28 มีนาคม 2565
1,470

“บล.กสิกรฯ คาดกำไร บจ.ปี 65 หดตัว 8.3% ผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครน กลุ่มพลังงานคาดกำไรสวนตลาดพุ่ง 33 %”

“บล.กสิกรฯ คาดกำไร บจ.ปี 65 หดตัว 8.3% ผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครน กลุ่มพลังงานคาดกำไรสวนตลาดพุ่ง 33 %”
Highlight

เมื่อราคาน้ำมันกระชากขึ้นไปยืนเหนือ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลนานๆ ย่อมส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตในหลายๆอุตสาหกรรม บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทยประเมินแบบทดสอบผลกระทบต่อกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.)ในปี65  หากราคาน้ำมันเฉลี่ยที่ 95 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และ จีดีพีเติบโตเพียง 2% พบว่าภาพรวมกำไร บจ.เติบโต 1.4% กำไรกลุ่มพลังงาน อยู่ที่ 33% และหากไม่นับรวมกลุ่มพลังงานกำไรรวมลดลง 8.3%


บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย (KS) ได้ทำการทดสอบความอ่อนไหวต่อสงครามรัสเซีย-ยูเครนจากประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) ปี 2565 ภายใต้คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบใหม่ที่ 95 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล (เทียบกับสมมติฐานก่อนหน้าที่ 69 ดอลลาร์ฯ) ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) หรือเศรษฐกิจเติบโตที่ 2% และจำนวนนักท่องเที่ยวปี 2565 ที่ 3 ล้านคน (เทียบกับสมมติฐานจีดีพีที่ 3.7% และจำนวนนักท่องเที่ยว 8.6 ล้านคนในปี 2565) คาดว่ากำไรรวมของบจ.จะเติบโตเพิ่มขึ้น 1.4% โดยได้รับแรงหนุนจากกลุ่มพลังงานเป็นหลัก 

บทวิเคราะห์ของ KS ระบุว่า ผลกระทบเชิงบวกต่อกลุ่มพลังงานส่วนหนึ่งมาจากการเพิ่มขึ้นของกำไรจากสต็อกน้ำมันที่เกิดขึ้นครั้งเดียวของหุ้นกลุ่มโรงกลั่นและราคาขายเฉลี่ยที่สูงขึ้นสำหรับธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) โดยคาดว่ากำไรของกลุ่มพลังงานในปี 2565 จะเพิ่มขึ้น 33% จากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น 26 ดอลลาร์ฯ/บาร์เรล 

หากไม่รวมกลุ่มพลังงาน คาดว่าผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน จะทำให้กำไรบริษัทจดทะเบียนปี 2565 ปรับตัวลง 8.3% เพราะผลกระทบเชิงบวกจากราคาขายที่สูงขึ้น (2.3%) หักล้างผลกระทบเชิงลบ (-10.6%) โดยผู้ได้รับผลประโยชน์หลัก ได้แก่ กลุ่มพลังงาน เรือบรรทุกสินค้าเทกอง และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 

สำหรับบริษัทจดทะเบียนกลุ่มพลังงานที่ KS คาดว่าจะมีกำไรจากสต็อกน้ำมันที่เกิดขึ้นครั้งเดียว และส่งผลให้กำไรปี 2565 เพิ่มขึ้น ประกอบด้วย บมจ. เอสโซ่ (ประเทศไทย) หรือ ESSO บมจ.ไทยออยล์ (TOP) บมจ. สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง (SPRC) บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) และ บมจ.ปตท. (PTT) ที่คาดว่ากำไรจะเพิ่มขึ้น 165% 137% 133% 81% 66% 48% และ 17% ตามลำดับ จากราคาน้ำมันดิบดูไบที่เพิ่มขึ้น 26 ดอลลาร์ฯ/บาร์เรล เป็น 95 ดอลลาร์ฯ/บาร์เรล 

สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนจะช่วยดันอัตราค่าระวางเรือแห้งเทกองจากความต้องการในการเติมสต็อกสินค้าโภคภัณฑ์และการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานหลังการคว่ำบาตรรัสเซีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ ดัชนี Baltic Supramax ที่เพิ่มขึ้น 5% คาดจะส่งผลให้กำไรในปี 2565 ของ PSL เพิ่มขึ้น 10% 

นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจะได้รับประโยชน์จากค่า Ft ที่เพิ่มขึ้น ประมาณการกำไรของบริษัทเดมโก้ ( DEMCO) บริษัทกันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) บริษัทพลังงานบริสุทธิ์ (EA) บริษัททีพีซีเพาเวอร์โฮลดิ้ง (TPCH) บริษัทเอสพีซีจี (SPCG) และบริษัทเสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น (SSP) ในปี 2565 จะเพิ่มขึ้น 1-5% จากค่า Ft ที่จะถูกปรับขึ้น 0.13 บาท/หน่วย

EIC เตรียมปรับประมาณการ GDP ไทยลง และคาดส่งออกจะลดลงนับจากเดือน มี.ค
 
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ Economic Intelligence Center (EIC) ระบุว่า เตรียมปรับการคาดการณ์จีดีพีของไทยลง เนื่องจากผลกระทบจากสงคราม ส่งผลให้ไทยส่งออกได้ลดลงในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.

EIC ระบุว่าการส่งออกไทยยังขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 12 โดยผลกระทบจากสงครามในยูเครนยังไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์ โดยการส่งออกในเดือนนี้ขยายตัว 16.2% เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ 8% โดยหากพิจารณาเทียบกับเดือนมกราคม (ปรับผลของฤดูกาล) การส่งออกจะขยายตัว 4.4% (MOM, SA) สอดคล้องกับมูลค่าการส่งออกของประเทศสำคัญหลายประเทศทั่วโลก และดัชนีชี้นำกิจกรรมการผลิตทั่วโลกที่กลับมาเร่งตัวได้อีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ หลังชะลอตัวลงจากผลกระทบของโอมิครอนในเดือนมกราคม

โดย EIC คาดว่าการส่งออกและนำเข้าของไทยในปี 2565 จะขยายตัวได้มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ในช่วงก่อนหน้า แต่จะเป็นผลจากปัจจัยทางด้านราคามากกว่าปริมาณ ซึ่งจะแตกต่างจากสถานการณ์ในช่วงปี 2564 ที่เป็นผลจากการขยายตัวด้านปริมาณเป็นหลักตามการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก 

โดยในปีนี้ ปริมาณการส่งออกไทยมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากผลของสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่อาจทำให้อุปสงค์โลกชะลอตัว โดยเฉพาะในตลาดยุโรป อีกทั้ง ยังได้รับผลกระทบผ่านระดับราคาโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะสินค้าพลังงานและวัตถุดิบการผลิตที่สำคัญหลายชนิด ตามมาตรการคว่ำบาตรต่าง ๆ ต่อรัสเซียและความเสี่ยงต่อการชะงักงันด้านอุปทานที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ EIC จะปรับประมาณการการส่งออกของไทย และตัวเลขประมาณการทางเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ และเผยแพร่ใน EIC Outlook ในปลายเดือนมีนาคมนี้

ด้านมูลค่าการส่งออกเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ขยายตัว 16.2% เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ 8% ในขณะที่การนำเข้าสินค้าขยายตัว 16.8% ชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ 20.5% โดยถึงแม้ว่าดุลการค้าในเดือนนี้จะเกินดุล 123.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เมื่อรวมกับข้อมูลในเดือนมกราคมจะยังคงขาดดุลที่ -2,403.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในเดือนนี้กระทรวงพาณิชย์ยังไม่ได้เปิดเผยข้อมูลการส่งออกและนำเข้ารายสินค้าในเดือนมกราคม เนื่องจากอยู่ระหว่างการปรับปรุงรหัสสถิติสินค้าตามพิกัดศุลกากร ซึ่งดำเนินการในทุก 5 ปี

สำหรับการส่งออกสินค้ารายตลาด กระทรวงพาณิชย์รายงานว่า ตลาดส่งออกที่มีการขยายตัวมากที่สุดเป็น 5 ลำดับแรก ได้แก่ รัสเซีย (33.4%), อาเซียน 5 (31.5%), ฮ่องกง (29.8%), เกาหลีใต้ (28.9%) และสหรัฐฯ (27.2%)

อย่างไรก็ตาม แม้การส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ยังไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามในยูเครน เนื่องจากสงครามเริ่มต้นขึ้นในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งการส่งออกในเดือนนี้ยังมีทิศทางขยายตัว โดยหากพิจารณาเทียบกับเดือนมกราคม (ปรับผลของฤดูกาล) การส่งออกจะขยายตัว 4.4% (MOM, SA) สอดคล้องกับมูลค่าการส่งออกของประเทศสำคัญหลายประเทศทั่วโลก และดัชนีชี้นำกิจกรรมการผลิตทั้ง Global Manufacturing PMI - Export Orders และ Manufacturing PMI ที่กลับมาเร่งตัวได้อีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ หลังชะลอตัวลงจากผลกระทบของโอมิครอนในเดือนมกราคม

ทั้งนี้ การส่งออกของไทยอาจเริ่มเห็นผลกระทบจากสงครามในยูเครนในเดือนมีนาคม-เมษายน โดยเฉพาะการส่งออกไปยุโรป อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาข้อมูลการส่งออก 20 วันแรกของเดือนมีนาคมของเกาหลีใต้ก็จะพบว่ายังมีแนวโน้มที่ดีอยู่ แต่ขยายตัวจากปัจจัยทางด้านราคามากกว่าปริมาณ โดยจะแตกต่างจากสถานการณ์ในปี 2564 ที่เป็นผลจากการขยายตัวด้านปริมาณเป็นหลักตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

การขยายตัวด้านราคาสินค้าส่งออกในปีนี้ จะเป็นผลจากระดับราคาสินค้าและโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะสินค้าพลังงาน จากผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน เนื่องจากรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกโภคภัณฑ์ที่สำคัญหลายชนิด เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ โลหะอุตสาหกรรม และวัตถุดิบทางการเกษตร ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าและราคาส่งออกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากในปีนี้

ที่มา: บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย, ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจไทยพาณิชย์ (EIC)

ติดต่อโฆษณา!