JSL เลิกจ้างจ่ายค่าชดเลยร้อยละ 16 ของค่าจ้างได้หรือไม่

JSL เลิกจ้างจ่ายค่าชดเลยร้อยละ 16 ของค่าจ้างได้หรือไม่
Highlight

บริษัท เจเอสแอล โกลบอลมีเดีย บริษัทผลิตรายการโทรทัศน์ ได้แจ้งเลิกจ้างพนักงาน จำนวน 89 คน โดยมีผลต่อตั้งแต่ 1 ก.ค. 65 สาเหตุการเลิกจ้างเนื่องจากบริษัทขาดทุนสะสม โดยปิดตัวลงกะทันหันตั้งแต่ 29 มิ.ย.65 และแจ้งว่าจะจ่ายเงินชดเชยพนักงานเพียงร้อยละ 16 พนักงานบางส่วนเข้าร้องเรียนต่อกระทรวงแรงงาน เพราะเห็นว่าเป็นการเอาเปรียบ นักกฏหมายระบุการจ่ายเงินชดเชยต้องเป็นไปตามตามกฏหมายแรงงานกำหนด ไม่สามารถหลบเลี่ยงได้ ล่าสุดบริษัทเคลื่อนไหวแล้ว


กรณีบริษัท JSL ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่เลขที่ 154 ซอยลาดพร้าว 107 ถนนลาดพร้าว แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ประกอบกิจการ ประเภทผลิตรายการโทรทัศน์ ปัจจุบันมีพนักงานทั้งหมดประมาณ 130 คน เป็นชาย 70 คน และหญิง 60 คน ซึ่งบริษัทได้แจ้งเลิกจ้างพนักงาน จำนวน 89 คน เป็นลูกจ้างรายเดือนทั้งหมดให้มีผลการเลิกจ้าง ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา สาเหตุการเลิกจ้างเนื่องจากบริษัทขาดทุนสะสมมาโดยตลอด 

ทนายเดชา กิตติวิทยานันท์ พร้อมด้วยอดีตพนักงานบริษัท เจเอสแอล โกลบอลมีเดีย จำกัด 79 ราย เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้อำนวยการสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 4 (สรพ.4) และพนักงานตรวจแรงงาน สืบเนื่องจากกรณีที่ บริษัท เจเอสแอล ประกาศปิดตัวกะทันหัน เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.ที่ผ่านมา พร้อมบอกเลิกจ้างพนักงานทั้งหมด 89 ราย 

โดยทางบริษัทฯจะจ่ายค่าชดเชยเพียงร้อยละ 16 ของเงินชดเชยทั้งหมดตามกฎหมาย ซึ่งพนักงานบางส่วนเห็นว่าเป็นการเอาเปรียบ และไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน ทั้งที่ผ่านมาพนักงานยอมปฏิบัติตามนโยบายของบริษัทฯทุกอย่าง ในระหว่างที่บริษัทฯ เผชิญวิกฤติด้านกำไร ต่อมาทางกระทรวงแรงงาน ได้ส่งหนังสือเชิญ ทาง บริษัท เจเอสแอล นำหลักฐานเข้าชี้แจงในวันที่ 20 ก.ค.นี้ 

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 5 ก.ค.65 มีความเคลื่อนไหวจาก JSL โดยเพจเฟซบุ๊ก “JSL Global Media เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย” มีการชี้แจ้งเป็นข้อความระบุว่า 

“เรื่องเงินชดเชยของพนักงาน ทางบริษัทไม่ได้นิ่งนอนใจและยังมีความตั้งใจที่จะจ่ายให้ครบจำนวนตามที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่เนื่องด้วยภาวะการขาดกระแสเงินสดฉับพลันและยังไม่สามารถหาเงินมาให้ทันกับค่าชดเชยที่ต้องจ่ายไปเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ทางบริษัทจึงจำเป็นต้องแจ้งพนักงานทุกคนตามความเป็นจริงเรื่องจำนวน % ที่บริษัทสามารถจ่ายให้ได้ ณ วันนั้น

อย่างไรก็ดี บริษัทไม่ได้นิ่งนอนใจเรื่องเงินชดเชยที่ขาด และได้พยายามหลายวิธีการเพื่อหาเงินมาจ่ายให้ได้มากที่สุดและเร็วที่สุด เพราะทราบความเดือดร้อนของพนักงานทุกคน ตามกระบวนการที่ควรจะเป็นคือบริษัทและพนักงานต้องมีการคุยเจรจากันก่อนที่จะไปถึงกระบวนการของสำนักงานแรงงาน แต่ด้วยข้อจำกัดที่บริษัทมีขณะนั้น เราจึงไม่สามารถชี้แจงรายละเอียดการจ่ายชดเชยที่เหลือได้ ทางบริษัทต้องขออภัยในความล่าช้าและทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจนเกิดเหตุการณ์ตามข่าว ทางบริษัทขอชี้แจงกระบวนการการจัดสรรงบประมาณในการจ่ายชดเชยที่จะมีการดำเนินการต่อไปดังนี้

จากเงินชดเชยทั้งหมด 32 ล้านบาท เราได้แจ้งพนักงานไปแล้วว่าในวันที่บริษัทปิดกิจการลง เราสามารถจ่ายชดเชยให้ได้ในจำนวน 16% ของยอดทั้งหมดซึ่งเป็นยอดกว่า 5 ล้านบาท เราจึงขอให้พนักงานมารับงวดแรก 16% นี้ไปก่อนเพื่อบรรเทาความลำบากของทุกคน และในสิ้นเดือน ก.ค.นี้ ทางบริษัทจะหาเงินมาเพิ่มให้อีก 9% รวมของเดิมจะเป็น 25% ของยอดชดเชยทั้งหมด หลังจากนั้น ทุกๆสิ้นเดือน บริษัทก็จะพยายามหาเงินมาจ่ายชดเชยให้ต่อไปอีกตามกำลังที่มี

ทางบริษัทยินดีพูดคุยเพื่อหาข้อสรุปให้เหมาะสมที่สุดที่เป็นไปตามกระบวนการของกฎหมายแรงงานทุกประการ จึงขอความร่วมมือจากพนักงานทุกคนในการเข้ามาร่วมเจรจาหาข้อสรุปร่วมกันเพื่อพวกเราทุกคนจะได้เดินหน้าต่อและไม่มีความบาดหมางใจต่อกัน บริษัทไม่เคยมีเจตนาที่จะละทิ้งความรับผิดชอบต่อพนักงานทุกคน 

แต่ด้วยสถานการณ์ที่ยากลำบากที่ไม่สามารถเดินต่อได้ จึงทำให้เกิดเหตุการณ์เหล่านี้ที่ทำให้ทุกคนต้องเสียขวัญและกำลังใจ บริษัทหวังว่า ด้วยความจริงใจที่มีต่อพนักงาน และความร่วมมือระหว่างกัน เราจะสามารถช่วยกันแก้ไขปัญหายากลำบากนี้ให้ลุล่วงไปด้วยกันได้”

คำอธิบายด้านกฏหมายเมื่อเลิกจ้างพนักงาน

สำหรับกรณีที่ JSL แจ้งต่อพนักงานที่ถูกเลิกจ้างว่าจะจ่ายค่าชดเชยเพียงร้อยละ 16 นั้นทำได้หรือไม่ มีคำอธิบายด้านกฏหมายดังนี้

โดยปกติค่าชดเชยจ่ายเมื่อเลิกจ้าง  หรือสัญญาจ้างสิ้นสุด หรือกิจการนายจ้างดำเนินกิจการต่อไปไม่ได้ หรือเกษียณ เหล่านี้กฎหมายเรียกว่า "เลิกจ้าง" 

เมื่อเลิกจ้าง ก็มีสิทธิได้รับค่าชดเชย โดยมีสิทธิได้รับในวันที่เลิกจ้าง หากไม่จ่ายในวันเลิกจ้างนายจ้างก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี หรือถ้าเป็นการจงใจเจตนาไม่จ่ายก็จะต้องจ่าย "เงินเพิ่ม" ร้อยละ 15 ทุก ๆ 7 วัน

กรณีบริษัท JSL จะจ่ายค่าชดเชยร้อยละ 16 ทำได้หรือไม่

กรณีนี้บริษัทไม่สามารถทำได้ เพราะกฎหมายกำหนดอัตราการจ่ายค่าชดเชยเอาไว้อย่างชัดแจ้งแล้ว ในมาตรา 118 โดยพิจารณาว่าทำงานมานานเพียงใด ก็จะต้องจ่ายค่าชดเชยตามนั้น กล่าวคือ

ก) หากทำงานครบ 120 วันแต่ไม่ครบ 1 ปี ต้องจ่ายค่าชดเชย 30 วัน
ข) หากทำงานครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี ต้องจ่ายค่าชดเชย 90 วัน
ค) หากทำงานครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี ต้องจ่ายค่าชดเชย 180 วัน
ง) หากทำงานครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี ต้องจ่ายค่าชดเชย 240 วัน
จ) หากทำงานครบ 10 ปี แต่ไม่ครบ 20 ปี ต้องจ่ายค่าชดเชย 300 วัน
ฉ) หากทำงานครบ 20 ปีขึ้นไป ต้องจ่ายค่าชดเชย 400 วัน

เช่น พนักงานมีเงินเดือน 36,000 บาท หาร 30  จะได้เป็นค่าจ้างรายวัน ๆ ละ 1,200 บาท หากทำงานมานาน 12 ปี จะได้ค่าชดเชย 300 วัน  ซึงคูณค่าจ้างรายวัน 1,200 บาท จะได้เป็นค่าชดเชยที่นายจ้างต้องจ่ายคือ 360,000 บาท

นายจ้างจะอ้างว่าจ่ายร้อยละ 16 ของเงินที่ควรได้รับคือ 360,000 บาท ไม่ได้ เพราะไม่มีกฎหมายอนุญาตให้ทำได้ แม้ลูกจ้างตกลงด้วยก็เป็นโมฆะ

ข้อควรระวัง

เมื่อถูกเลิกจ้างแล้ว หากไปเซ็นต์ตกลงรับเงินเพียงร้อยละ ๑๖ ของเงินที่ควรได้รับ ก็อาจทำให้ข้อตกลงนั้นมีผลบังคับได้ เพราะตอนทำข้อตกลงลูกจ้างเป็นอิสระแล้ว 

ซึ่งศาลฎีกาที่ 3121/2543 พิพากษาว่าการตกลงหลังเลิกจ้างแล้วลูกจ้างมีอิสระพ้นจากพันธกรณี และไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาโดยสิ้นเชิงแล้ว ข้อตกลงจึงใช้บังคับได้

จึงต้องระวังไม่ไปเซ็นตกลงยินยอมรับเงินที่น้อยกว่าสิทธิที่ควรจะได้ 

ประเด็นนี้ สามารถฟ้อง หรือร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานได้เลย หากได้เงินไม่พอก็อาจบังคับยึดทรัพย์ของบริษัทขายทอดตลาด และเงินที่ได้จะต้องนำมาจ่ายค่าจ้างแก่พนักงานก่อน

ประเด็นต่อไป  การเลิกจ้างเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมหรือไม่

จากข้อเท็จจริงทราบว่าบริษัทขาดทุนสะสม และขาดทุนจริงกระทั่งต้องปิดกิจการ กรณีนี้ถือว่าการเลิกจ้างมีเหตุอันสมควรที่จะเลิกจ้างได้ (แต่ถ้าไม่ขาดทุนจริง ก็เลิกจ้างไม่ได้เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม)

ดังนัน กรณีนี้คิดว่าไม่จำเป็นต้องฟ้องคดีเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

นายกฯ สั่งกระทรวงแรงงานช่วยเหลือลูกจ้าง JSL

นายกฯ สั่งกระทรวงแรงงานช่วยเหลือลูกจ้าง JSL ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย หลังถูกเลิกจ้างกะทันหัน

เมื่อวันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือลูกจ้างบริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด ที่ถูกเลิกจ้าง โดยระบุว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มีความห่วงใยลูกจ้าง และมีคำสั่งให้กระทรวงแรงงานเข้าไปดูแลช่วยเหลือให้ลูกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์ความคุ้มครองตามกฎหมายอย่างใกล้ชิด ซึ่งตนได้ขานรับข้อสั่งการดังกล่าว และให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานตรวจสอบและเร่งให้ความช่วยเหลือในทันที
 
ลูกจ้างบริษัท เจ เอส แอล โกบอล มีเดีย จำกัด มายื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน ณ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 4 ซึ่งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานได้ส่งเจ้าหน้าที่มาชี้แจงอำนวยความสะดวกแก่ลูกจ้าง ได้แก่ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานรับคำร้อง (คร.7) สำนักงานประกันสังคมชี้แจงขั้นตอนการขึ้นทะเบียนขอรับเงินประกันการว่างงาน กรมการจัดหางานมาตั้งโต๊ะรับสมัครงาน โดยมีตำแหน่งงานว่างจากสถานประกอบกิจการต่างๆ ที่มีความใกล้เคียงกับตำแหน่งงานเดิม เช่น นักโฆษณา นักออกแบบเสื้อผ้า ผู้จัดการฝ่ายการตลาด ผู้จัดการฝ่ายบุคคล พนักงานขับรถ เป็นต้น รวมจำนวน 72 อัตรา

นอกจากนี้ยังมีตำแหน่งงานว่างที่ลูกจ้างสามารถสมัครด้วยตนเองที่เว็บไซต์ไทยมีงานทำ https://smartjob.doe.go.th ซึ่งขณะนี้มีตำแหน่งงาน 161,895 อัตรา ไว้ให้บริการ โดยพนักงานของบริษัทฯ สามารถเลือกสมัครงานทางออนไลน์ได้โดยไม่ต้องเดินทาง ซึ่งรวดเร็วและประหยัดค่าใช้จ่าย และกรมพัฒนาฝีมือแรงงานแนะนำหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะฝีมือตามความประสงค์ของลูกจ้าง เพื่อให้ลูกจ้างได้สมัครงานและบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นด้วย

ติดต่อโฆษณา!