09 มีนาคม 2566
1,147

15 จังหวัดอ่วมเจอฝุ่น PM2.5 ติดต่อเกิน 3 วัน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขแจงพบผู้ป่วยแล้วจากต้นปีกว่า 1.32 ล้านราย

15 จังหวัดอ่วมเจอฝุ่น PM2.5 ติดต่อเกิน 3 วัน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ  กระทรวงสาธารณสุขแจงพบผู้ป่วยแล้วจากต้นปีกว่า 1.32 ล้านราย
Highlight

กระทรวงสาธารณสุขเผยพบพื้นที่ที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 เกิน 51 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตรในช่วง 1-5 มี.ค โดยค่าฝุ่นเกิดขึ้นในพื้นที่ติดต่อกันเกิน 3 วัน จำนวน 15 จังหวัด ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครทั้ง 50 เขต นับจากต้นปีพบผู้ป่วยได้รับผลกระทบจากฝุ่นจิ๋วแล้วกว่า 1.32 ล้านคน อย่างไรก็ตามคาดว่าสถานการณ์จะดีขึ้นในช่วง 9-14 มี.ค.


  • นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากรายงานสถานการณ์หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็กด้านการแพทย์และสาธารณสุข ประจำวันที่ 8 มีนาคม 2566 พบพื้นที่ที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 เกิน 51 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ซึ่งเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ติดต่อกันเกิน 3 วัน จำนวน 15 จังหวัด ได้แก่

- น่าน (อ.เมือง อ.เฉลิมพระเกียรติ)
- เชียงใหม่ (อ.เมือง อ.ฮอด อ.เชียงดาว อ.แม่แจ่ม)
- เชียงราย (อ.เมือง อ.แม่สาย อ.เชียงของ)
- แพร่ (อ.เมือง) พะเยา (อ.เมือง)
- ลำพูน (อ.เมือง อ.ลี้)
- ลำปาง (อ.เมือง อ.แม่เมาะ)
- แม่ฮ่องสอน (อ.เมือง อ.แม่สะเรียง อ.ปาย)
- อุตรดิตถ์ (อ.เมือง)
- สุโขทัย (อ.เมือง)
- ตาก (อ.แม่สอด อ.เมือง)
- พิษณุโลก (อ.เมือง)
- เพชรบูรณ์ (อ.เมือง)
- นนทบุรี (อ.เมือง อ.ปากเกร็ด)
และ กทม.ทั้ง 50 เขต

  • โดยมีการเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขแล้ว 15 จังหวัด และกำลังเปิดเพิ่มอีก 6 จังหวัด ส่วนพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นมากกว่า 51 มคก./ลบ.ม. แต่ไม่ต่อเนื่องเกิน 3 วันมี 36 จังหวัด

  • "ค่าฝุ่น PM 2.5 ปีนี้สูงกว่าปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปี 2564 และ 2565 เป็นช่วงที่มีสถานการณ์โควิด 19 การเดินทางน้อย ทำให้มีค่าฝุ่นน้อย อย่างไรก็ตาม จากการประเมินสถานการณ์ วันที่ 9-14 มีนาคม 2566 โดยกรมควบคุมมลพิษ พื้นที่ กทม.และปริมณฑลมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เนื่องจากมีลมทางใต้ช่วยพัดพาฝุ่นละอองออกจากพื้นที่ ส่วนภาคเหนือตอนบนและตอนล่างยังมีแนวโน้มสูงขึ้น" นพ.โอภาสกล่าว

  • เมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน สถานการณ์ฝุ่นจะค่อยๆ ลดลง คาดว่าจะยังมีปัญหาอยู่อีก 1-2 สัปดาห์ จึงต้องเฝ้าระวังในกลุ่มเสี่ยง ทั้งผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีโรคทางปอดและหัวใจ รวมถึงเด็กเล็ก โดยช่วงที่มีค่ามีฝุ่นสูง ควรเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง ทั้งนี้ ได้สั่งการให้เฝ้าระวังและดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง นายแพทย์โอภาส กล่าว
  • ซึ่งจากการเฝ้าระวังโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 5 มีนาคม 2566 พบผู้ป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศรวม 1,325,838 ราย โดยสัปดาห์นี้พบผู้ป่วย 196,311 ราย เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมาที่พบ 161,839 ราย
  • กลุ่มโรคที่เจ็บป่วยสูงสุด ได้แก่ กลุ่มโรคทางเดินหายใจ 583,238 ราย เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 85,910 ราย, กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ 267,161 ราย เพิ่มขึ้น 35,878 ราย กลุ่มโรคตาอักเสบ 242,805 ราย เพิ่มขึ้น 36,537 ราย และโรคหัวใจ หลอดเลือดและสมอง 208,880 ราย เพิ่มขึ้น 33,413 ราย

กทม.ขอความร่วมมือ WFH ใช้รถส่วนตัวน้อยลง ลดมลพิษทางอากาศ

  • ทางด้านกรุงเทพมหานคร นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ได้ลงนามในหนังสือด่วนที่สุดถึงหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เมื่อวานนี้ กำชับให้ปฏิบัติตามมาตรการเพื่อควบคุมฝุ่นละอองอย่างเคร่งครัด
  • โดยหนังสือด่วนมีใจความว่า.. ด้วยสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากสภาพอากาศที่นิ่งและปิด ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน เพื่อบรรเทาความรุนแรงของสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 และลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสุขภาพอนามัยของประชาชน
  • จึงให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มความเข้มงวดดำเนินมาตรการตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปี 2566 ดังนี้
    1. เข้มงวดตรวจวัด ตรวจจับรถยนต์ควันดำทุกประเภท ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามแผนที่กำหนด

    2. ประสานสถานีตำรวจท้องที่อำนวยการจราจรและกวดขันห้ามจอดรถในถนนสายหลัก-สายรองตลอดเวลา

    3. ขอความร่วมมือทำงานหรือปฏิบัติงานในที่พัก (Work from Home) ใช้รถเท่าที่จำเป็น ไม่ขับ...ช่วยดับเครื่อง

    4. ประชาสัมพันธ์ประชาชนให้บำรุงรักษาเครื่องยนต์ และลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว

    5. ควบคุมสถานประกอบกิจการในพื้นที่ไม่ให้ปล่อยมลพิษทางอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด

    6. ขอความร่วมมือผู้ประกอบการ ทำ Big Cleaning บริเวณสถานที่ก่อสร้างและแพลนต์ปูน รวมถึงงดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองจากการก่อสร้างทุกประเภท

    7. เข้มงวดตรวจตราควบคุมไม่ให้มีการเผาขยะหรือการเผาในที่โล่งทุกประเภท

    8. ทุกสำนักงานเขตทำ Big Cleaning บริเวณที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่เขต และเพิ่มความถี่ในการล้างและดูดฝุ่นถนน ฉีดล้างต้นไม้ ใบไม้ และทำความสะอาดป้ายรถเมล์อย่างต่อเนื่อง

    9. ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ พร้อมแนะนำวิธีป้องกันสุขภาพอนามัยจากฝุ่นละออง PM2.5 ให้กับประชาชน และแจ้งเตือนประชาชนให้ติดตามสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ผ่านช่องทางแอปพลิเคชัน AirBKK และเว็บไซต์ www.bangkokairquality.com www.air4bangkok.com และ www.prbangkok.com หากประชาชนเห็นแหล่งกำเนิดมลพิษ สามารถแจ้งเบาะแสผ่านทางแอปพลิเคชัน Traffy Fondue

    10. ออกหน่วยบริการสาธารณสุขและหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ คลินิกมลพิษทางอากาศ ดูแลสุขภาพประชาชน

    11. ดำเนินการตามมาตรการลดฝุ่นละออง PM2.5 ในโรงเรียนอย่างเคร่งครัด และลดผลกระทบต่อสุขภาพของนักเรียนในโรงเรียน

  • สำหรับผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจที่มีสาเหตุมาจากฝุ่น PM2.5 สามารถเข้ารับการปรึกษาได้ที่คลินิกมลพิษทางอากาศ ณ โรงพยาบาลสังกัด กทม. 6 แห่ง ประกอบด้วย
- โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ
- โรงพยาบาลกลาง
- โรงพยาบาลตากสิน
- โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์
- โรงพยาบาลสิรินธร
- โรงพยาบาลราชพิพัฒน์

ในเวลา 08.00-15.00 น. หรือขอรับคำปรึกษาผ่านสายด่วนสุขภาพ สำนักการแพทย์ กทม. โทร. 1646 ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง

ที่มา : thaigov.go.th, กรุงเทพมหานคร


ติดตาม ทันข่าวToday ช่องทางอื่น ๆ


🔺 Website : https://www.thunkhaotoday.com/
🔺 Facebook : https://www.facebook.com/thunkhaotoday
🔺 Line Today : https://bit.ly/3ifSuDr
🔺 ติดต่อโฆษณา : https://line.me/ti/p/9mjGVL4nhC

ติดต่อโฆษณา!