08 มกราคม 2565
1,459

นักลงทุนเดือดทั้งกระดานหุ้นและคริปโต !! เมื่อสรรพากรจะเรียกเก็บภาษีกำไรจากการซื้อขายเป็นครั้งแรกในปีนี้

นักลงทุนเดือดทั้งกระดานหุ้นและคริปโต !!  เมื่อสรรพากรจะเรียกเก็บภาษีกำไรจากการซื้อขายเป็นครั้งแรกในปีนี้
Highlight :
ในปี 2564 ที่ผ่านมา นับว่าเป็นปีทองของการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิตัล หรือ คริปโตเคอเรนซี ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุดในช่วงการระบาดของโควิด-19 โดยที่ปริมาณธุรกรรมการซื้อขายผ่านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิตัล 5 รายที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ย 4.5 พันล้านบาทต่อวัน และมีนักลงทุนซื้อขายคริปโตมากถึง 1.77 ล้านคน โดยที่กรมสรรพากร ขอหักภาษีเงินได้ 15% จากกำไร ส่วนภาษีกำไรจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ จะมีการจัดเก็บที่อัตรา  0.1% ของมูลค่าการซื้อขายที่เกิน 1 ล้านบาทต่อเดือน

การซื้อขายสินทรัพย์ดิจิตัลโดยเฉพาะคริปโตเคอเรนซีเติบโตมากในปีที่ผ่านมา

เรียกว่ามีเศรษฐีใหม่Gen Y หรือGen X เกิดขึ้นหลายราย ในขณะที่ธุรกิจแบบดั้งเดิมไม่ว่าจะเป็นด้านการท่องเที่ยว โรงแรม หรือศูนย์การค้าขาดทุนอย่างหนัก จากการล็อคดาวน์เป็นช่วงๆ เนื่องมาจากการระบาดของโควิด-19.  ในขณะที่รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณเในการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นจำนวนมาก ผ่านหลายช่องทางเพื่อช่วยเหลือทั้งผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

 

เมื่อมีค่าใช้จ่ายจำนวนมากทำให้รัฐบาลขาดดุลย์งบประมาณอย่างต่อเนื่องและต้องขยายเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% เป็น 70% เผื่อสำรองการกู้ไว้ใช้จ่ายฉุกเฉินเนื่องจากสถานการณ์โควิดยังอยู่  เมื่อมีค่าใช้จ่ายสูงและขาดดุลย์งบประมาณต่อเนื่อง จึงจำเป็นที่กรมสรรพากร จะต้องหาแหล่งรายได้เพิ่มเติมจากการจัดเก็บภาษีใหม่ๆ เพิ่มเติม เพื่อปรับลดงบประมาณรายจ่ายลง

 

จึงเป็นที่มาของการที่กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพากร เตรียมจัดเก็บภาษีกำไรจากการลงทุนในตลาดหุ้นหรือ Capital Gain Tax และภาษีเงินได้จากการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิตัลหรือคริปโตเคอเรนซีนั่นเอง

 

สำหรับภาษีจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์นั้นจะมีการจัดเก็บที่อัตรา  0.1% ของมูลค่าการซื้อขายเกิน 1 ล้านบาทต่อเดือน ส่วนภาษีกำไรจากการซื้อขายคริปโต จะมีการจัดเก็บในอัตรา 15% ของกำไร และหากตรวจพบการจ่ายภาษีตำกว่าความเป็นจริง จะต้องเสียค่าปรับร้อยละ 1.5 ต่อเดือน

 

ในเรื่องนี้ คุณสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี และโฆษกกรมสรรพากร ให้ข้อมูลในรายการ The Morning Wealth ถึงแนวทางการจัดเก็บภาษีคริปโตโดยระบุว่าการคิดภาษีเงินได้ คิดจากการทำธุรกรรมคริปโตทุกรายการ (transactions) ที่มีกำไรเป็นเงินสด

 

หากตีความจากคำอธิบายนี้ สมมุติว่าผู้เสียภาษีทำการแลกเปลี่ยนบนแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยน 10 รายการในปีนั้น โดยขายเหรียญได้กำไรเป็นเงินสด 5 รายการ รวม 200,000 บาท แต่อีก 5 รายการ ขายเหรียญแล้วขาดทุน 500,000 บาท รวมทั้งปีผู้เสียภาษีขาดทุนจากการแลกเปลี่ยนรวม 300,000 บาท ภาษี 15% นั้นก็จะต้องระบุเงินได้เพื่อเสียภาษีจากกำไร 200,000 บาทอยู่ดี แม้ยอดรวมทั้งปีจะขาดทุน หรือแม้จะยังไม่ได้ถอนเงินบาทออกมาจากพอร์ตบนแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนก็ตาม เนื่องจากสรรพากรถือว่าการสั่งขายเป็นเงินได้ทันที แม้จะยังไม่ได้ถอนเงินออกมา

 

ทั้งนี้กรมสรรพากรระบุว่ามี Big Data และ Data Analytic มาช่วยในการวิเคราะห์ หากผู้เสียภาษีอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะเสียภาษีไม่ถูกต้อง ผู้เสียภาษีอาจต้องทำการพิสูจน์ว่าการยื่นแบบเสียภาษี ต่ำกว่าความเป็นจริงหรือไม่ ถ้าต่ำกว่าก็ต้องชำระเพิ่มในส่วนที่ยื่นขาด และยังต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละ 1.5 ต่อเดือน ในส่วนที่ยื่นขาด และกำลังประสานกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยน เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการนำส่งข้อมูลภาษีของผู้ซื้อและผู้ขายให้กับกรมสรรพากร

 

จากประเด็นการจัดเก็บภาษีคริปโตยังไม่ชัดเจนนัก และหากดูคำอธิบาย กรณีที่มีกำไรต้องมีภาระทางภาษี ในขณะที่ขาดทุนไม่สามารถนำมาหักออกได้ ทำให้ชุมชนผู้ลงทุนในคริปโตต่างพากันวิพากวิจารย์ในวิธีการจัดเก็บดังกล่าว รวมทั้งนักเทรดจะต้องบันทึกกำไรขาดทุนทุกรายการ ทำให้ยุ่งยากและเป็นภาระ และคาดว่านักลงทุนบางส่วนอาจหนีไปซื้อขายในแพลตฟอร์มต่างประเทศแทน

 

“ถือเป็นการต้อนรับปีใหม่ 2022 กันอย่างจุก ๆ สำหรับข่าวการจัดเก็บภาษีคริปโตในประเทศไทย ที่ทำเอานักเทรดและนักลงทุนชาวไทยต้องอ้าปากค้างไปตาม ๆ กัน” เพจเฟสบุ๊ค drpeerapat.f  ระบุ

 

ทางด้านการจัดเก็บภาษีกำไรจากการซื้อขายหุ้นก็เช่นเดียวกัน นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (เฟสโก้) ได้แสดงความเห็นว่า การจัดเก็บภาษีกำไรจากการซื้อขายหุ้นในช่วงนี้ถือว่า “ไม่ถูกเวลา” เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวจากผลกระทบจากโควิด อีกทั้งจะทำให้ต้นทุนในการซื้อขายสูงขึ้น ทำให้ประสิทธิภาพการแข่งขันของตลาดหุ้นไทยในระดับภูมิภาคจะลดลง

 

โดยคาดว่าบรรดากองทุนต่างประเทศที่ลงทุนระยะสั้น ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เครื่องมือ เช่น โปรแกรมเทรด หรือ algorithm trading หายไปจากตลาด ซึ่งนัดลงทุนกลุ่มนี้มีอยู่ประมาณ 30-40% ของมูลค่าการซื้อขายรวม  จะทำให้สภาพค่องและมูลค่าการซื้อขายประจำวันลดลง ดังนั้นสมาชิกเฟทโก้จะมีการหารือเพื่อเสนอกระทรวงการคลังพิจารณาทบทวนอีกครั้ง

 

ซึ่งประเด็นการจัดเก็บภาษีทั้งตลาดหุ้นและตลาดคริปโต กลายเป็นประเด็นร้อนของวงการลงทุนตั้งแต่ต้นปีเลยทีเดียว ซึ่งต้องติดตามว่ากระทรวงการคลังจะพิจารณาลดหย่อนผ่อนปรนลงได้หรือไม่ หรือมีแนวทางการคำนวนภาษีที่ชัดเจนขึ้น

ติดต่อโฆษณา!