07 ธันวาคม 2565
646

พาณิชย์เผย เงินเฟ้อ พ.ย. ชะลอเหลือ 5.55% ชะลอตัวเป็นเดือนที่ 3 หลังราคาอาหารเริ่มลดลง

พาณิชย์เผย เงินเฟ้อ พ.ย. ชะลอเหลือ 5.55%  ชะลอตัวเป็นเดือนที่ 3 หลังราคาอาหารเริ่มลดลง
Highlight

กระทรวงพาณิชย์เผย ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือน พ.ย. 65 อยู่ที่ 107.92 เพิ่มขึ้น 5.55% ชะลอตัวลงเป็นเดือนที่ 3 คาดทั้งปีเฉลี่ยอยู่ที่ 6% และคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจคาดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย ปีนี้อยู่ที่ 2.7-3.2% ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีที่ 90-110 ดอลลาร์/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยทั้งปีที่ 33.50-35.50 บาท/ดอลลาร์ สำหรับเงินเฟ้อในเดือน ธ.ค. คาดว่าจะใกล้เคียงเดือน พ.ย. โดยมีแนวโน้มชะลอตัวลง เนื่องจากราคาอาหารที่ลดลง

20221207-d-01.jpg


นายพูนพงษ์ นัยนาภาภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือน พ.ย. 65 อยู่ที่ 107.92 เพิ่มขึ้น 5.55% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน และลดลง 0.13% จากเดือน ต.ค.65 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 11 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ย.) เพิ่มขึ้น 6.10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เดือน พ.ย. 65 อยู่ที่ 103.92 เพิ่มขึ้น 3.22% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.13% จากเดือนต.ค..65 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 11 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 2.44% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

“อัตราเงินเฟ้อในเดือน พ.ย. ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ตามการชะลอตัวของราคาสินค้าในกลุ่มอาหาร โดยเฉพาะผักสด ผลไม้สด เนื้อสัตว์ และเครื่องประกอบอาหาร…โดยผักสด เช่น ผักกาดขาว ผักคะน้า ฟักทอง คึ่นช่าย ราคาลดลง เพราะมีการขยายพื้นที่ปลูกมากขึ้น ทำให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน”

20221207-d-02.jpg

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั้งปี 65 ไว้ที่ 5.5-6.5% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 6.0% ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจของไทย โดยอยู่ภายใต้สมมติฐานอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย ปีนี้อยู่ที่ 2.7-3.2% ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีที่ 90-110 ดอลลาร์/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยทั้งปีที่ 33.50-35.50 บาท/ดอลลาร์

อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อของต่างประเทศ (ข้อมูลล่าสุดเดือนต.ค.65) จะพบว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับดีกว่าหลายประเทศ ทั้งสหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, อิตาลี, เม็กซิโก, อินเดีย รวมถึงประเทศในอาเซียน ทั้งลาว ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์

นายพูนพงษ์ กล่าวถึงแนวโน้มเงินเฟ้อเดือน ธ.ค.65 โดยคาดว่าจะยังขยายตัวในระดับที่ใกล้เคียงกับเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากราคาพลังงาน (น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม) สินค้ากลุ่มอาหาร (อาทิ เนื้อสัตว์ ไข่และผลิตภัณฑ์นม และอาหารสำเร็จรูป) และค่าโดยสารสาธารณะ ยังสูงกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน รวมทั้งอุปสงค์ในประเทศที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น

“ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรบางชนิดที่มีมากกว่าปีที่ผ่านมา ตลอดจนมาตรการดูแลค่าครองชีพของภาครัฐ แนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาท และการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ จะเป็นปัจจัยที่อาจลดทอนอัตราเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือได้ ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป” ผู้อำนวยการ สนค. ระบุ

สำหรับ ดัชนีราคาผู้บริโภคจำแนกรายภาค พบว่าดัชนีราคาผู้บริโภคในทุกภาคเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้าเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง ซึ่งในเดือนนี้อัตราเงินเฟ้อของกรุงเทพฯ และปริมณฑลสูงกว่าภูมิภาคอื่น ๆ โดยสูงขึ้นร้อยละ 6.19 รองลงมาได้แก่ ภาคกลาง ร้อยละ 5.94 ภาคเหนือ ร้อยละ 5.93 และภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 5.92 ในขณะที่ภาคใต้สูงขึ้นในอัตราต่ำกว่า ทุกภูมิภาคที่ร้อยละ 5.82

เมื่อพิจารณาเป็นรายสินค้า พบว่าสินค้าสำคัญที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นในทุกภาค ได้แก่ ค่ากระแสไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง และอาหารกลางวัน (ข้าวราดแกง) และกับข้าวส้าเร็จรูป สำหรับสินค้าส้าคัญที่ราคาลดลงในทุกภาค ได้แก่ ผักกาดขาว ชิง และผักชี เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อของไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงจากราคาพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูง และมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะน้ำมันดิบที่อุปทานยังตึงตัว อุปสงค์ในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น จากการส่งออก การท่องเที่ยว และราคาสินค้า เกษตรสำคัญที่ยังอยู่ในระดับดี รวมถึงเงินบาทที่ยังอ่อนค่า ซึ่งจะต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดต่อไป

ติดต่อโฆษณา!