19 พฤษภาคม 2565
2,260

เปิด 6 ETF ตลาดหุ้นสหรัฐ ทางเลือกลงทุนหุ้นขาลง

เปิด 6 ETF ตลาดหุ้นสหรัฐ ทางเลือกลงทุนหุ้นขาลง
Highlight

ช่วงนี้ตลาดหุ้นผันผวนมาก จากปัจจัยความไม่นอนทั้งทางด้านเศรษฐกิจและนโยบายการเงิน โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ หรือ Fed ที่ยังคงมีนโยบายเพิ่มดอกเบี้ยลดงบดุล โควิดแม้จะผ่อนคลายแต่ยังต้องระวังสายพันธุ์ใหม่ๆ กดดันตลาดเกิดใหม่ หุ้น Growth หุ้นเทค พากันร่วงระนาว ท่ามกลางบรรยากาศขาลง ลบ.กรุงศรีแนะนำหุ้นได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่า บล.บัวหลวง แนะนำ 6 กองทุน ETF หุ้นสหรัฐ


หุ้นไทยวันนี้แนวโน้มอ่อนตัว จากกระแสโลกทั้งเฟดลั่นขึ้นดอกเบี้ยสูงสุดกดเงินเฟ้อให้ลง และราคาน้ำมันทรุด เป็นลบต่อบรรยากาศลงทุน ดาวโจนส์กลับมาร่วงแรงกว่า 1 พันจุดอีกครั้ง บล.กรุงศรี คาด SET ปรับตัวลงแนวรับ 1,605 - 1,610 จุด แนะนำ "รอซื้อ" ช่วงอ่อนตัวเน้นหุ้นที่มีปัจจัยบวก เช่น BDMS CKP 
 
นักวิเคราะห์จาก บล.กรุงศรี ประเมิน SET Index ในวันนี้ (19 พ.ค.) ปรับตัวลงแนวรับ 1,605 - 1,610 จุด  หลังธนาคารกลางสหรัฐ หรือ  Fed ยืนยันแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงสุดเท่าที่จำเป็น เพื่อควบคุมเงินเฟ้อไม่ให้พุ่งขึ้นรุนแรงจนสร้างความเสียหายต่อภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ 

ซึ่งเป็นลบต่อ sentiment การลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกและกดดันให้ราคาน้ำมันดิบทรุดตัวลงแรงซึ่งเป็นลบต่อกลุ่มพลังงานอีกด้วย จึงแนะนำ "รอซื้อ" ช่วงอ่อนตัวโดยเน้นหุ้นกลุ่มที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว 
 
สำหรับกลยุทธ์การลงทุน: Selective Buy แนะนำกลุ่มเดินเรือ PSL TTA รับอานิสงส์ค่าระวางเรือเทกองฟื้นตัวขึ้น และหุ้นส่งออกได้อานิสงส์จากบาทอ่อนค่า เช่น  TU ASIAN GFPT KCE HANA นอกจากนี้ยังมี AOT MINT CENTEL ERW BDMS BH BEM BTS อานิสงส์การเปิดประเทศ

ดัชนีตลาดหุ้นไทยเช้าวันนี้ (SET Index) เปิดเทรดในแดนลบ โดยลดลงต่ำสุดที่ 1,592.10 จุด -28.23 จุด และค่อยๆ ฟื้นตัวดีขึ้น โดยเมื่อเวลา 11.47น. ดัชนีเคลื่อนไหวอยู่ที่ 1,607.61 จุด -12.64 จุด (-0.77%) มูลค่าการซื้อขายรวม 29,482.62 ล้านบาท 
 
หุ้นแนะนำวันนี้
 
BDMS (ซื้อ/ราคาเป้าหมาย 31 บาท) กำไรดีเพิ่งจะเริ่มต้น โดยเราจะเห็นการเติบโตของกำไรเร่งตัวขึ้นในทุกไตรมาสของปีนี้จากจำนวนผู้ป่วยที่ไม่ใช่โควิดที่ทยอยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยจากต่างประเทศ ที่จะเข้ามามากขึ้นจากการเปิดประเทศ
 
CKP (ซื้อ/ราคาเป้าหมาย 6.50 บาท) ทยอยซื้อก่อนเข้าสู่ High Season ในช่วงฤดูฝนขณะที่ราคายังอยู่ในโซนล่าง นอกจากนี้ยังมีประเด็นบวกจาการเซ็นสัญญาเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายไฟฟ้าหลวงพระบาง 1,400 MW จะเป็น Upside ให้กับ CKP ในระยะกลางถึงยาว
 
ประเด็นสำคัญวันนี้
 
(-) ดาวโจนส์ร่วง 1,165 จุด กังวลเงินเฟ้อกระทบกำลังซื้อและกำไรบริษัทจดทะเบียน : ดัชนีดาวโจนส์ทรุดตัวลงอย่างรุนแรง 1,165 จุด (-3.57%) ปิดที่ 31,490 จุด เนื่องจากนักลงทุนเทขายหุ้นกลุ่มค้าปลีกและกลุ่มเทคโนโลยี เพราะกังวลว่าอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจะกระทบกำลังซื้อ ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากผลกำไรของกลุ่มธุรกิจค้าปลีกที่ลดลง นอกจากนี้ประธานเฟดยังส่งสัญญาณพร้อมที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อกดเงินเฟ้อให้ลดลง
 
(-) น้ำมันดิบลดลงต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 จากข่าวโรงกลั่นสหรัฐเร่งเพิ่มการผลิต : ราคาน้ำมันดิบ WTI ลดลง 2.81 ดอลลาร์ (-2.5%) ปิดที่ 109.59 ดอลลาร์/บาร์เรล ลดลงในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นดาวโจนส์ และมีข่าวโรงกลั่นในสหรัฐเร่งเพิ่มปริมาณการกลั่น โดยล่าสุดอัตราการกลั่นของโรงกลั่นในสหรัฐเพิ่มชึ้นแตะระดับ 95% ใกล้เต็มกำลังการผลิต
 
(+) สรุปผลกำไรบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 1/22 ของไทยมีกำไรเพิ่มขึ้น 8.3% จากไตรมาสก่อนหน้า (qoq) และ 11.47%จากช่วงเดียวกันปีก่อน (yoy) : จากการรวบรวมผลกำไรของบริษัทจดทะเบียน 808 บริษัทคิดเป็น 97% ของ Market Cap รวมทั้งตลาดมีกำไรสุทธิใน 1Q22 ที่ 2.87 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.31%จากไตรมาสก่อนหน้า (qoq) และเพิ่มขึ้น  11.47% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (yoy) หลักๆ มาจากกำไรที่สูงขึ้นของกลุ่มพลังงานและกลุ่มธนาคาร

6 ETF ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ อีกตัวเลือกลงทุนในช่วงตลาดหุ้นขาลง

ในช่วงตลาดขาลง หรือ Bearish market นักลงทุนอาจกำลังตั้งคำถามว่า นอกจากสินทรัพย์ที่เป็นหุ้นแล้ว มีสินทรัพย์ไหนบ้าง ที่มีระดับความเสี่ยงที่ต่ำกว่า และเป็นอีกตัวเลือกการลงทุนในสภาวะตลาดช่วงนี้ เพื่อช่วยกระจายการลงทุน 

หลักทรัพย์บัวหลวง (BLS) นำสรุปข้อมูล 6 ETF ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่เข้าลงทุนในสินทรัพย์ที่เหมาะกับการลงทุนในช่วงตลาดขาลง ซึ่งทีม BLS Global Investing สรุปไว้ใน Knowledge Sharing สถานีแบ่งปันความรู้แบบออนไลน์ ตลอด 24 ชั่วโมง มาเล่าสู่กันฟัง

ETF ที่เข้าลงทุนใน “ตราสารหนี้” (Fixed Income)

1. iShares 1-3 Year Treasury Bond ETF (SHY.US) : ETF ที่ออกโดยกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ที่เรียกกันทั่วไปว่า Treasury Bill (T-Bill) ปัจจุบันได้รับความนิยมทั่วโลก เนื่องจากมีความเสี่ยงต่ำ หากเทียบกับตราสารหนี้ชนิดอื่น และหุ้น และการครบกำหนดระยะเวลาค่อนข้างสั้น เน้นลงทุนใน T-Bill ที่มีอายุไม่เกิน 3 ปี SHY ETF เป็นสินทรัพย์ที่นักลงทุนอาจใช้ในการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงประเภทหนึ่งในช่วงตลาดหุ้นมีความผันผวน และถึงแม้จะไม่ได้ผลตอบแทนที่มากนักในปัจจุบัน แต่ก็นับว่ามีความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ย และความเสี่ยงด้านเครดิตที่ค่อนข้างต่ำด้วยเช่นกัน

2. Vanguard Intermediate-Term Corporate Bond ETF (VCIT.US) : ETF ที่ลงทุนในหุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัท หรือที่เรียกว่า Corporate bond (ฝั่งเอกชน ไม่ใช่ฝั่งรัฐฯ เหมือนกับ SHY แล้ว) ข้อแตกต่างที่สำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับพันธบัตรรัฐบาล คือ หุ้นกู้บริษัทมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้การชำระเงินคืนมากกว่า ดังนั้น ผู้ลงทุนจึงต้องการผลตอบแทนที่สูงกว่า เมื่อเทียบกับผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล โดย VCIT ETF มีความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยมากกว่า SHY เช่นกัน หรือมากกว่า ETF ที่เข้าลงทุนในตราสารหนี้ประเภทพันธบัตรรัฐบาล เนื่องจาก ETF นี้ จะเข้าลงทุนในกลุ่มหุ้นกู้ที่มีอายุของหุ้นกู้อยู่ในระดับกลาง ซึ่งหมายถึงการลงทุนในหุ้นกู้ที่มีอายุครบกำหนดชำระ ยาวนาน 5-10 ปี ถึงแม้หุ้นกู้เหล่านั้น จะมีระดับความน่าเชื่อถือสูง หรือที่เรียกว่า Investment-grade

3. iShares Core U.S. Aggregate Bond ETF (AGG.US) : ETF ที่เข้าลงทุน ทั้งพันธบัตรรัฐบาล และหุ้นกู้บริษัท เป็นหลัก โดยอาจมีตราสารหนี้ชนิดอื่นร่วมด้วยแล้วแต่ช่วงเวลา อาทิ MBS หรือ Mortgage-backed securities ซึ่งเป็นตราสารหนี้หนึ่งที่มักเข้าลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอสังหาริมทรัพย์ โดย AGG ETF เน้นจะเข้าลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอายุของตราสารที่ยาวนาน เหมาะกับนักลงทุนที่ต้องการลงทุน และลดความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนในระยะยาว

ETF ที่เข้าลงทุนใน “ทองคำ” (Gold)

1. SPDR Gold Shares (GLD.US) : หนึ่งใน ETF ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก นับว่าเป็นสินทรัพย์ทองคำที่หลาย ๆ คน ใช้กระจายการลงทุนหรือเลือกจัดพอร์ต โดยกลุ่มสินทรัพย์นี้ก็ยังมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งแนวทางการลงทุน สามารถลงทุนได้ทั้งระยะสั้น กลาง ยาว และอาจเป็นอีกสินทรัพย์ที่หมาะกับการลงทุนในช่วงที่ตลาดหุ้นผันผวน หรือแม้แต่ในสภาวะเงินเฟ้อเช่นกัน โดย GLD ETF เข้าลงทุนในกองทรัสต์ ที่หนุนด้วยทองคำแท่งและเก็บไว้ในห้องนิรภัย ที่ซื้อขายอยู่ในตลาดรอง OTC โดยราคาของ GLD นั้น เคลื่อนไหวล้อตามราคาทองคำนั่นเอง

2. iShares Gold Trust (IAU.US) : เป็นอีกหนึ่งกองทุนที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลก ก่อตั้งหลังจาก GLD ETF ข้างต้น แต่ให้ผลตอบแทนสอดคล้องกับราคาทองคำเหมือนกับ GLD โดยข้อดีหนึ่งข้อหลักที่อาจตอบโจทย์นักลงทุนบางท่านคือ ค่าใช้จ่ายรวมต่อปี อยู่ที่ 0.25% ขณะที่ GLD ETF มีค่าใช้จ่ายต่อปี อยู่ที่ 0.40% ต่างกันกว่า 0.15% อย่างไรก็ดี นักลงทุนบางท่านอาจคิดถึงปัจจัยแนวทางการบริหารของผู้ออกกอง หรือสภาพคล่องที่ GLD นั้นมีมากกว่า รวมถึง GLD ETF มีขนาด AUM ใหญ่กว่า IAU ราว 2 เท่า

ETF ที่เข้าลงทุนใน “อัตราแลกเปลี่ยน” (Currency)

1. Invesco DB US Dollar Index Bullish (UUP.US) : ETF ที่เข้าลงทุนในตะกร้าสกุลเงินต่างประเทศเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้นราคาของ ETF ดังกล่าว จะลดลงเมื่อสกุลเงินอื่นแข็งค่า และจะเพิ่มขึ้น เมื่อสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น ดังนั้น กองนี้อาจเหมาะสำหรับนักลงทุนที่มองว่า เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐจะแข็งค่าขึ้นต่อในอนาคต เทียบกับสกุลเงินอื่น เฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว

2. Invesco DB US Dollar Index Bearish Fund (UDN.US) : ETF ที่เข้าลงทุนในสกุลเงินอื่นในประเทศพัฒนาแล้ว เทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเช่นกัน แต่มีความแตกต่างกันตรงที่ ราคา UDN ETF จะปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อสกุลเงินอื่นเหล่านี้แข็งค่า และสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า นอกจากนี้ UDN ETF อาจเหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนหรือเดิมพันกับเงินดอลลาร์สหรัฐ

ติดต่อโฆษณา!