกัน จีนยังบีบคั้นไต้หวันทางเศรษฐกิจ กดดันบริษัทระดับโลกให้ตัดสัมพันธ์กับเกาะไต้หวัน ข่มขู่ประเทศที่ร่วมมือกับไต้หวัน และห้ามนักท่องเที่ยวจากสาธารณรัฐประชาชนจีนไปไต้หวัน

อย่างไรก็ตามก่อนที่นางเพโลซีจะออกเดินทาง กองทัพสหรัฐในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกเคลื่อนไหวชัดเจนขึ้น เรือบรรทุกเครื่องบินรบ ยูเอสเอส โรนัลด์ เรแกน เคลื่อนเข้ามายังทะเลฟิลิปปินส์ พร้อมกับที่มีคำขู่ด้านการทหารจากจีน

นอกจากยูเอสเอส โรนัลด์ เรแกนแล้ว ยังมีเรือยูเอสเอส แอนทีทัม และเรือพิฆาต ยูเอสเอส ฮิกกินส์ เดินทางจากสิงคโปร์ขึ้นไปทางเหนือไปยังท่าจอดเรือในญี่ปุ่น เรือเหล่านี้มีเครื่องบินรบ เฮลิคอปเตอร์ ระบบเรดาร์ และอาวุธอื่น ๆ ติดตั้งประจำการอยู่ด้วย

ก่อนหน้าจะมาเยือนไต้หวัน เพโลซี เดินทางไปเยือนกรุงเคียฟ ยูเครน ในเดือน เมษายน  “ฉันได้บอกประธานาธิบดี โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ว่าเราชื่นชมการปกป้องประชาธิปไตย ของเขา เพื่อยูเครนและเพื่อประชาธิปไตยทั่วโลก”

ในการเดินทางไปไต้หวัน เราเคารพในคำมั่นสัญญาของเราต่อระบอบประชาธิปไตย ตอกย้ำว่า เราต้องเคารพเสรีภาพของไต้หวันและประชาธิปไตยทั้งหมด

ประวัติของ แนนซี เพโลซี

แนนซี เพโลซี มีชื่อเต็มว่า แนนซี แพทริเซีย ดีอาเลซานโดร เพโลซี เกิดวันที่ 26 มีนาคม 1940 (พ.ศ. 2483) ที่เมืองบัลติมอร์ รัฐแมริแลนด์ เป็นลูกคนสุดท้องในพี่น้อง 7 คนของครอบครัวที่มีเชื้อสายอิตาเลียน จบรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยทรินิตี คอลเลจ

เพโลซีเป็นผู้แทนมาตั้งแต่ปี 1987 (พ.ศ. 2530) ในนามสมาชิกเดโมแครต เขตเลือกตั้งที่ 8 ของรัฐแคลิฟอร์เนีย เคยขึ้นเป็นผู้นำเสียงข้างน้อยในสภา (Minority Leader) ช่วงปี 2022-2007 (พ.ศ. 2545-2550) จากนั้นปี 2007 ได้รับเลือกให้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร และได้รับเลือกอีกครั้งในปี 2019 (พ.ศ. 2562)

เพโลซีเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรกที่เป็นสตรี และเป็นชาวแคลิฟอร์เนียคนแรกและชาวอิตาเลียน–อเมริกันคนแรกที่ได้รับตำแหน่ง ถือเป็นสตรีที่มีตำแหน่งสูงสุดในประวัติศาสตร์การปกครองของสหรัฐอเมริกา และเป็นสตรีคนแรกในประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐที่กลับมาเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งได้

นักวิชาการชี้ การเยือนไต้หวันของ เพโลซี “เป็นเรื่องสยองขวัญโลก”

รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กมีเนื้อหาว่า ประหนึ่งว่าโลกจะยังเดือดร้อนไม่พอจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน จู่ๆนาง Nancy Pelosi ประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐอเมริกาจากพรรค Democrat ก็ประกาศว่าจะเดินทางไปเยือนไต้หวัน ในทันที จีนถึงกับประกาศเป็นคำขู่ว่าสหรัฐอเมริกากำลังเล่นกับไฟ หากนาง Pelosi เดินทางเยือนไต้หวัน ก็จะส่งผลที่เลวร้ายอย่างยิ่งตามมา

อย่าลืมว่า ตำแหน่งของนาง Pelosi เป็นตำแหน่งที่จะได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐ หากมีอะไรเกิดขึ้นกับตัวประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี ถือว่าเป็นผู้มีตำแหน่งสูงเป็นลำดับ 3 ของประเทศเลยทีเดียว ซึ่งตั้งแต่ปี ค,ศ,1979 เป็นตันมา ยังไม่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐในระดับสูงของสหรัฐอเมริกา เดินทางเยือนไตัหวันเลยแม้แต่คนเดียว

แม้ว่าจะมีข่าวว่านาง Pelosi เปลี่ยนใจไม่เยือนไต้หวันแล้ว โดยจะไปแค่สิงคโปร์และมาเลเซีย แต่นาง Pelosi ก็เดินทางไปถึงไต้หวันเรียบร้อยแล้วตั้งแต่เมื่อคืน ในขณะที่จีนขู่ขวัญด้วยการทำการซ้อมรบด้วยกระสุนจริงรอบเกาะไต้หวัน และยังทำหนังสือประท้วงไปยังรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ไต้หวันเองก็ถึงกับต้องเตรียมสถานที่หลบภัยใต้ดินให้กับประชาชนหากเกิดสงครามขึ้น

เหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ เรียกได้ว่าเป็นเหตุการณ์สยองขวัญของโลกเลยก็ว่าได้ เพราะมีโอกาสไม่น้อยเลยที่จะนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 ได้รศ.หริรักษ์ ระบุ

ในบ้านเรา การวิพากษ์วิจารณ์ดูเหมือนจะแบ่งเป็น 2 ฝ่าย เช่นเดียวกับกรณีรัสเซียกับยูเครน แต่เชื่อหรือไม่ที่คนรุ่นใหม่ที่หัวก้าวหน้าในสมัยก่อนมักจะเอนเอียงไปทางจีน ในขณะที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมจะอยู่ฝ่ายสหรัฐอเมริกา เนื่องจากจีนซึ่งมีระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ถูกสร้างภาพให้เป็นผู้ร้ายเช่นเดียวกับรัสเซีย

ในสมัยนั้นคนรุ่นใหม่ที่หัวก้าวหน้ามักใช้คำว่า "ปลุกผีคอมมิวนิสต์" เพื่อบอกว่าคอมมิวนิสต์ไม่ได้เลวร้าย แต่ถูกฝ่ายที่ไม่เอาระบอบการปกครองแบบนี้ปลุกผีคอมมิวนิสต์ขึ้นมาให้คนหวาดกลัว แต่ในปัจจุบัน คนรุ่นใหม่ที่เรียกต้วเองว่าเป็นพวกหัวก้าวหน้ากลับเกลียดจีนและเชียร์สหรัฐอเมริกา

ความจริงคำถามสำคัญที่ต้องตอบให้ได้ก่อนที่จะตัดสินใจเชียร์ฝ่ายใดก็คือ จีนมีเหตุผลใด จึงยอมไม่ได้ที่จะให้นาง Pelosi เดินทางไปเยือนไตัหวัน

เพื่อตอบคำถามดังกล่าว เราต้องย้อนอดีตไปช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ในขณะนั้นย่อมไม่มีข้อสงสัยว่าเกาะไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน ต่อมาเมื่อจีนถูกญี่ปุ่นรุกราน ไต้หวันจึงตกไปเป็นของญี่ปุ่น เรียกว่าเกาะ Formosa ภายหลังเมื่อญี่ปุ่นยอมลงนามในสัญญาสงบศึกในสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยหลัก ไต้หวันต้องกลับไปเป็นของจีน

แต่เนื่องจากขณะนั้นจีนกำลังมีความวุ่นวายจากสงครามกลางเมืองระหว่างกองทัพก๊กมินตั๋งของรัฐบาลเจียงไคเช็กกับกองทัพปลดแอกของเหมาเจ๋อตุง ไตัหวันจึงยังไม่กลับไปเป็นของจีน เมื่อกองทัพก๊กมินตั๋งพ่ายแพ้ เจียงไคเช็กจึงนำทหารและประชาชนจำนวนหนึ่งหนีลงทะเลไปปักหลักที่เกาะไต้หวัน โดยยังอ้างว่ารัฐบาลของตนเองเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องของประเทศจีน เรียกตัวเองว่า Republic of China ในขณะที่ประชากรของไต้หวันมีเพียงหยิบมือเดียว หากเทียบกับประชากรของจีนแผ่นดินใหญ่

แน่นอนว่า รัฐบาลของประธานเหมาย่อมไม่ยอม เตรียมที่จะบุกยึดไตัหวันคืน แต่สหรัฐอเมริกาโดยประธานาธิบดี Harry S. Truman ซึ่งยอมรับระบอบคอมมิวนิสต์ไม่ได้ จึงส่งกองเรือรบของสหรัฐอเมริกาไปยันไว้ ไม่ให้จีนบุกไต้หวัน และประกาศรับรองรัฐบาลเจียงไคเช็กให้เป็นรัฐบาลที่ถูกต้องของจีน สหรัฐกับจึนแผ่นดินใหญ่จึงไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันตั้งแต่นั้นมา

ต่อมาในสมัยประธานาธิบดี Richard Nixon ได้ตัดสินใจเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐบาล เหมาเจ๋อตุง โดยเดินทางไปเยือนจีนอย่างเป็นทางการ และประกาศยอมรับให้จีนมีเพียงจีนเดียว และให้ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน ต่อมาองค์การสหประชาชาติจึงให้การรับรองให้มีเพียงจีนเดียว และไตัหวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนเช่นกันตลอดมา

ดูเหมือนจีนจะมีความพอใจกับสถานภาพของไต้หวันที่ในหลักการ เป็นส่วนหนึ่งของจีน แต่ในทางปฏิบัติ ไต้หวันก็มีรัฐบาลของตัวเอง เพียงแต่ไม่สามารถแยกเป็นอีกประเทศได้ การติดต่อค้าขายระหว่างจีนกับไต้หวันก็เป็นไปโดยปกติ จีนก็ไม่ได้มีท่าทีจะบุกยึดไต้หวัน ไม่ให้ไต้หวันมีรัฐบาลของตัวเองแต่อย่างใด เพียงแต่ยังยึดมั่นในหลักการที่มีจีนเดียวเท่านั้น

ดังที่ได้กล่าวแล้วในขณะที่โลกกำลังมีปัญหาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ประเทศสหรัฐอเมริกาก็กำลังมีปัญหาภายในของตัวเองอย่างสาหัส จู่ๆนาง Pelosi ก็ประกาศว่าจะไปเยือนไต้หวัน มิใยที่จีนทั้งขู่ทั้งประท้วงก็ไม่เป็นผล ถามว่านาง Pelosi คือตัวแทนรัฐบาลหรือไม่ ก็คงไม่ใช่เพราะตำแหน่งของเธอคือประธานสภาฯ แต่ก็ถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงมากของสหรัฐอเมริกา

และคงเป็นไปไม่ได้ที่นาย Biden ไม่ได้รับรู้กับการเยือนไต้หวันครั้งนี้ และคงเป็นไปไม่ได้ที่นาง Pelosi จะไม่คาดคิดว่าจะทำให้จีนไม่พอใจ ตรงกันข้าม อาจเป็นแผนของรัฐบาลนาย Biden เสียด้วยซ้ำที่ต้องการกระตุกหนวดเสือ แต่คงน่าเกลียดเกินไปที่นาย Joe Biden ซึ่งเป็นหัวหน้ารัฐบาลจะไปเอง จึงให้นาง Pelosi ซึ่งก็มาจากพรรคเดียวกันและไม่ได้เป็นตัวแทนรัฐบาลเป็นผู้ไปเยือน

หากไม่มีเหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้น ก็คงไม่เกิดความตึงเครียดเช่นนี้ไปทั้งโลก คำถามที่ควรถามต่อคือ นาง Pelosi ทำเช่นนี้เพื่ออะไร คงไม่ใช่เพราะนึกอยากจะไปเยี่ยมเยียนประธานาธิบดีไต้หวันสักครั้งแน่ๆ


อ้างอิง : https://www.washingtonpost.com/opinions/2022/08/02/nancy-pelosi-taiwan-visit-op-ed/

ติดต่อโฆษณา!