19 พฤศจิกายน 2564
1,753

แบงก์ชาติย้ำ ไทยต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจหลังโลกเปลี่ยน

แบงก์ชาติย้ำ ไทยต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจหลังโลกเปลี่ยน
Highlight
โลกกำลังเปลี่ยนเข้าสู่ยุคที่ใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อน แทนภาคการผลิตในรูปแบบเดิมๆ ซึ่งประเทศไทยเอง ในมุมมองของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย จำเป็นต้องปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจหลายด้าน เพื่อให้ยังเติบโตต่อได้ เช่นเดียวกับแบงก์ชาติเอง ก็ต้องปรับเกณฑ์ด้านการเงินต่างๆ ให้สอดคล้องเช่นกัน ทันข่าว Today นำมุมมองผู้ว่า ธปท. เกี่ยวกับอนาคตเศรษฐกิจไทยมาฝากกันครับ

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในการปาฐกถาพิเศษ Looking Beyond Covid-19 โจทย์ที่ท้าทายของเศรษฐกิจไทยหลังยุคโควิด-19 ว่า บริบทของโลกที่เปลี่ยนไป หากไทยไม่เร่งยกระดับเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจ อาจทำให้เศรษฐกิจไทยโตในอัตราที่ชะลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลง ส่งผลทำให้เครื่อยนต์ทางเศรษฐกิจของไทยอาจไม่แข็งแรงเหมือนเดิม สะท้อนจากการส่งออกที่ปัจจุบันพบว่า เวียดนามแซงหน้าไทยไปค่อนข้างมาก ขณะเดียวกัน สินค้าของไทยยังไม่ eco-friendly จึงอาจไม่เป็นที่ต้องการของตลาดที่เริ่มให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ขณะที่การลงทุนโดยตรง (FDI) ยังพบว่า เวียดนามแซงไทยไปตั้งแต่ปี 57 โดยพบว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา FDI ของเวียดนามสูงกว่าไทยเกือบ 2 เท่า โดย FDI ของไทยที่ลดลงเป็นผลจากความน่าสนใจของไทยที่น้อยกว่าคู่แข็งในภูมิภาค ทั้งด้านต้นทุนและคุณภาพของแรงงาน โครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมสูงวัย รวมถึงสิทธิประโยชน์ทางการค้า

ด้านภาคการท่องเที่ยว ต้องใช้เวลานาน ที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับไปเท่ากับช่วงก่อนโควิด-19 ที่ 40 ล้านคน เพราะพฤติกรรมนักท่องเที่ยวหลังโควิด จะเน้นเรื่องสุขภาพและสุขอนามัย ทำให้นิยมเที่ยวกลุ่มเล็ก รวมทั้งจะใช้เทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มความสะดวกสบายมากขึ้น ดังนั้น การจะหวังพึ่งพารายได้การท่องเที่ยวที่มาจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่สูงจะเป็นไปได้ยาก และยังจะก่อให้เกิดปัญหาเรื่อง over-tourism

ปัญหาต่างๆ นั้น ทำให้ไทยจะต้องเร่งปรับโครงสร้าง และเร่งยกระดับเครื่องยนต์ โดยเฉพาะประสิทธิภาพของแรงงาน ขณะเดียวกัน ไทยจะต้องมีการลงทุนเพิ่ม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานต่างๆ เนื่องจากเมื่อเข้าสู่สังคมสูงวัยไปเรื่อยๆ ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะยิ่งชะลอตัวลงจากจำนวนแนงงานจะหดตัวมากขึ้นเรื่อยๆ

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ดังนั้น Growth story ของไทยจะต้องเน้นการเติบโต หรือด้านที่ไทยมีศักยภาพในการต่อยอด โดยเอาสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์มาเป็นจุดแข็ง โดยไทยมีความพร้อมด้านทุนวัฒนธรรมที่สะสมอยู่มากและมีความหลากหลายสูง ทั้งอาหาร แหล่งท่องเที่ยว และศิลปหัตถรรม ซึ่งสามารถนำมาต่อยอด เพื่อเพิ่มคุณค่าและมูลค่าทางเศรษฐกิจได้

สำหรับในระยะข้างหน้ามีอย่างน้อย 2 กระแสที่จะเข้ามากระทบกับการวาง Growth story ของไทย คือ
1.กระแสดิจิทัลที่จะเข้ามาเปลี่ยนการใช้ชีวิตของประชาชน และการดำเนินธุรกิจอย่างสิ้นเชิง 
2.กระแส sustainability โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่ส่งผลเร็วและแรงกว่าคาด ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ทำให้ภัยธรรมชาติเกิดบ่อยและรุนแรงขึ้น รวมถึงผลกระทบจากนโยบายต่างๆ ของประเทศพัฒนาแล้วในการบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อน

โดย Growth story ข้างหน้า จะต้องเน้นการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม หรือ inclusive growth เพื่อให้เศรษฐกิจมีความทนทานต่อความท้าทายต่างๆได้มากขึ้น เช่น ภาคการท่องเที่ยว ที่รายได้เติบโตจากปริมาณนักท่องเที่ยวเป็นหลัก รวมทั้งมีการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวจากบางประเทศ บางช่วงเวลา และบางจุดหมาย โดยเกือบ 80% ของนักท่องเที่ยวเดินทางไปเพียง 5 จังหวัดท่องเที่ยวเป็นหลัก จนกลายเป็นปัญหา over-tourism

ดังนั้นไทยจึงต้องปรับโมเดลให้มีภูมิคุ้มกันในระยะยาว โดยเพิ่มรายได้ต่อหัวเพื่อชดเชยจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะลดลง ในการเพิ่มรายได้นี้ ไทยควรต่อยอดจากจุดแข็ง ด้านธรรมชาติ culture และ hospitality ให้รวมไปถึงการสร้าง high value man-made attraction และexperience ต่าง ๆ ด้วยการลงทุนในเทคโนโลยี นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง

นอกจากนี้ การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน เช่น กลุ่ม green หรือ community-based tourism ที่เน้นดึงดูดนักท่องเที่ยวด้วยอัตลักษณ์และนวัตกรรมท้องถิ่น จะช่วยสร้างและกระจายรายได้ สูงกว่าการท่องเที่ยวแบบเดิม จึงต้องเร่งปรับโครงสร้างและเพิ่มการลงทุนเพื่อรองรับโมเดลนี้ เช่น การปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยว การลงทุนในระบบคมนาคมเพื่อเชื่อมเมืองรอง การลงทุนด้านดิจิทัลเพื่อตอบโจทย์กระแส contactless รวมถึงการยกระดับแพลตฟอร์มด้านการท่องเที่ยวเพื่ออำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม การทำให้ Growth story ที่เน้นการต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดขึ้นได้จริง ทุกภาคส่วนจะต้องเร่งทำบทบาทของตัวเอง และร่วมมือกันในการผลักดันการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ให้สามารถรองรับกับความท้าทายได้ดีขึ้นในอนาคต โดยภาครัฐจะต้องปรับเข้าสู่โหมด facilitator ปล่อยให้กลไกตลาดทำงานเองมากขึ้น เพื่อสร้างระบบนิเวศ หรือ ecosytem ที่สนับสนุนและผลักดันให้ภาคธุรกิจปรับตัว และเศรษฐกิจโตอย่างเข้มแข็ง โดยการตั้งธงหรือวางทิศทางนโยบายให้ชัดเจน เพื่อให้ธุรกิจเห็นภาพเดียวกันและวางแผนปรับตัวได้ รวมถึงการเร่งวางรากฐานเพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจและประชาชน

ด้านภาคธุรกิจ ถือเป็นผู้เล่นสำคัญที่จะตัดสินใจยกระดับธุรกิจ ปรับรูปแบบกิจการ หรือวางแผนการลงทุนใหม่ โดยต้องให้น้ำหนักกับทั้งกระแสดิจิทัลที่ทำให้ธุรกิจต้องแข่งกันมากขึ้น และการปรับตัวเข้าสู่มาตรฐานต่างๆ อย่างจริงจังและทันท่วงที

ขณะที่ธนาคารพาณิชย์และตลาดทุนมีบทบาทสำคัญในการจัดสรรทรัพยากรทางการเงินให้สนับสนุนการปรับธุรกิจให้สอดคล้องกับกระแสในอนาคต ด้วยการสนับสนุนสินเชื่อหรือเงินทุนแก่ผู้ประกอบการ เพื่อนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ปรับธุรกิจ หรือมุ่งสู่การผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ด้านธปท.ในฐานะผู้กำกับดูแลระบบการเงินก็ต้องปรับตัว โดยเฉพาะการเพิ่มบทบาทในการเป็น facilitator และลดความเข้มงวดของกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อสนับสนุนการปรับตัวของภาคธุรกิจ รวมถึงเอื้อให้ทุกภาคส่วน ได้ประโยชน์มากที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงภายใต้กระแสดิจิทัลและความยั่งยืนที่กำลังจะมาถึง

โดยปัจจุบัน ธปท.กำลังเร่งวาง future financial landscape เพื่อให้ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการทางการเงินอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ผ่านการเพิ่มการแข่งขัน ในขณะเดียวกัน ต้องช่วยผู้ให้บริการทางการเงินในการปรับตัว รวมทั้งสร้างความยืดหยุ่นให้ระบบการเงินสามารถรองรับช็อกได้ดีขึ้น ซึ่งคาดว่าจะเห็นภาพชัดเจนขึ้นในต้นปี 65

อย่างไรก็ตาม การปรับตัวเข้าสู่กระแสความยั่งยืนที่มาเร็วและแรงกว่าที่คาด ธปท.ได้เร่งสร้างความตระหนักรู้และจะออกแบบ ecosytem ที่มีองค์ประกอบสำคัญ เช่น การเปิดเผยข้อมูล เพื่อให้มีฐานข้อมูลในการติดตามและประเมินเรื่องสิ่งแวดล้อม และการนิยามการเงินสีเขียว ที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน

ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ช่วยกันสร้างการเปลี่ยนแปลง สร้างโอกาสใหม่ให้กับประเทศ เศรษฐกิจไทยในอีก 40 ปีข้างหน้า ก็คงจะเติบโตอย่างมั่นคง ยั่งยืน และมีภูมิคุ้มกันต่อความท้าทายต่างๆได้
ติดต่อโฆษณา!