เปิดความเชื่อและกิจกรรมวันสงกรานต์ ประวัตินางสงกรานต์และคำทำนาย

เปิดความเชื่อและกิจกรรมวันสงกรานต์ ประวัตินางสงกรานต์และคำทำนาย
Highlight

เปิดความเชื่อ 8 กิจกรรมที่ชาวไทยทำในวันสงกรานต์ วันปีใหม่ไทย เพื่อสืบสานประเพณีที่ดีงาม ที่เชื่อว่าเมื่อทำแล้วชีวิตจะเจริญรุ่งเรือง อยู่เย็นเป็นสุข นางสงกรานต์ 2565 มีชื่อว่า “นางกิริณีเทวี” ทรงพาหุรัดทัดดอกมณฑา อาภรณ์แก้วมรกต ภักษาหารถั่วงา พระหัตถ์ขวาทรงขอ พระหัตถ์ซ้ายทรงปืน เสด็จยืนมาเหนือหลังกุญชร (ช้าง) เป็นพาหนะ เกณฑ์ธัญญาหารชื่อ วิบัติ ทำนายว่า ข้าวกล้าไม่ได้ผล บ้านเมืองจะเกิดยุทธสงคราม จะฆ่าฟันกัน จะนิราชจากกัน จะเสียหายเป็นอันมาก


8 ความเชื่อกิจกรรมที่เหล่าชาวไทยยุคก่อน สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ที่นิยมทำในวันขึ้นปีใหม่ไทยอย่างเทศกาล “สงกรานต์” โดยมีความเชื่อในการทำการสิ่งเหล่านี้ จะทำให้ชีวิตเจริญรุ่งเรืองปลอดโปร่งโล่งสบาย และเป็นการขอขมากรรมไปในตัวได้อีกด้วย 

การทำบุญตักบาตร

ถือว่าเป็นการสร้างบุญสร้างกุศลให้ตัวเอง และอุทิศส่วนกุศลนั้นแก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว การทำบุญแบบนี้มักจะเตรียมไว้ล่วงหน้า นำอาหารไปตักบาตรถวายพระภิกษุที่ศาลาวัด ซึ่งจัดเป็นที่รวมสำหรับทำบุญ ในวันนี้หลังจากที่ได้ทำบุญเสร็จแล้ว ก็จะมีการก่อพระทรายอันเป็นประเพณีด้วย

การรดน้ำ

เป็นการอวยพรปีใหม่ให้กันและกัน น้ำที่รดมักใช้น้ำหอมเจือด้วยน้ำธรรมดา การสรงน้ำพระจะรดน้ำพระพุทธรูปที่บ้านและที่วัด และบางที่จัดสรงน้ำพระสงฆ์ ด้วยบังสุกุลอัฐิ กระดูกญาติผู้ใหญ่ที่ตายแล้ว มักก่อเป็นเจดีย์ แล้วนิมนต์พระไปบังสุกุล

การรดน้ำผู้ใหญ่

คือการไปอวยพรให้ผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ครูบาอาจารย์ ท่านผู้ใหญ่มักจะนั่งลง แล้วผู้ที่รดก็จะเอาน้ำหอมเจือกับน้ำรดที่มือท่าน ท่านจะให้ศีลให้พรผู้ที่ไปรด ถ้าเป็นพระก็จะนำผ้าสบงไปถวายให้ท่านผลัดเปลี่ยนด้วย หากเป็นฆราวาสก็จะหาผ้าถุง ผ้าขาวม้าไปให้

การก่อเจดีย์ทราย

เป็นการนำทรายมาก่อเป็นรูปร่างคล้ายเจดีย์ และประดับด้วยดอกไม้ต่างๆ อันนี้แทบไม่ค่อยได้เห็นในกลุ่มคนเมืองแล้ว 

การปล่อยนกปล่อยปลา

ถือเป็นการล้างบาปที่ทำไว้ เป็นการสะเดาะเคราะห์ร้ายให้มีแต่ความสุขความสบายในวันขึ้นปีใหม่ไทยนั่นเอง

การนำทรายเข้าวัด

ทางภาคเหนือนิยมขนทรายเข้าวัดเพื่อเป็นนิมิตโชคลาภ ให้มีความสุขความเจริญ เงินทองไหลมาเทมาดุจทรายที่ขนเข้าวัด แต่ก็มีบางที่ เชื่อว่าตลอดปี การนำทรายที่ติดเท้าออกวัด เป็นบาป จึงขนทรายเข้าวัดเพื่อไม่ให้เป็นบาป กิจกรรมนี้ เห็นได้ในบางพื้นที่เท่านั้นเอง 

แต่ไม่ว่ากิจกรรมทั้งหมดนี้ จะมีความเชื่ออย่างไร แต่อย่างหนึ่งเชื่อว่า สบายใจแก่ตัวผู้ทำไม่น้อยเลยค่ะ สุขสันต์วันสงกรานต์ ปลอดภัยจากโควิด-19 กันนะคะ

ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษ

การได้ระลึกถึงท่านหรือการทำบุญถือว่าเป็นสิ่งที่ดี การทำบุญในแก่บรรพบุรุษของเราก็ถือว่าเป็นการระลึกถึงและการแสดงถึงความกตัญญูอีกรูปแบบหนึ่ง

ช่วยกันทำความสะอาดบ้านเรือน

ถือว่าเป็นการทำความสะอาดครั้งใหญ่เลยก็ว่าได้ค่ะ คือการทำความสะอาด นำสิ่งไม่ดีออกจากบ้านเรือนของเรา ปัดกวาดเช็ดถู เพื่อที่สิ่งไม่ดีในปีที่ผ่านมาจะหมดไป แล้วจะได้เริ่มต้นอะไร ๆ ใหม่ ๆ ที่ดีกว่าเดิม

เปิดประวัติ นางสงกรานต์ 2565 พร้อมคำทำนาย

ความสำคัญของวันสงกรานต์ นอกจากจะเป็นประเพณีปีใหม่ของไทยตั้งแต่โบราณแล้ว ยังมีตำนานเรื่องนางสงกรานต์ประจำวันในแต่ละปีด้วย ซึ่งปีนี้ตรงกับวันพฤหัสฯที่ 14 เมษายน นางสงกรานต์ 2565 มีชื่อว่า นางกิริณีเทวี หรือ นางกาฬกิณีเทวี โดยมีประวัติและคำทำนายดังต่อไปนี้

ประวัตินางสงกรานต์

ประวัตินางสงกรานต์มีที่มาจากเรื่องเล่าตำนานนางสงกรานต์ โดยอ้างอิงตามจารึกที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามฯ

ตำนานเล่าว่า มีเศรษฐีฐานะร่ำรวยคนหนึ่ง ไม่มีบุตร จึงไปบวงสรวงขอบุตรกับพระอาทิตย์ และพระจันทร์ แต่รอหลายปีก็ไม่มีบุตรสักที จนกระทั่งถึงฤดูร้อนปีหนึ่ง เศรษฐีได้นำข้าวสารซาวน้ำ 7 สี หุงบูชารุกขพระไทร พร้อมเครื่องถวาย และการประโคมดนตรี โดยได้ตั้งจิตอธิษฐานขอบุตร พระไทรได้ฟังก็เห็นใจ จึงไปขอบุตรกับพระอินทร์ให้เศรษฐี ต่อมาเศรษฐีได้บุตรชาย และตั้งชื่อว่า "ธรรมบาลกุมาร"

ธรรมบาลกุมารเป็นคนฉลาดหลักแหลม จนมีชื่อเสียงร่ำลือไปไกล ทำให้ท้าวกบิลพรหมได้ลงมาท้าทายปัญญา โดยได้ถามปัญหากับธรรมบาลกุมาร ให้เวลา 7 วัน หากฝ่ายใดแพ้จะต้องตัดศีรษะบูชา ท้ายที่สุดธรรมบาลกุมารสามารถตอบปัญหาได้ ท้าวกบิลพรหมจึงต้องเป็นฝ่ายตัดศีรษะ แต่หากศีรษะนี้ตกลงพื้นโลก จะเกิดเพลิงไหม้โลก

ท้าวกบิลพรหมจึงสั่งให้บาทบาจาริกาของพระอินทร์ทั้ง 7 นาง สลับหน้าที่หมุนเวียนทำหน้าที่อัญเชิญพระเศียร หรือศีรษะของตนแห่รอบเขาพระสุเมรุปีละ 1 ครั้ง ซึ่งตรงกับช่วงมหาสงกรานต์ โดยนางสงกรานต์ทั้ง 7 มีชื่อ ดังนี้

  • ทุงษเทวี เป็น นางสงกรานต์ประจำวันอาทิตย์
  • โคราดเทวี เป็น นางสงกรานต์ประจำวันจันทร์
  • รากษสเทวี เป็น นางสงกรานต์ประจำวันอังคาร
  • มัณฑาเทวี เป็น นางสงกรานต์ประจำวันพุธ
  • กิริณีเทวี เป็น นางสงกรานต์ประจำวันพฤหัสบดี
  • กิมิทาเทวี เป็น นางสงกรานต์ประจำวันศุกร์
  • มโหทรเทวี เป็น นางสงกรานต์ประจำวันเสาร์

คติความเชื่อ และเรื่องราวประวัติวันสงกรานต์ จึงเชื่อมโยงกับโหราศาสตร์การเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์เข้าสู่ราศีเมษในช่วงวันมหาสงกรานต์ โดยในแต่ละปีก็จะมีชื่อนางสงกรานต์ทั้ง 7 สลับหมุนเวียนกันนั่นเอง

ในอดีต คนไทยให้ความสนใจกับชื่อนางสงกรานต์ในแต่ละปี เนื่องจากส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งจำเป็นต้องพึ่งพาน้ำฝนจากธรรมชาติ คำทำนายต่างๆ จึงเป็นการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับสภาวะต่างๆ เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ที่ส่งผลต่อผลิตผลทางการเกษตร ที่เป็นช่องทางสร้างรายได้หลักของผู้คนในยุคนั้น

นางสงกรานต์ 2565 และคำทำนาย

ในปีนี้ วันมหาสงกรานต์ ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 14 เมษายน 2565 ซึ่งเป็นวันแรกของเทศกาล เป็นวันที่พระอาทิตย์ย้ายออกจากราศีมีน เข้าสู่ราศีเมษ นางสงกรานต์ 2565 นี้มีนามว่า นางกิริณีเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกมณฑา อาภรณ์แก้วมรกต ภักษาหารถั่วงา พระหัตถ์ขวาทรงขอ พระหัตถ์ซ้ายทรงปืน เสด็จยืนมาเหนือหลังกุญชร (ช้าง) เป็นพาหนะ

20220413-a-01.jpg

นางกิริณีเทวี หรือ นางกาฬกิณีเทวี ภาพจาก: กรมส่งเสริมวัฒนธรรม

การเปลี่ยนจุลศักราชใหม่เป็น 1384 ปีนี้ ตรงกับเสาร์ที่ 16 เมษายน เวลา 13 นาฬิกา 49 นาที 48 วินาที มีคำทำนายว่า

  • วันพุธ เป็นธงชัย
  • วันอังคาร เป็นอธิบดี
  • วันอังคาร เป็นอุบาทว์
  • วันพฤหัสบดี เป็นโลกาวินาศ

ส่วนวันอาทิตย์ปีนี้ เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก 400 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 40 ห่า ตกในมหาสมุทร 80 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 120 ห่า ตกในเขาจักรวาล 160 ห่า นาคให้น้ำ 4 ตัว

เกณฑ์ธาราธิคุณ ตกราศีธนู ชื่อ เตโช (ธาตุไฟ) ทำนายว่า น้ำน้อย อากาศยังร้อน  เกณฑ์นาคราชให้น้ำ ปีนี้ นาคราชให้น้ำ 4 ตัว ทำนายว่า ฝนดีตลอดปี

เกณฑ์ธัญญาหารชื่อ วิบัติ ข้าวกล้าในไร่นา จะเกิดกิมิชาติ คือ มีด้วงแมลงรบกวน ข้าวกล้า จะได้ผล 1 ส่วน เสีย 5 ส่วน บ้านเมืองจะเกิดยุทธสงคราม จะฆ่าฟันกัน จะนิราชจากกัน จะเสียหายเป็นอันมาก

กิจกรรมเนื่องในโอกาสวันสงกรานต์

“เทศกาลเย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2565” ประกอบด้วย 2 งานหลัก ได้แก่ งาน “เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2565” และ งาน “Songkran Music Heritage Festival 2022” ซึ่งแต่ละพื้นที่มีเอกลักษณ์และกิจกรรมที่แตกต่างกันไป 

โดยงาน “เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2565” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-17 เมษายน 2565 ณ วัด 10 วัด ในกรุงเทพมหานคร ได้แก่ ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร วัดราชนัดดารามวรวิหาร วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร กรุงเทพมหานคร โดยนำเสนอภาพลักษณ์อันงดงามตามขนบธรรมเนียมประเพณีสงกรานต์ ภายใต้แนวคิด “สงกรานต์วิถีใหม่ แต่งไทยเที่ยววัด”

ส่วน งาน “Songkran Music Heritage Festival 2022” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-21 เมษายน 2565 ใน 2 พื้นที่ ได้แก่ บริเวณเมืองเก่า จังหวัดสงขลา และวัดพระราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สะท้อนอัตลักษณ์ของมรดกทางวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม และภูมิปัญญาไทย ร่วมกับนวัตกรรมใหม่ในพื้นที่มรดกโลกอันทรงคุณค่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และส่งต่อไปยังจังหวัดสงขลา เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการขึ้นทะเบียนมรดกโลกต่อไป

นอกจากเทศกาลสงกรานต์ 2 งานดังกล่าวแล้ว ยังมีการจัดงานเทศกาลสงกรานต์ ปี 2565 ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เช่น งานไอคอนสยาม มหัศจรรย์เจ้าพระยา มหาสงกรานต์ 2565 ณ ศูนย์การค้าไอคอนสยาม กรุงเทพมหานคร (จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8 -17 เมษายน 2565) 

งาน Water Festival เทศกาลวิถีน้ำ…วิถีไทย ใน 6 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ลำพูน อุดรธานี ขอนแก่น และภูเก็ต (จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 -15 เมษายน 2565) 

งาน Thailand’s Songkran Festival 2022 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวสเกต เซ็นทรัลอยุธยา เซ็นทรัลเชียงใหม่แอร์พอร์ต และเซ็นทรัลนครศรีธรรมราช (จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-17 เมษายน 2565) 

และงานประเพณีสงกรานต์พระประแดง ประจำปี 2565 จังหวัดสมุทรปราการ (จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-24 เมษายน 2565) เป็นต้น

สำหรับประเพณี “สงกรานต์” เป็นประเพณีสำคัญที่ยึดถือปฏิบัติสืบเนื่องกันมาแต่โบราณและเป็นวัฒนธรรมประจำชาติที่งดงาม โดดเด่น เป็นขนบธรรมเนียมที่มีความงดงาม อ่อนโยน เอื้ออาทร และเต็มไปด้วยบรรยากาศของความกตัญญูการแสดงความเคารพ การให้เกียรติกันโดยใช้น้ำซึ่งมีคุณูปการต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ เป็นสัญลักษณ์ของความสะอาด ความบริสุทธิ์และความเย็น สดชื่น เป็นสื่อในการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างกัน การรักษาคุณค่าทางใจ ความมีน้ำใจ การมีสัมมาคารวะและกตัญญูการช่วยเหลือเกื้อกูลต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นการสร้างเสริมสายใยครอบครัว สังคมและประเทศชาติ

ข้อมูลอ้างอิง : ฝ่ายโหรพราหมณ์ กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง, My Hora,กรมประชาสัมพันธ์

ติดต่อโฆษณา!