12 กุมภาพันธ์ 2565
14,766

ทำไมคนไทยมีลูกลดลงอย่างน่าใจหาย 20 ปีข้างหน้าอาจเหลือเพียง 36 ล้านคน

ทำไมคนไทยมีลูกลดลงอย่างน่าใจหาย 20 ปีข้างหน้าอาจเหลือเพียง 36 ล้านคน
Highlight

เมื่อเร็วๆ นี้มีรายงานข่าวอัตราการเกิดของประเทศไทยปี 2564 จากสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า ประเทศไทยมีจำนวนเด็กเกิดใหม่อยู่ที่ 544,570 คน ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่มีการเก็บสถิติ อัตราการเกิดลดลงอย่างน่าใจหายเมื่อเทียบกับ 28 ปีก่อน หรือในช่วง 3536-2537 ที่อัตราการเกิดเกิน 950,000 คน พบว่าอัตราการเกิดของประเทศไทยนั้นลดลงไปมาก


หนุ่มสาวยุคนี้มีลูกลดลงถึง 400,000 คน ต่ำสุดในรอบ 28 ปี ดูแล้วเป็นสถิติที่น่าตกใจไม่น้อย และอาจจะลดลงได้เรื่อยๆ หรือไม่  ปัญหาคนรุ่นใหม่มีลูกลดลงนี้ มีมาสักระยะหนึ่งแล้ว และถึงแม้ว่าในปี 2563 รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการมีบัตร ถึงขั้นที่ว่า ต้องออกมาตรการส่งเสริมการมีบุตร ที่เรียกว่า “ปั้มลูกเพื่อชาติ” โดยให้แรงจูงใจต่างๆ แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้อัตราการเกิดใหม่เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

ต้องยอมรับว่าในยุคนี้ค่านิยม ทัศนคติ และการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ภาวะเศรษฐกิจ เป็นปัจจัยส่งผลให้หนุ่มสาวนิยมอยู่เป็นโสดกันมากขึ้น บ้างก็แต่งงานช้า แต่งงานช้า ความกังวลเรื่องความมั่นคงในหน้าที่การงาน หรือการที่ผู้หญิงยุคใหม่ มีการศึกษาดี กน้าที่การงานดี ไม่อยากทิ้งอนาคตหน้าที่การงานเป็นแม่บ้านเลี้ยงลูก จึงชะลอการมีลูก

อีกสาเหตุหนึ่งก็เพราะสถานการณ์โควิด-19 ที่ผู้คนหวั่นวิตกจึงไม่กล้ามีลูก ในช่วงนี้ กังวลเกี่ยวกับภาวะความไม่แน่นอน และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่ทำให้โลกไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เป็นปัจจัยซ้ำเติมให้ชะลอการมีลูก

20210212-a-01.jpg

ขณะที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ปี 2564 ถือเป็นปีแรกที่อัตราการเกิดและตายเท่าๆ กัน จากนั้นในปีต่อๆ ไปอัตราการเกิดจะน้อยกว่าอัตราการตาย หากอัตราการเกิดบ้านเรายังต่ำเช่นนี้ คาดการณ์ว่าอีก 20 ปีข้างหน้า ประชากรไทยจะเหลือเพียง 36 ล้านคน

เรื่องการมีเด็กเกิดน้อยลงนี้ ไม่ได้เป็นปัญหากับประเทศไทยประเทศเดียว แต่ลองมาดูที่ญี่ปุ่น เด็กเกิดใหม่ในญี่ปุ่นลดลงอยู่ที่ 840,832 คนในปี 2020 ซึ่งเป็นปีที่มีโควิดระบาดอย่างหนักหน่วง คนเกิดน้อยที่สุดนับตั้งแต่กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นเริ่มทำสำรวจมาตั้งแต่ปี 1899 อาจเรียกได้ว่า มีคนเกิดน้อยลงมากที่สุดในรอบ 100 กว่าปี 

การเกิดลดลงจากปีก่อนหน้า 24,407 คน ถือว่าเป็นการเกิดที่ลดต่ำกว่า 900,000 คนเป็นครั้งแรก ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการเผยให้เห็นว่าแนวโน้มคนสูงวัยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อัตราการเจริญพันธุ์อยู่ที่ 1.34 ลดลง 0.02 จุดจากปี 2019 และจำนวนการแต่งงานลดลง 73,517 เป็น 525,490 ต่ำสุดในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

นอกจากนี้ จำนวนการแต่งงานลดลงในปี 2020 ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปีซึ่งโรคระบาดก็ถือเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนเลื่อนการแต่งงานออกไปด้วย 

20210212-a-02.jpg

งานวิจัยของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา รายงานว่า จำนวนประชากรทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในอีก 44 ปี ข้างหน้า อยู่ที่ราว 9.7 พันล้านคน ก่อนที่จะลดฮวบลงมาราว 900 ล้านคนภายในปี พ.ศ. 2643 หรือราว 80 ปีข้างหน้า ทำให้ทั่วโลกเหลือประชากรเพียงประมาณ 8.8 พันล้านคน โดยเฉพาะในภูมิภาคยุโรป และเอเชียตะวันออกที่ประชากรจะลดลงเกือบครึ่งหนึ่ง ผลพวงมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง
 
โดยประเทศไทย ประชากรจะลดลงจาก 71 ล้านคน เหลือ 35 ล้านคน ซึ่งเมื่อเด็กเกิดน้อย ปัญหาใหญ่ที่ตามมาคือคนวัยทำงานลดน้อยลงจนไม่เพียงพอ ส่งผลให้อัตราการเติบโตของจีดีพีลดลง ต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติมากขึ้น 

แต่ประเด็นเฉพาะที่เพิ่มเติมขึ้นมาสำหรับบ้านเราก็คือ เด็กที่เกิดน้อยนี้ส่วนหนึ่งยังด้อยคุณภาพอีก

โครงสร้างและรูปแบบเปลี่ยนไปยังพอจะหาแนวทางอื่น ๆ ทดแทนในเชิงโครงสร้างได้ แต่ถ้าเกิดปัญหาเรื่องคุณภาพด้วย นั่นแหละคือปัญหาใหญ่ที่บ้านเรากำลังเผชิญ

ปัญหาเด็กด้อยคุณภาพที่ทำให้บ้านเรากำลังเผชิญปัญหาหนักมากเรื่องสภาพสังคม พอจะประมวลมาจากสาเหตุต่าง ๆ ที่ไม่พร้อม ดังนี้

กลุ่มแรก – ท้องไม่พร้อม 

เมื่อคนท้องไม่พร้อม แน่นอนปัญหาที่ตามมาก็มีมากมาย เพราะเด็กที่เกิดมาท่ามกลางความไม่พร้อม ก็มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบทั้งทางด้านอารมณ์ สติปัญญา พฤติกรรม และสังคม 

กลุ่มสอง – ครอบครัวไม่พร้อม

กลุ่มที่หย่าร้าง และกลุ่มที่ไม่มีเวลาเลี้ยงลูกเองต้องทำมาหากินด้วย บางคนสามารถจัดการปัญหา และรับมือได้ดี แต่บางคนก็ไม่สามารถรับมือกับปัญหาได้ เพราะฉะนั้น เด็กก็มีความเสี่ยงที่มีปัญหาทางด้านจิตใจ 

กลุ่มสาม – ความรู้ไม่พร้อม

เกิดขึ้นทั้งกลุ่มพ่อแม่ที่มีฐานะยากจน และกลุ่มพ่อแม่ที่มีฐานะทางการเงินดี แต่เลี้ยงลูกไม่เหมาะสม มีทั้งตามใจลูก บังคับเกินไป ขีดเส้นให้ลูกเดิน ฯลฯ

ในเมื่อเด็กเกิดน้อยลงแต่เสี่ยงด้อยคุณภาพ แล้วทิศทางอนาคตของบ้านเราจะเป็นอย่างไร 

ปัญหาเรื่องปริมาณการเกิดไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ อีกต่อไป สิ่งที่ต้องเร่งแก้ปัญหาก็คือ “ทำให้ปริมาณน้อยแต่มีคุณภาพ” ให้ได้

ทำไมคนยุคใหม่ไม่อยากมีลูก 

คนยุคใหม่คนหรือคนที่ถูกเรียกว่า Millennials หรือ Generation Y ว่า Gen Y คือคนที่เกิดมา ปี ค.ศ. 1980-2000 โดยประมาณเป็นกลุ่มคนที่เกิดมาในโลกที่มีการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี มักแสวงหาข้อมูลด้วยความเชื่อตัวเอง ยึดพื้นฐานข้อมูลที่สืบค้นมา ไม่ค่อยเชื่อคำสอนเก่าๆ และเป็นยุคที่สนใจในการพัฒนาตัวเอง แล้วทัศนคติเฉพาะตัว ส่งผลให้ คนยุคใหม่ไม่มีลูก ได้อย่างไร? 

หากย้อนเวลากลับไปเมื่อพูดถึง “ผู้หญิง” ภาพลักษณ์ของพวกเธอในครอบครัวตั้งแต่ในอดีต คือ ต้องเรียบร้อยเป็นแม่ศรีเรือน เป็นกุลสตรี มีหน้าที่ดูแลบ้าน ดูแลสามีและลูกๆ ขณะที่ ภาพจำของ “ผู้ชาย” คือ ผู้นำครอบครัว ดังคำกล่าวที่ว่า ผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้า ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง 

นอกจากนั้น อีกหนึ่งความเชื่อที่ถ่ายทอดกันมาว่าเป็นเรื่องที่ดี คือ เมื่อชาย-หญิง แต่งงานกันแล้ว จะมีความเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์ก็ต้อง “มีลูกเต็มบ้าน มีหลานเต็มเมือง” จึงไม่น่าแปลกใจที่ในทุกงานมงคลสมรส ญาติผู้ใหญ่จะอวยพรคู่บ่าวสาวด้วยคำๆ ที่ว่านี้ 

ในยุคปัจจุบัน หากใครอวยพรด้วยคำกล่าวนี้ คู่สมรสอาจไม่ได้ซาบซึ้ง หรือคิดว่าหลังแต่งงานจะสร้างครอบครัวในรูปแบบนี้แล้ว เพราะคนยุคใหม่ต่างตัดสินใจที่จะไม่มีลูกกันมากขึ้นเรื่อยๆ

สถิติที่บ่งชี้ถึงปัญหาอัตราการเกิดต่ำทั่วเอเชีย อัตราการเจริญพันธุ์ที่ลดลง เช่น ประเทศไทยมีอัตราการมีบุตรอยู่ที่ 2 คนต่อผู้หญิง 1 คน ในทำนองเดียวกันตัวเลขคนโสดในสิงคโปร์ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมากในทุกช่วงอายุ 

20210212-a-03.jpg

ซึ่งในผู้หญิงอายุ 25-29 ปี มีสูงถึง 64.4% ที่ยังไม่แต่งงาน และผู้ชายอายุ 25-29 ปีซึ่งสูงถึง 78.8% อีกทั้ง 3 ใน 10 ของผู้หญิงชาวญี่ปุ่นอายุระหว่าง 30-34 ปี เลือกที่จะโสดไปตลอดชีวิต ซึ่งมีจำนวนสูงขึ้นถึง 3 เท่าจากปี 1985

ในขณะเดียวกันประเทศร่วมทวีป อย่าง สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้มี ปรับนโยบายประชากรครั้งใหญ่ อนุญาตคู่แต่งงานมีบุตรได้ 3 คน สืบเนื่องมาจากอัตราการมีบุตรของชาวจีนกำลังลดลงอย่างรวดเร็ว 

เมื่อปี ค.ศ. 2016 จีนยกเลิกนโยบายลูกคนเดียวที่ใช้มานานหลายสิบปี และอนุญาตให้ประชาชนมีบุตรได้ไม่เกิน 2 คน แต่ก็ยังไม่สามารถช่วยให้อัตราการเกิดเพิ่มขึ้นได้เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตรเพิ่มสูงขึ้นมาก ทั้งนี้การปรับนโยบายใหม่มาพร้อมกับมาตรการช่วยเหลือหลายด้านเพื่อพัฒนาโครงสร้างด้านประชากรของจีน ให้สมดุลที่สุด

สถิติเกี่ยวข้องที่น่าสนใจ 

  • ผลการสำรวจชี้ให้เห็นว่าผลจากอัตราการเกิดที่ลดต่ำลง ผู้หญิงไทยมีบุตรเฉลี่ย 6.1 คน ในช่วงปี 2558 ลดลงเหลือเพียง 1.5 คน
  • กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ข้อมูลทางสถิติย้อนหลัง 3 ปี พบว่า ปี 2563 จำนวนการเกิดของเด็กไทย ลดต่ำกว่า 600,000 คน
  • ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คือจากปี 2553 ถึงปี 2563 ประชากรเด็กและวัยรุ่นได้ลดจาก 17.2 ล้านคน เหลือ 15.1 ล้านคน
  • สัดส่วนของประชากรเด็กและวัยรุ่นต่อประชากรทั้งหมดของประเทศเราคิดเป็นร้อยละ 23.3 เท่านั้น ต่ำที่สุดเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์

อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงในเมืองมีการสมรสสูงกว่าในผู้หญิงในชนบท โดยใน ปี 2560 พบว่าอายุเฉลี่ยของการสมรสของ ผู้หญิงในกรุงเทพฯ เฉลี่ยอายุที่ 25 ปี ขณะที่จำนวนครั้งที่แต่งงาน พบว่าในปี 2544 สมรส 1 ครั้ง 90% และอีก 10% สมรสมากกว่า 1 ครั้ง แต่ผ่านมากว่า 10 ปีใน ปี 2560 พบว่า สมรส 1 ครั้ง 80% และ20% สมรสมากกว่า 1 ครั้ง ขณะที่แนวโน้มของผู้หญิงที่ไม่แต่งงานและอยู่เป็นโสดเพิ่มมากขึ้น คือช่วงอายุ 35-39 ปี หรือในช่วง Generation Y นั่นเอง

สธ.เล็งจัดระบบรักษามีลูกยาก ให้คำปรึกษาได้ตั้งแต่ รพ.สต. ฉีดน้ำเชื้อ รพ.จังหวัด

เรื่องเด็กเกิดน้อย คนรุ่นใหม่ไม่อยากมี ลูกกลายเป็นปัญหาระดับชาติไปแล้ว  กระทรวงสาธารณสุข เล็งจัดระบบรักษามีลูกยาก ให้คำปรึกษาได้ตั้งแต่ รพ.สต. ส่วน รพ.ชุมชนเน้นตรวจคัดกรอง รพ.จังหวัดทำหัตถการฉีดน้ำเชื้อ หากต้องใช้เทคโนโลยีส่งต่อไประดับเขต หวังลดเหลื่อมล้ำ เพิ่มการเข้าถึง ชี้สิทธิบัตรทองครอบคลุมอยู่แล้ว แค่ยังไม่มีระบบเชื่อมโยง หวังช่วยลดปัญหาเด็กเกิดน้อย

เมื่อวันที่ 3 ก.พ. ที่ผ่านมา นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงกรณีปัญหาอัตราการเกิดของประเทศไทยลดลง ว่า ขณะนี้เด็กเกิดน้อยลงเรื่อย ๆ อยู่ระหว่าง 5.6-5.8 แสนราย 

อัตราการเจริญพันธุ์รวมเพียง 1.24 ทั้งที่ควรอยู่ที่ 1.6 ขณะที่ปัจจุบันเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดย 1 ใน 5 ของประชากรเป็นผู้สูงอายุหรือ 12 ล้านคน อีกไม่กี่ปีจะเป็น 1 ใน 4 ของประชากร 

ซึ่งระยะแรกต้องชะลออัตราการเกิดน้อยให้ได้ก่อน ซึ่งจากการสำรวจพบว่า คนอยากมีลูก แต่อยากให้มีการสนับสนุนทางด้านเศรษฐกิจ และสังคมด้วย มีสถานรับเลี้ยงเด็กอายุน้อยกว่า 3 ขวบ เข้าถึงบริการให้คำปรึกษา รักษาภาวะมีบุตรยาก

สำหรับเรื่องค่าใช้จ่ายนั้นตามมติของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) วันที่ 1 พ.ย. 2564 ระบุว่าบริการให้คำปรึกษาการรักษาเบื้องต้น การตรวจโรคที่เป็นสาเหตุของการมีบุตรยาก และรักษา รวมถึงการฉีดน้ำเชื้ออยู่ในชุดสิทธิประโยชน์แล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมายังไม่เคยจัดกระบวนการอย่างเป็นระบบ

นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า จากข้อมูลพบว่ามีคนกลุ่มหนึ่งที่พร้อมจะมีลูก แต่มีความยากลำบากที่จะมีได้ โดยกว่า 80% สามารถแก้ไขได้ในระดับของการให้คำปรึกษา วางแผน การนับช่วงเวลาตกไข่ การให้ยากระตุ้นการตกไข่ และการฉีดน้ำเชื้อ ส่วนอีก 20% ยังต้องมีการประเมินเป็นรายๆ เพื่อเข้ารับการใช้เทคโนโลยี 

ซึ่งเรื่องนี้ต้องแก้ไขกันอย่างจริงจัง ทั้งสิทธิการเข้าถึงบริการ การตั้งครรภ์คุณภาพ ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก การเบิกค่ารักษาส่วนนี้ได้ ลงการดูแลเรื่องเศรษฐกิจ หรือคุณภาพของเด็ก การเข้าถึงสวัสดิการต่าง ลดความเหลื่อมล้ำ อาจจะพอบรรเทาความกังวลคนรุ่นใหม่ให้มีลูกเพิ่มขึ้นได้ 

อ้างอิง : กระทรวงสาธารณสุข, MGR online, Brand Inside, SALIKA

ติดต่อโฆษณา!