หนี้ครัวเรือนไทย ยังสูงที่สุดในประเทศกำลังพัฒนา

หนี้ครัวเรือนไทย ยังสูงที่สุดในประเทศกำลังพัฒนา
Highlight
“ตกงาน เป็นหนี้ ไม่มีเงินใช้จ่าย” ปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน ยังเป็นปัญหาหลักที่คอยกดดันเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง เพราะปัญหาหนี้นั้นแก้ยาก และไม่จบไม่สิ้น พอไม่มีรายได้ ก็ต้องกู้หนี้ยืมสิน เมื่อพอจะมีรายได้ ก็ต้องเอาไปใช้หนี้ ทำให้ออกจากวังวนนี้ไม่ได้สักที ซึ่งจากตัวเลขล่าสุด ถ้าเทียบเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา คนไทยมีหนี้สินมากที่สุดในโลกแล้ว

หนี้ครัวเรือนไทย ณ ไตรมาส 2 ปี 2021 อยู่ที่ 14.3 ล้านล้านบาท ขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า โดยขยายตัวที่ 5.0%YOY ซึ่งเป็นการขยายตัวเร่งขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า และยังนับเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 6 ไตรมาส ขณะที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ปรับลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 89.3% ตาม GDP ที่กลับมาขยายตัวจากฐานต่ำปีก่อนหน้าเป็นหลัก แต่สัดส่วนยังสูงกว่าระดับก่อนโควิดอย่างมีนัยสำคัญ และสูงที่สุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา 

การขยายตัวของหนี้ครัวเรือนในไตรมาส 2 นำโดยสินเชื่อส่วนบุคคลเป็นหลัก เนื่องจากครัวเรือนยังมีความต้องการสินเชื่อทดแทนสภาพคล่องที่ลดลงในช่วงเศรษฐกิจซบเซา

ในระยะต่อไปศูนย์วิจัยเศรษฐกิจของธนาคารไทยพาณิชย์หรือ EIC คาดว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยจะยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง โดยปัญหาหนี้สูงจะยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการฟื้นตัวของการใช้จ่ายและฐานะทางการเงินของภาคครัวเรือนและเศรษฐกิจในภาพรวม โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้ ซึ่งจากผลสำรวจผู้บริโภคของ EIC พบว่าส่วนใหญ่กำลังเผชิญปัญหาในการชำระหนี้ และมากกว่า 1 ใน 4 ของคนกลุ่มนี้มีปัญหาหนัก

EIC ประเมินว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยอาจกลับมาสูงขึ้นได้อีกในปีนี้ ภายใต้สมมติฐาน การเติบโต Real GDP ปี 2021 ของ EIC ที่ 0.7% คาดว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ณ สิ้นปี 2021 จะอยู่ในช่วง 90%-92% นั่นหมายความว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP มีแนวโน้มกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 3 ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด 19 เกิดขึ้นมากและมีมาตรการล็อกดาวน์ส่งผลต่อเศรษฐกิจ เพิ่มเติม ส่งผลให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนจะกลับมาปรับสูงขึ้นอีกครั้ง และอาจปรับเพิ่มขึ้นทาจุดสูงสุดใหม่ได้อีก หากการก่อหนี้ของภาคครัวเรือนยังคงขยายตัวรวดเร็วในขณะที่เศรษฐกิจหดตัว

แม้ในปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 จะเริ่มคลี่คลาย นำไปสู่การทยอยเปิดเมือง และการฟื้นตัว ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ตามลำดับ แต่ภาวะหนี้สูงของภาคครัวเรือนไทยน่าจะยังเป็นปัญหาสำคัญที่ต้อง ใช้เวลาในการแก้ไขไปอีกหลายปีทั้งนี้เนื่องจากปริมาณหนี้ภาคครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ซึ่งบางส่วนยังมีการถูกพักชำระไว้ชั่วคราว ในระยะต่อไปที่ครัวเรือนต้องกลับมาชำระหนี้จะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่มีความท้าทายทั้งในแง่ของการ บริหารจัดการหนี้และการใช้จ่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งสาหรับครัวเรือนที่มีสภาพคล่องจำกัด 

นอกจากนี้ ในส่วนของ รายได้ภาคครัวเรือนก็น่าจะฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ตามตลาดแรงงานที่ได้รับผลกระทบหนักและฟื้นตัวกลับมาไม่ง่าย เพราะงานหลายประเภทโดยเฉพาะในภาคการท่องเท่ียวลดลงไปมากและจะฟื้นตัวช้า ขณะที่แนวโน้มงานที่เติบโต หลังโควิด เช่น ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ หรือ ไอที ก็ต้องการทักษะแรงงานที่ไม่เหมือนเดิม ทาให้แรงงานที่ตกงานออกมา ในช่วงโควิดจำนวนไม่น้อยอาจไม่สามารถกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานโดยที่ได้รับรายได้เหมือนช่วงก่อนโควิด

แนวโน้มรายได้ของภาคครัวเรือนที่ซบเซานี้ได้ส่งผลบั่นทอนความสามารถในการบริหารจัดการภาระหนี้ ที่สูงซึ่งเป็นปัญหาของครัวเรือนส่วนใหญ่โดยเฉพาะกลุ่มรายได้น้อย EIC ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภค (EIC Consumer Survey) ในช่วงวันที่ 27 สิงหาคม-27 กันยายน 2021 ที่ผ่านมา โดยได้มีการสอบถาม เกี่ยวกับปัญหาภาระหนี้ของผู้บริโภค พบว่า สัดส่วนเกินครึ่งหนึ่ง (55.4%) ของคนที่มีหนี้ ประเมินว่าภาระหนี้ของตน เป็นปัญหาในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา (นับรวมคนที่ตอบว่า “ภาระการชำระหนี้เป็นปัญหาหนัก” และ “ภาระการชำระหนี้ เป็นปัญหาอยู่บ้าง”) และที่น่ากังวลคือสัดส่วนถึง 78% ของคนกลุ่มที่มีรายได้น้อยกว่า 1.5 หมื่นบาทต่อเดือนที่มีหนี้ ประเมินว่าตนเองเป็นผู้ที่มีปัญหาภาระหนี้ โดยมีสัดส่วนสูงกว่า 1 ใน 4 (27.4%) ของผู้มีรายได้น้อยเป็นผู้มีปัญหา ภาระหนี้หนัก

ครัวเรือนที่มีหนี้สูงจะเข้าสู่ช่วงของการปรับตัวเพื่อลดสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ (deleverage) ในระยะต่อไป เพื่อซ่อมแซมงบดุลของตนเอง ซึ่งมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ทั้งการปรับโครงสร้างหนี้และการเยียวยาด้านรายได้จากผลกระทบของมาตรการปิดเมือง ควบคู่กับการสนับสนุนการเพิ่มรายได้ในอนาคตผ่านมาตรการสนับสนุนการจ้างงานและการปรับทักษะแรงงาน จะยังคงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับกระบวนการปรับตัวลดหนี้ของภาคครัวเรือนให้เป็นไปอย่างราบรื่น และลดความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม
 
ติดต่อโฆษณา!