23 พฤศจิกายน 2564
1,949

สอวช. แนะสถาบันอุดมศึกษาควรเพิ่ม 5 ทักษะเรียนรู้ จัดรูปแบบการเรียนให้เหมาะสม เพื่อให้ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศในอนาคต

สอวช. แนะสถาบันอุดมศึกษาควรเพิ่ม 5 ทักษะเรียนรู้ จัดรูปแบบการเรียนให้เหมาะสม เพื่อให้ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศในอนาคต
Highlight

สอวช.เสนอสถาบันอุดมศึกษาควรจัดรูปแบบการเรียนที่เหมาะสมกับสภาวะการ และเพิ่ม 5 ทักษะการเรียนรู้  ให้มีหลักสูตรการเรียนแบบไม่มุ่งปริญญา (Non-degree) เพื่อรองรับประชากรที่จะมีชีวิตยืนยาวขึ้นและมีแนวโน้มทำงานมากกว่าหนึ่งอาชีพ ดังนั้นควรมุ่งเน้นสาขาและทักษะเพื่อตอบโจทย์เหล่านี้ ได้แก่ 

  • ทักษะด้านเทคโนโลยี 
  • ทักษะด้านสังคมและอารมณ์
  • ทักษะและคุณลักษณะของ Lifelong learner
  • ทักษะที่ทำให้มีภูมิคุ้มกันต่อภาวะวิกฤติต่าง ๆ  
  • ทักษะของคนในศตวรรษที่ 21 (3R x 7C)


สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เสนอสถาบันอุดมศึกษาควรจัดรูปแบบการเรียนที่เหมาะสมสอดคล้องกับสภาวะการ เพื่อเพิ่มองค์ความรู้และเทคโนโลยีซึ่งมีแนวโน้มจะเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว และรูปแบบวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปสู่วิถีแบบหลายช่วง (Multistage-life) เนื่องจากประชากรมีแนวโน้มที่จะมีอายุยืนยาวขึ้น และมีแนวโน้มที่จะทำงานมากกว่าหนึ่งอาชีพในตลอดช่วงชีวิต 

ดังนั้นการเรียนจากระบบการศึกษาเพียงครั้งเดียวเพื่อใช้งานตลอดชีวิตจึงไม่เพียงพอ รูปแบบการเรียนรู้จะเปลี่ยนไปสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning) ที่ตอบโจทย์การเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัย เพื่อให้คนได้พัฒนาทักษะให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

สถาบันอุดมศึกษาจึงต้องปรับตัวรองรับสถานการณ์ดังกล่าว เพื่อให้ประเทศมีกำลังคนที่มีคุณภาพและเพียงพอ สามารถตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ โดยมีประเด็นที่สำคัญที่มีผลกระทบต่อการปรับแนวทางจัดการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษา ดังนี้

1. การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อให้ประเทศไทยสามารถหลุดพ้นจากกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ต้องอาศัยกำลังคนที่มีองค์ความรู้ที่เป็นวิทยาการสมัยใหม่ ต้องการบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญและมีองค์ความรู้ในลักษณะข้ามศาสตร์ สถาบันอุดมศึกษาจึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพด้านเทคโนโลยีมาร่วมจัดการศึกษาเพื่อพัฒนากำลังคนให้ตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมได้

2. รูปแบบวิถีชีวิตแบบหลายช่วง ซึ่งแต่ละช่วงอาจจะมีทั้งการเรียน การทำงาน และการพักผ่อนผสมผสานกัน สถาบันอุดมศึกษาจึงต้องปรับแนวทางการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับรูปแบบวิถีชีวิตดังกล่าว โดยการจัดการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น สามารถศึกษาได้จากช่องทางออนไลน์ มีปริมาณของหลักสูตรที่พอเหมาะ (Bite-sized learning) เพื่อตอบโจทย์ภาระด้านการงานและชีวิตส่วนตัว 

3. การจัดการศึกษาในภาวะวิกฤต เช่น การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่สถาบันอุดมศึกษาต้องปรับตัวให้มีความยืดหยุ่นในการจัดการศึกษา มีช่องทางหรือรูปแบบการจัดการศึกษาที่หลากหลาย ผู้เรียนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้ทุกสถานที่ ทุกเวลา เช่น การใช้ระบบออนไลน์เข้ามาแทนที่การเรียนในห้องเรียนบางส่วน

สำหรับการปรับทิศทางของสถาบันอุดมศึกษา ได้แก่ แนวทางการจัดหลักสูตรการเรียนแบบไม่มุ่งปริญญา (Non-degree) เพื่อรองรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต ขยายกลุ่มเป้าหมายจากที่มุ่งเน้นตอบโจทย์เฉพาะกลุ่มวัยเรียนไปสู่คนทุกช่วงวัย ส่งเสริมให้การเรียนรู้สามารถเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา กระจายโอกาสการเข้าถึงการศึกษาและการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ เน้นการเพิ่มทักษะหรือการเปลี่ยนทักษะ (upskill/reskill) เพื่อให้คนมีทักษะที่ตอบโจทย์เศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป มีทักษะและความรู้ที่หลากหลาย ยืดหยุ่น สามารถปรับตัวรองรับความต้องการของตลาดงานที่ถูกกระทบด้วยภาวะวิกฤตต่าง ๆ ได้ 

อีกแนวทางหนึ่งคือการผลิตบัณฑิตฐานสมรรถนะ เป็นการจัดการศึกษาร่วมกับสถานประกอบการ เน้นสร้างทักษะและสมรรถนะให้บัณฑิตพร้อมสู่โลกการทำงาน และมีทักษะและสมรรถนะที่ตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม

ในส่วนของทักษะที่ควรมุ่งเน้น แบ่งออกได้เป็น 5 ส่วน ได้แก่

1. ทักษะด้านเทคโนโลยี เช่น พื้นฐานคอมพิวเตอร์ การวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมการออกแบบและการซ่อมบำรุงด้านเทคโนโลยี ไอทีและการเขียนโปรแกรมขั้นสูง 

2. ทักษะด้านสังคมและอารมณ์ เช่น การมีมนุษยสัมพันธ์และความเห็นอกเห็นใจ ความเป็นผู้นำและการบริหารจัดการคน การสื่อสารและการต่อรองขั้นสูง ความเป็นผู้ประกอบการ การปรับตัวและการเรียนรู้ต่อเนื่อง การสอนและการฝึกอบรมผู้อื่น และทักษะเชิงพฤติกรรมขั้นสูง เช่น ความคิดสร้างสรรค์ การคิดและการตัดสินใจอย่างมีวิจารณญาณ

3. ทักษะและคุณลักษณะของ Lifelong learner เช่น growth mindset การเป็นผู้เรียนรู้แบบนำตนเอง (self-directed learner) และความสามารถในการ learn-unlearn-relearn

4. ทักษะที่ทำให้มีภูมิคุ้มกันต่อภาวะวิกฤติต่าง ๆ เช่น ความยืดหยุ่นและการปรับตัว ความคล่องแคล่ว ปรับเปลี่ยน และตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว

5. ทักษะของคนในศตวรรษที่ 21 (3R x 7C) ส่วนที่เป็น 3R คือ Reading (อ่านออก), (W)Riting (เขียนได้) และ (A)Rithemetics (คิดเลขเป็น) ส่วน 7C ได้แก่ Critical Thinking and Problem Solving (ทักษะด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และทักษะในการแก้ปัญหา) Creativity and Innovation (ทักษะด้านการสร้างสรรค์ และนวัตกรรม) Cross-cultural Understanding (ทักษะด้านความเข้าใจความต่างวัฒนธรรม ต่างกระบวนทัศน์) Collaboration, Teamwork and Leadership (ทักษะด้านความร่วมมือ การทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำ) Communications, Information, and Media Literacy (ทักษะด้านการสื่อสารสารสนเทศ และรู้เท่าทันสื่อ) Computing and ICT Literacy (ทักษะด้านคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร) Career and Learning Skills (ทักษะอาชีพ และทักษะการเรียนรู้)

ที่มา : สอวช.

ติดต่อโฆษณา!