03 มิถุนายน 2565
1,017

บลจ.บีแคป ชี้หลากปัจจัยกดดันตลาดหุ้นครึ่งหลังปี 65 ยังผันผวน แนะกระจายเสี่ยงลงทุนชู “หุ้นจีน-ไทย” น่าสนใจพื้นฐานแกร่ง

บลจ.บีแคป ชี้หลากปัจจัยกดดันตลาดหุ้นครึ่งหลังปี 65 ยังผันผวน แนะกระจายเสี่ยงลงทุนชู “หุ้นจีน-ไทย” น่าสนใจพื้นฐานแกร่ง
Highlight

หลายคนบอกว่า ปี 2565 เป็นอีกหนึ่งปีที่ที่ทำกำไรจากการลงทุนได้ยาก เนื่องจากตลาดผันผวนอยู่ตลอดเวลา ทั้งการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย เงินเฟ้อสูง  สถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 รวมทั้งภาวะสงคราม ที่กดดันราคาน้ำมันสูงขึ้น บลจ.บีแคป มีมุมมอง การลงทุนครึ่งปีหลัง หุ้นจีนน่าสนใจเพราะน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และหุ้นไทย ได้ประโยชน์จากการเปิดเมือง การท่องเที่ยวบูม จะทำให้เศรษฐกิจเติบโต


บลจ.บีแคป ประเมินตลาดหุ้นครึ่งหลังของปี 2565 ยังผันผวนปัจจัยเสี่ยงยังสูง กดดันการเติบโตของเศรษฐกิจและผลประกอบการ รวมทั้งเฟด (Fed) ยังปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมเงินเฟ้อ พร้อมกับปรับลดวงเงินคิวอี แนะนักลงทุนกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์หลากหลาย โดยชูตลาดหุ้นจีนและไทย มีความน่าสนใจเหตุปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง มีความเสี่ยงด้านการเมืองระหว่างประเทศน้อย

ดร.ธนาวุฒิ พรโรจนางกูร รองกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าสายงานบริหารการลงทุน บลจ.บางกอกแคปปิตอล (BCAP)  กล่าวว่า แม้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะปรับขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ทีมผู้จัดการกองทุนมองว่าเป็นเพียงการรีบาวน์หรือปรับขึ้นช่วงสั้นๆ เท่านั้น 

เนื่องจากทีมผู้จัดการกองทุน BCAP ประเมินว่าในปี 2022 ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายรวม 2.50-2.75%  หากเป็นการขับรถถือว่าคนขับกำลังกดแป้นเบรคอย่างหนัก ซึ่งจะเป็นผลให้การเติบโตของเศรษฐกิจ และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนปรับลดลงในระยะต่อไป

ทีมผู้จัดการกองทุนมองว่าการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วของ Fed เพื่อเข้าควบคุมเงินเฟ้อ สืบเนื่องจากมุมมองที่ผิดพลาดในช่วงปีที่ผ่านมา ที่ประเมินว่าเงินเฟ้อเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราว จนละเลยที่จะควบคุมเงินเฟ้อตั้งแต่ช่วงปี 2021 แม้ว่าปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อสหรัฐ ฯ จะผ่านจุดสูงสุดไปแล้วในเดือน มี.ค. และจะค่อย ๆ ปรับลดลงในช่วงที่เหลือของปี 

ฝ่ายวิจัย บลจ.บีแคป เชื่อว่า  Fed คงจะยืนยันขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง เพื่อเก็บกระสุนหรือเพื่อสร้างความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายหากเศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างรุนแรงในอนาคต อีกประเด็นที่ BCAP จับตาอย่างใกล้ชิดคือการถอนสภาพคล่องออกจากระบบ หรือการทำ Quantitative Tightening (QT)

ดร.ธนาวุฒิกล่าวว่า การทำ QT ของสหรัฐฯ จะเริ่มต้นในเดือน มิ.ย. นี้ในจำนวน 9.5 แสนล้านเหรียญฯ ต่อเดือน ทีมผู้จัดการกองทุนประเมินว่าหาก Fed ลดปริมาณเงินดังกล่าวอย่างต่อเนื่องจนถึงปลายปี 2024 จะส่งผลต่องบดุลต่อ GDP ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ให้ลดลงจาก 37% ในปัจจุบันเหลือเพียง 20% 

ซึ่งผลกระทบดังกล่าวมี 2 เรื่องหลัก ๆ คือ 1) การชะลอตัวของเศรษฐกิจในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า และ 2) แรงสนับสนุนในการออมเงิน/การลงทุนในตลาดการเงินที่จะลดลง 

โดยฝ่ายวิจัยมองว่าช่วงต่อไปตลาดหุ้นจะมีความผันผวนมากขึ้น ในขณะที่ผลตอบแทนเฉลี่ยของหุ้นจะลดลงเทียบกับช่วงที่ Fed อัดฉีดสภาพคล่องหลังวิกฤตการเงินในปี 2008 ซึ่งการลงทุนอาจจะใช้ความระมัดระวังที่เพิ่มมากขึ้น 

โดยในช่วงครึ่งหลังของปีฝ่ายวิจัยแนะนำให้เน้นการลงทุนหุ้นในกลุ่มประเทศที่มีมูลค่าพื้นฐานถูก ปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง มีอัตราการเติบโตดี และ/หรือ มีความเสี่ยงต่อการเมืองระหว่างประเทศจำกัด คือประเทศจีนและไทย
  
“หลังมีแรงเทขายกดดันราคาหุ้นจีนอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมาเนื่องจากมาตรการ Lock Down ในเมืองสำคัญ ๆ เช่น ปักปิ่งและเซี่ยงไฮ้ ทำให้หุ้นจีนมีราคาพื้นฐาน (Valuation) ที่ถูกเทียบกับทั้งอดีตและประเทศอื่น แต่ล่าสุดมีสัญญาณการเปิดเมืองพร้อมการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาล ทำให้เราประเมินว่าเศรษฐกิจจีนกำลังจะผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาส 2 นี้ ขณะที่หุ้นไทยอาจจะมี Valuation ที่ค่อนไปทางแพงเล็กน้อยเนื่องจากแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติตั้งแต่ช่วงต้นปี ” ดร.ธนาวุฒิกล่าว

ดร.ธนาวุฒิกล่าวว่า ในแง่นโยบายการเงิน ประเทศไทยยังมีแนวโน้มผ่อนคลายเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วอย่าง สหรัฐฯ และ ยุโรป อีกทั้งมีแรงส่งจากปัจจัยนอกประเทศ เช่น การส่งออกและนักท่องเที่ยวที่จะกลับมาจากการเปิดประเทศจะเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 

อีกทั้งผลกระทบโดยตรงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน มีค่อนข้างต่ำ จากนโยบายเป็นกลางของไทย นักลงทุนต่างชาติจึงมองเราเป็นหลุมหลบภัยและจะมี Fund flow ต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี ดังนั้นการลงทุนในประเทศจีนและไทยน่าจะสร้างผลตอบแทนที่ดีในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

ติดต่อโฆษณา!