“ประยุทธ์” ขีดเส้น “คนจน” หมดประเทศ ก.ย. ปี 65!

“ประยุทธ์” ขีดเส้น “คนจน” หมดประเทศ ก.ย. ปี 65!
Highlight

“นายกฯ” ตั้งเป้าใหญ่ให้ความสำคัญแก้ไขปัญหาความยากจน โดยประกาศจะขจัดให้พ้นจากประเทศไทยภายใน กันยายน 2565 จากการสำรวจพบครัวเรือนที่เข้าข่ายยากจน จำนวน 647,139 ครัวเรือน โดยทำงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทยยึดหลัก รู้จักการพึ่งพาตนเอง ลดรายจ่าย เพื่อให้ใช้ชีวิตอย่างอยู่รอด พอเพียงอย่างยั่งยืน นับเป็นเป้าหมายที่ดีและท้าทาย เพราะความยากจนอยู่คู่ไทยมานาน


นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้ความสำคัญและติดตามการดำเนินงานขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล

โดยล่าสุดในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทยได้รายงานความคืบหน้าการขับเคลื่อนการขจัดความยากจนที่ดำเนินการโดยศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) 

โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้รายงานความก้าวหน้า ของ ศพจ. ในระดับพื้นที่จากข้อมูลในระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform – TPMAP) ซึ่งผลการดำเนินงาน การวิเคราะห์สภาพปัญหา และกำหนดแนวทาง แก้ไข (ข้อมูล ณ 30 เมษายน 2565) โดยเจ้าหน้าที่ ศพจ. สำรวจครัวเรือนในระบบ Logbook ทั้งหมด พบครัวเรือนที่เข้าข่ายยากจน จำนวน 647,139 ครัวเรือน จากเป้าหมายตั้งต้น 619,111 ครัวเรือน

สำรวจปัญหาครัวเรือน 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ศพจ. พบว่า ครัวเรือนที่อยู่ใน “เป้าตั้งต้น” และมีการสำรวจปัญหาความยากจนและปัญหาอื่นๆ จำนวน 615,128 ครัวเรือน มีตัวเลขครัวเรือนที่ตกหล่น (Exclusion Error) จำนวน 32,011 ครัวเรือน ซึ่ง ศพจ. ได้จำแนกปัญหาของ 615,128 ครัวเรือน พบเป็นปัญหาสุขภาพ 149,143 ครัวเรือน ปัญหาความเป็นอยู่ 145,573 ครัวเรือนปัญหาการศึกษา 151,649 ครัวเรือน ปัญหารายได้ 319,248 ครัวเรือน และปัญหาการเข้าถึงบริการภาครัฐ 2,268 ครัวเรือน 

ทั้งนี้ ตามกรอบระยะเวลาการดำเนินงาน หลังจากทำการวิเคราะห์สภาพปัญหา และกำหนดแนวทางแก้ไข จำแนกประเภทครัวเรือน โครงการกิจกรรม และบูรณาการแนวทางการให้ความช่วยเหลือ ตลอดเดือนเมษายนที่ผ่านมาแล้ว ขณะนี้อยู่ในช่วงดำเนินการให้ความช่วยเหลือ (1 พฤษภาคม – 30 กันยายน 2565) 

โดยหน่วยงานต่าง ๆ ให้ความช่วยเหลือตามโครงการกิจกรรม ที่ผ่านการประชุม ศจพ.อำเภอ (ขั้นตอนที่ 4) แก้ไขปัญหาทุกครัวเรือนให้เสร็จสิ้นในระดับอำเภอ ภายใน 30 กันยายน 2565 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่รัฐบาลขีดเส้นเพื่อแก้ปัญหาคนจนให้หมดไป 

โดยทีมพี่เลี้ยงจะร่วมติดตามการให้ความช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด (Intensive Care) และบันทึกผลการให้ความช่วยเหลือในระบบ Logbook ซึ่งจะมีการติดตามการดำเนินงาน และศจพ. จะรายงานผลให้คณะรัฐมนตรีทราบทุกเดือน 

“รัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาความยากจนให้กับพี่น้องประชาชน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อให้ทุกคนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการแก้ปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้าแต่ละครัวเรือน" นายธนกร กล่าว

เป้ารัฐบาล 5 ด้านในการแก้ไขปัญหา

ทั้งนี้ ความยากจนคือความเดือดร้อนทุกเรื่องที่พี่น้องประชาชนประสบปัญหาอยู่โดยที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง โดยการแก้ไขปัญหาแบบพุ่งเป้า 5 ด้าน ได้แก่ สุขภาพ 
ความเป็นอยู่ การศึกษา รายได้ และการเข้าถึงบริการภาครัฐ รวมถึงปัญหาความเดือดร้อนอื่นๆ 

ทั้งนี้ถือเป็นอำนาจหน้าที่ของทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ที่ไม่ได้แก้โดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเพียงหน่วยเดียว เพราะในปัญหานั้นๆ จะมีหลายมิติ จึงจำเป็นต้องบูรณาการร่วมกันทุกส่วนราชการเพื่อแก้ไขปัญหาแบบพุ่งเป้าเดียวกันให้แล้วเสร็จในระดับอำเภอภายในวันที่ 30 กันยายน 2565 

ยึดหลัก 4ท.แก้ปัญหา 

นายธนกร กล่าวว่า ในการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนในระดับพื้นที่ นายกฯ กำชับให้กระทรวงมหาดไทยนำข้อมูลจากระบบ TPMAP มาบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสภาพปัญหา พุ่งเป้าร่วมแก้ปัญหากับครัวเรือนเป้าหมาย ตามหลัก 4ท. ได้แก่ ทัศนคติ ทักษะ ทรัพยากร และ ทางออก 

เพื่อให้ประชาชนรู้จักการพึ่งพาตนเอง ลดรายจ่าย เพื่อให้ใช้ชีวิตอย่างอยู่รอด พอเพียงอย่างยั่งยืน โดยให้ประมวลผลรายงานความก้าวหน้าโครงการ จำแนกแนวทางการแก้ปัญหาเข้าไปแก้ปัญหาให้ตรงจุด ทันเวลา เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาให้ประชาชนอย่างเป็นรูปธรรมและเกิดการบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน นำไปสู่การแก้ไขปัญหาคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกมิติได้อย่างแท้จริง

เปิดรายงาน สศช. คนจนประเทศไทย

จากการเปิดรายงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2564 พบว่าปี 2563 คนจนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น 5 แสนคน เส้นความยากจนขยับลงมาอยู่ที่ 2,762 บาทต่อคนต่อเดือน ภาคใต้ อีสาน เหนือประสบปัญหายากจนรุนแรง แนะรัฐพัฒนาระบบฐานข้อมูลแก้ปัญหาตรงกลุ่มเป้าหมาย พบว่า ในปี 2563 สัดส่วนคนจนที่ดูจากเส้นความยากจน เพิ่มขึ้นเป็น 6.84% จากปี 2562 ที่อยู่ที่ 6.24% คิดเป็นจำนวนคนจน 4.8 ล้านคน จากปี 2562 มีจำนวน 4.3 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 5 แสนคนจากปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กระทบต่อเศรษฐกิจและการจ้างงานอย่างรุนแรง

อีกทั้งยังพบว่า ภาพรวมครัวเรือนทั้งประเทศมีความเปราะบางเพิ่มขึ้น จากความสามารถหารายได้ลดลง สะท้อนจากชั่วโมงการทำงานที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี รวมถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19

20220507-a-01.jpg

ประกอบกับสถานการณ์หนี้สินครัวเรือนที่สูงขึ้นมาก และเงินออมในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยมีแนวโน้มลดลง ทำให้พบว่า ในปี 2563 มีครัวเรือนยากจนเพิ่มขึ้น 7% มาอยู่ที่จำนวน 1.4 ล้านครัวเรือน คิดเป็นสัดส่วน 5.51% ของครัวเรือนทั้งหมด จากปีก่อนหน้ามีครัวเรือนยากจนประมาณ 1.31 ล้านครัวเรือน

สำหรับจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงสุด 10 อันดับแรก ในปี 2563 ได้แก่ ปัตตานี แม่ฮ่องสอน นราธิวาส กาฬสินธุ์ ระนอง นครราชสีมา นครพนม ตาก ยะลา ศรีสะเกษ ตามลำดับ โดยเฉพาะปัตตานี มีสัดส่วนคนจนติดอันดับสูงสุด 10 อันดับแรกมาตั้งแต่ปี 2547 ต่อเนื่องถึงปี 2563 หรือตลอดเวลา 17 ปี

20220507-a-02.jpg

ติดต่อโฆษณา!