17 มิถุนายน 2565
1,516

หุ้นโรงกลั่นร่วง! โบรกฯคาดกำไรวูบ 17-43% หลังรัฐขอความร่วมมือส่งกำไรค่าการกลั่นเข้ากองทุนน้ำมันฯ

หุ้นโรงกลั่นร่วง! โบรกฯคาดกำไรวูบ 17-43% หลังรัฐขอความร่วมมือส่งกำไรค่าการกลั่นเข้ากองทุนน้ำมันฯ
Highlight

โบรกเกอร์คาดกำไรหุ้นกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันอาจกระทบ  17-43% หลังรัฐขอความร่วมมือส่งกำไรค่าการกลั่นน้ำมันดีเซลและเบนซินเข้าสู่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง คาดว่าจะจัดเก็บได้ประมาณ 5-6 พันล้านบาทต่อเดือน และส่งกำไรจากค่าการกลั่นน้ำมันเบนชิน ซึ่งคาดว่าจะจัดเก็บได้ 1 พันล้านบาทต่อเดือนนำมาลดราคาน้ำมันเบนชินให้กับผู้ใช้ ซึ่งคาดว่าราคาจะลดลงอย่างน้อย 1 บาทต่อลิตรจากราคาปัจจุบัน


หุ้นกลุ่มโรงกลั่น ปรับตัวลดลงทันทีหลังเปิดตลาดในวันนี้ (17 มิ.ย.) รับมาตรการรัฐบาลขอความร่วมมือส่งกำไรค่าการกลั่นน้ำมันดีเซลและเบนซิน เข้าสู่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 
 
บทวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ทรีนีตี้ ได้คาดการณ์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับหุ้นกลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน หลังจากรัฐบาล มาตรการเศรษฐกิจเพื่อบรรเทาผลกระทบของประชาชน ขอความร่วมมือกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันให้ นำส่งกำไรค่าการกลั่นน้ำมันดีเซล 

โดยคาดว่าจะจัดเก็บได้ประมาณ 5-6 พันล้านบาทต่อเดือน ซึ่งจะนำเช้าสู่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และส่งกำไรจากค่าการกลั่นน้ำมันเบนชิน ซึ่งคาดว่าจะจัดเก็บได้ 1 พันล้านบาทต่อเดือน ส่วนนี้จะนำมาลดราคาน้ำมันเบนชินให้กับผู้ใช้ทันที คาดว่าจะลดลงลิตรอย่างน้อย 1 บาทต่อลิตรจากราคาปัจจุบัน
 
นอกจากนี้จะขอความร่วมมือโรงแยกก๊าซส่งกำไรส่วนเกิน 50% เข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เช่นกัน คาดว่าจะจัดเก็บได้ 1,500 ล้านบาทต่อเดือน ทั้ง 3 ส่วนนี้จะมีระยะเวลา 3 เดือน
 
ทั้งนี้บล.ทรีนีตี้ มีมุมมองว่าการที่รัฐจะเข้ามาแทรกแซง ค่าการกลั่น นั้น จะเป็น Sentiment เชิงลบต่อหุ้น กลุ่มโรงกลั่น แม้มติดังกล่าวนั้นไม่ได้มีผลในการกฎหมายที่โรงกลั่นจะต้องปฏิบัติตาม ซึ่งรัฐบาลใช้คำว่าขอความร่วมมือ ดังนั้นแล้วโรงกลั่นอาจจะส่งหรือไม่ส่งเงินช่วยเหลือย่อมทำได้ 
 
อย่างไรก็ตาม ถ้าประเมินจากความเป็นไปได้บริษัทในกลุ่มของ PTT คือ PTTGC  TOP และ IRPC รวมถึง BCP มีความเป็นไปได้ที่จะให้ความร่วมมือได้สูง ในขณะที่ SPRC และ ESSO นั้นอาจจะไม่ให้ความร่วมมือ
 
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยตรีนิตี้ ได้จัดทำผลกระทบที่เกิดขึ้น ถ้าทุกโรงกลั่นจะต้องจ่ายเงินช่วยเหลือให้รัฐ 7 พันล้านบาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน หรือมีมูลค่ารวมราว 2.1 หมื่นล้านบาท โดย PTTGC ได้รับผลกระทบน้อยที่สุดประมาณ 17% ของกำไรสุทธิทั้งปี เพราะกำไรส่วนใหญ่ยังมาจากธุรกิจปิโตรเคมี 
 
ในขณะที่โรงกลั่นน้ำมันอื่นๆ จะได้ผลกระทบประมาณ 30-40% ของกำไรสุทธิทั้งปี โดย คาดว่า ESSO จะได้รับผลกระทบต่อกำไรมากที่สุดทั้งปีประมาณ 43%  ตามด้วย IRPC  36% TOP  35% BCP  33%  และ SPRC  30%

บล.เอเซีย พลัส หรือ ASPS ระบุในบทวิเคราะห์ว่า เมื่อวานนี้ (16 มิ.ย.) มีการประชุมหารือมาตรการเศรษฐกิจ เพื่อบรรเทาผลกระทบของประชาชนอันเนื่องมาจากราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้น โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีมติเห็นชอบมาตรการใหม่ คือ ขอความร่วมมือกลุ่มโรงกลั่นน้ํามันเป็นระยะเวลา 3 เดือน เริ่มจาก ก.ค.-ก.ย.65 ดังนี้

1. นําส่งกําไรค่าการกลั่นน้ำมันดีเซลเพื่อนําเข้าสู่กองทุนน้ํามัน โดยคาดว่าจะจัดเก็บได้ประมาณ 5-6 พันล้านบาทต่อเดือน

2. นําส่งกําไรจากค่าการกลั่นน้ำมันเบนซินเพื่อลดราคาขายปลีกน้ํามันเบนซิน 1 บาทต่อลิตร โดยคาดว่าจะจัดเก็บได้ 1 พันล้านบาทต่อเดือน นอกจากนี้ขอความร่วมมือโรงแยกก๊าซส่งกําไรส่วนเกิน 50% เข้ากองทุนน้ํามันเชื้อเพลิง โดยคาดว่าจะจัดเก็บได้ 1.5 พันล้านบาทต่อเดือน เหตุการณ์ดังกล่าวคาดจะส่งผลกระทบต่อกําไรกลุ่มฯ ในปี 2565 อย่างแน่นอน 

อย่างไรก็ตามยังเป็นเพียงข้อเสนอจากทางภาครัฐ เพราะจากการสอบถามไปยังกลุ่มโรงกลั่น (TOP, PTTGC, IRPC, SPRC, ESSO, BCP) และโรงแยกก๊าซฯ (PTT) พบว่ายังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนและข้อสรุปจากผู้ประกอบการ สะท้อนให้เห็นว่าในทางปฏิบัติยังมีความไม่แน่นอนสูงว่าจะปฎิบัติได้จริงหรือไม่ และผู้ประกอบการจะยอมรับข้อเสนอของภาครัฐหรือไม่ เพราะถือเป็นการแทรกแซงจากภาครัฐโดยตรง ซึ่งบิดเบือนจากในอดีตที่ธุรกิจโรงกลั่นเป็นไปตามกลไกตลาดเสรี ไม่มีการควบคุมค่าการกลั่น ซึ่งก็มีทั้งช่วงที่โรงกลั่นได้กําไร และขาดทุน ASPS ระบุ

ทั้งนี้ฝ่ายวิจัย ASPS  มีมุมมองว่าค่าการกลั่นที่ปรับตัวสูงขึ้นในปัจจุบันมาจากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ทําให้ supply โดยรวมของตลาดโลกปรับตัวลดลง ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ที่อยู่ในภาวะผิดปกติ และอาจจะเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น 

ดังนั้นหากภาครัฐเข้ามาแทรกแซงบังคับให้ปรับลดค่าการกลั่นเพื่อให้ราคาขายปลีกหน้าโรงกลั่นปรับลดลง ก็อาจทําให้ผู้ประกอบการหันไปส่งออกมากขึ้นเพราะได้ราคาสูงกว่าการขายในประเทศ รวมถึงทําให้ความน่าสนใจในการลงทุนในหุ้นกลุ่มโรงกลั่นลดลงอย่างมาก เพราะอาจจะเกิดเหตุการณ์แทรกแซงได้อยู่เสมอ ถ้ากลไกการค้าเสรีถูกบิดเบือน

20220617-a-01.jpg

ฝ่ายวิจัยได้มีการประเมินเบื้องต้น หากภาครัฐจะเข้ามาแทรกแซงกลุ่มโรงกลั่น จะกระทบต่อผู้ประกอบการโดยโรงกลั่นแต่ละโรงจะผลิตผลิตภัณฑ์น้ํามันสําเร็จรูปแต่ละชนิดในสัดส่วนที่แตกต่างกัน และในแต่ละผลิตภัณฑ์ก็จะมี spread (ราคาผลิตภันฑ์-ต้นทุนน้ำมันดิบ) ที่แตกต่างกัน

ซึ่งจะเห็นได้ว่าในช่วงปี 2555-2562 spread ผลิตภัณฑ์น้ำมันสําเร็จรูปหลักๆ ได้แก่ ก๊าซออยล์, ก๊าซโซลีน และเจ็ท อยู่ที่ราว 10-15 เหรียญฯต่อบาร์เรล หรือราว 2.1-3.2 บาทต่อลิตร ซึ่งถือเป็นกําไรขั้นต้นจากการขายผลิตภัณฑ์หลักทั้ง 3 ชนิดดังกล่าว

แต่เนื่องจากโรงกลั่นยังผลิตผลิตภัณฑ์น้ำมันสําเร็จรูปที่มีกําไรขั้นต้นติดลบ ได้แก่ น้ำมันเตา เป็นส่วนประกอบด้วย ดังนั้นเมื่อมาเฉลี่ยกันแล้วค่าการกลั่นหรือกําไรขั้นต้น ก็จะไม่สูงเท่ากับ spread ของน้ํามันหลักเท่านั้น 

นอกจากนี้หากพิจารณาในช่วงปี 2563-2564 ซึ่งโลกของเราประสบกับปัญหาโควิด-19 ทําให้ความต้องการใช้น้ำมันสําเร็จรูปลดลงอย่างมีนัยฯส่งผลให้ spread ผลิตภัณฑ์น้ำมันสําเร็จรูปหลักๆ ได้แก่ ก๊าซออยล์, ก๊าซโซลีน และเจ็ท มีการปรับตัวลดลงตามเฉลี่ยเหลือราว 3-8 เหรียญฯต่อบาร์เรล หรือราว 0.6-1.7 บาทต่อลิตร รวมถึงผลิตภัณฑ์น้ำมันเตาก็ติดลบมากขึ้น ส่งผลให้โรงกลั่นหลายโรงต้องเผชิญกับผลขาดทุน

ดังนั้นแสดงให้เห็นว่าธุรกิจโรงกลั่นในอดีตที่ผ่านมามีทั้งกําไรและขาดทุนตามสถานการณ์ต่างๆที่เข้ามากระทบ demand และ supply น้ำมันสําเร็จรูปและน้ำมันดิบ โดยต้นทุนเฉลี่ยของโรงกลั่นแต่ละโรงก็ไม่เท่ากัน เฉลี่ย Breakeven ของโรงกลั่นเมื่อรวมค่าใช้จ่ายหลักๆได้แก่ operating cost, ค่าเสื่อมราคา และดอกเบี้ยจะอยู่ราว 4.5-7.5 เหรียญฯต่อบาร์เรล หรือราว 1.0-1.6 บาทต่อลิตร 

ฝ่ายวิจัยได้ประเมินเบื้องต้นจากค่าการกลั่นในสถานการณ์ปัจจุบันโดยอิงค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ที่ราว 30-35 เหรียญฯต่อบาร์เรล (แต่ในความเป็นจริงค่าการกลั่นแต่ละโรงจะไม่เท่ากัน และไม่เท่ากับค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์

เพราะประเภทผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้มีสัดส่วนไม่เท่ากัน) หักด้วย crude premium จากน้ำมันดิบที่ราว 6-8 เหรียญฯต่อบาร์เรล และ fuel loss ราว 1-3 เหรียญฯต่อบาร์เรล จะได้ ค่าการกลั่นเฉลี่ยจะเหลือราว 20-25 เหรียญฯต่อบาร์เรล 

ซึ่งคือกําไรขั้นต้นที่ราว 4.3-5.4 บาทต่อลิตร และเมื่อหักค่าใช้จ่ายหลักๆ ได้แก่ operating cost, ค่าเสื่อมราคา และดอกเบี้ยที่อยู่ราว 4.5-7.5 เหรียญฯต่อบาร์เรล หรือราว 1.0-1.6 บาทต่อลิตร จะเหลือเป็นกําไรราว 3.3-3.8 บาทต่อลิตร

ดังนั้นหากกําหนดให้โรงกลั่นทุกๆ แห่งสนับสนุนช่วยเหลือภาครัฐทุกๆ 1 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 1 เดือน จะทําให้กําไรของโรงกลั่นแต่ละแห่งหายไปเท่ากับ 1.3 พันล้านบาท, 691.6 ล้านบาท, 1.0 พันล้านบาท, 572.4 ล้านบาท,830.0 ล้านบาท และ 8434.7 ล้านบาท  สําหรับโรงกลั่น TOP, PTTGC, IRPC, BCP,ESSO และ SPRC ตามลําดับ ดังสรุปในตาราง ซึ่งประเด็นดังกล่าวจะกดดันราคาหุ้นกลุ่มโรงกลั่นทั้งกลุ่ม รวมถึงโรงแยกก๊าซฯของ PTT ที่ได้รับผลกระทบด้วย

ติดต่อโฆษณา!