04 ตุลาคม 2565
2,340

ทำความรู้จักกับ “ยาคุม” ใช้อย่างไรให้ถูกวิธี

Highlight

การกินยาคุมกำเนิดเป็นวิธีการป้องกันการตั้งครรภ์ที่รู้จักกันมานาน และเป็นวิธีที่ได้ผลดี แต่อาจยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการใช้ยาคุมกำเนิดด้วยวัตถุประสงค์อื่นเช่น การกินยาเพื่อเพิ่มฮอร์โมนเพศหญิงหรือความกลัวจากอาการข้างเคียง หากกินติดต่อเป็นเวลานานจะเป็นมะเร็งหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนากระบวนการผลิตยา มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดผลข้างเคียงต่าง ๆ ลงไปมาก และมีข้อดีจากการกินยาคุมกำเนิดหลายประการ นอกจากนี้ยังมีวิธีการคุมกำเนิดหลากหลายประเภท ที่สามารถเลือกให้เหมาะสมกับการวางแผนเพื่อการมีบุตร หรือยาคุมกำเนิดฉุกเฉินเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์



20221004-c-01.jpg


ลัดคิวหมอรามา
ตอน : ทำความรู้จักกับ “ยาคุม” ใช้อย่างไรให้ถูกวิธี

รู้ก่อนใช้ คุมอย่างไรให้ถูกวิธี กับความจริงที่ผู้หญิงควรรู้ เพื่อคุมกำเนิดอย่างมีประสิทธิภาพ โดย ผศ.พญ.อรวิน วัลลิภากร สาขาเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี

ยาคุมที่เรารู้จักคุ้นเคยกันมานาน สำหรับสุภาพสตรีใช้สำหรับป้องกันการตั้งครรภ์และยังมีประโยชน์ด้านอื่น ๆ อีกด้วย แต่รู้หรือไม่ว่าการใช้ยาคุมผิดวิธี เช่นไปซื้อมากินเอง อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้

ยาคุมกำเนิด เป็นยาที่ใช้รับประทานเพื่อคุมกำเนิด มีหลายแบบ และนอกจากคุมกำเนิด ป้องกันการตั้งครรภ์ได้แล้ว ยังมีประโยชน์อย่างอื่นอีก เช่น จะทำให้ปริมาณประจำเดือนในแต่ละรอบเดือนลดลง ลดอาการปวดประจำเดือน ลดการเกิดสิว ซึ่งเป็นผลข้างเคืองที่ยาคุมกำเนิดในปัจจุบันได้พัฒนามาเป็นลำดับ

ประโยชน์ส่วนตัวโดยตรง ยาคุมกำเนิดในรูปแบบรับประทานมีประสิทธิภาพค่อนข้างสูง หากกินยาสม่ำเสมอ ไม่ลืม ไม่ข้ามวัน โอกาสตั้งครรภ์ค่อนข้างน้อย

ยาคุมกำเนิดยังสามารถใช้ได้ในวัตถุประสงค์อื่นที่ไม่ใช่การตั้งครรภ์ ซึ่งทางสูตินารีแพทย์ก็นำมาใช้ในการรักษาโรคบางอย่าง เช่น ลดการปวดประจำเดือนจากภาวะเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ ช็อกโกแลตซีสต์ที่ปริมาณเล็กๆ หรือป้องกันไม่ให้รอยโรคเพิ่มขึ้น

มีคำถามว่า กินยาคุมกำเนิดนาน ๆ จะมีความเสี่ยงเกิดมะเร็ง จริงหรือไม่?

จริง ๆ แล้วการกินยาคุมกำเนิดจะช่วยหยุดมะเร็งเยื่อบุมดลูกและมะเร็งรังไข่ได้ เพราะช่วงที่กินยา ไข่จะหยุดทำงาน ไม่มีการตกไข่เกิดขึ้น พอไม่มีการตกไข่ก็ ตัวรังไข่ก็จะไม่มีรอยแผล ก็จะลดความเสี่ยงมะเร็งรังไข่ไดแต่จะมีความกังวลเรื่องมะเร็งเต้านม ซึ่งจริง ๆ คนไทยส่วนใหญ่จะกลัวเรื่องนี้เพราะมะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งอันดับหนึ่งของผู้หญิง ยาคุมกำเนิดรุ่นเก่า ๆอาจจะมีฮอร์โมนที่สูงกว่ารุ่นปัจจุบันมาก ประมาณ 2-3 เท่าซึ่งพบว่าจะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมราว 1 ใน 100,000 ราย เทียบกับคนที่ไม่ได้ทาน ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงน้อยเมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้รับยาคุมกำเนิด

ปัจจุบันยาคุมกำเนิดได้มีการลดระดับฮอร์โมนลงมา ความเสี่ยงเรื่องมะเร็งเมื่อกินยาแล้วผลข้างเคียงจะลดลงกว่าเมื่อก่อน

อย่างไรก็ตามการกินยาคุมกำเนิดเป็นเวลานาน ก็อาจมีผลข้างเคียงอื่น สำหรับคนไข้ที่รักษาโรคบางโรค เช่น ภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง อาจจะกินนาน 3-5 ปี ซึ่งช่วงที่กินแรก ๆ อาจมีภาวะเลือดออกกระปริบกระปรอย พบได้เมื่อกินไป  2-3 แผงแรก เมื่อทานต่อเนื่องไปอาการเหล่านี้จะลดลงเอง

ภาวะช่องคลอดแห้ง มีเพศสัมพันธ์แล้วอาจเจ็บ อารมณ์ทางเพศลดลง อาจเกิดจากยาคุมกำเนิดไปปรับสมดุลฮอร์โมนในร่างกาย ทำให้โฮโมนเพศชายลดลง

ถ้าจะเริ่มกินยาคุมกำเนิด สำหรับมือใหม่ควรเริ่มต้นอย่างไร

ยาคุมกำเนิดจะเหมาะมากสำหรับคนอายุ 20 ปีขึ้นไป คือบริหารยาง่ายและหาซื้อได้ง่าย ไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ ยิ่งอายุน้อย ๆ ความเสี่ยงในยาคุมกำเนิดจะน้อยตามไปด้วย

อยากมีลูกเมื่อไหร่ เราสามารถหยุดทานยาได้ทันที โดยไม่ต้องรอระยะเวลานานมาก

ยาคุมกำเนิดชนิดแผง เราแนะนำให้เริ่มในวันที่ 5 ของวันที่เป็นประจำเดือน ซึ่งจะนับในวันแรกที่เลือดออก ทางที่ดีควรเริ่มตั้งแต่วันที่ 2 หรือวันที่ 3 ก็ได้ ซึ่งวิธีนี้หากคนไข้มีสุขภาพแข็งแรงดี ไม่มีปัญหาอะไร ก็สามารถทานยาได้ตามปกติ กรณีมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดัน ก็แจ้งคุณหมอประจำตัวเพื่อขอคำแนะนำก่อนทานยา

นอกจากยากิน มีการคุมกำเนิดแบบไหนอีกหรือไม่ ?

กรณีที่เกี่ยวกับฮอร์โมนจะมีอีก 2 กลุ่มคือ ฉีด กับ ฝัง

ซึ่งการฝังยา ถือว่าเป็นวิธีที่ดีมาก ปัจจุบันใช้เป็นซิลิโคลนแท่งเล็กๆ ฝังที่ต้นแขนเพียงแท่งเดียว หนึ่งแท่งอยู่ได้ 3 ปี และประสิทธิภาพเทียบเท่าการทำหมัน คือดีมาก โอกาสไม่ตั้งครรภ์เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ อาจจะเหมาะกับคนที่มีลูกคนแรก และต้องการเว้นช่วงการมีบุตรไปอีกราว 2-3 ปี แล้วค่อยมีอีกคน เมื่อเอาออกแล้วจะสามารถตั้งครรภ์เลย ซึ่งการนำชิ้นที่ฝังออกนั้นจะต้องให้แพทย์ดำเนินการ

ยาฝังอาจจะมีปัญหาเรื่องเลือดประจำเดือน ในกรณที่ฝังไปประมาณ 1 ปีก็จะไม่มีประจำเดือน ซึ่งหลักการของการฝังยา เพื่อการลดการมีเซลไข่ที่เป็นเซลสืบพันธุ์ของผู้หญิง เมื่อไม่มีไข่ตกก็ไม่มีประจำเดือน ฮอร์โมนเหล่านี้ก็จะไปกดการทำงานของรังไข่ ทำให้ไม่มีประจำเดือนทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกได้พักอีกด้วย

“ดังนั้นความเชื่อที่ว่า ไม่มีประจำเดือนจะทำให้เลือดเสียคั่งอยู่ในตัวก็ไม่เป็นความจริง”

ยาคุมฉุกเฉิน ควรใช้อย่างไร?

ยาคุมฉุกเฉินสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป หนึ่งแผงมี 2 เม็ด ซึ่งการมีเพศสัมพันธ์โดยที่ไม่ได้ป้องกันมีความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ ลืมกินยาคุม หรือถุงยางรั่ว ก็สามารถซื้อยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน 2 เม็ดกินภายใน 3 วันก็สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้  แต่ถ้ากินหลังจากนั้นจะทำให้ประสิทธิผลลดลงไปเยอะมาก ถ้าเกิน 3 วันแนะนำให้พบคุณหมอ ซึ่งอาจแนะนำการป้องกันตั้งครรภ์แบบอื่น เช่น ใส่ห่วง ซึ่งเป็นการรักษาของสูตินารีแพทย์

ปัจจุบันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์สามารถทำแท้งได้ตามกฏหมาย ซึ่งสูตินารีแพทย์ช่วยได้และต้องไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เพื่อให้การรักษาทันท่วงที

หรือกรณีถุงยางแตกอาจติดเชื้อ HIV แพทย์ก็อาจสั่งยาป้องกัน ทานต่อเนื่อง 4 สัปดาห์ได้

ยาคุมกำเนิด ทานยาแล้วอ้วนขึ้น จริงหรือไม่?

ถ้าเป็นยาคุมกำเนิด ที่เป็นฮอร์โมนแผงที่ต้องกินทุกวันส่วนใหญ่เป็นยาคุมแบบใหม่ ๆ มีการปรับฮอร์โมนให้เหมาะสม ไม่บวมน้ำ ไม่คั่งน้ำ และขับน้ำมากขึ้น

ดังนั้นการกินยาคุมกำเนิดในปัจจุบัน มีข้อดีคือ นอกจากคุมกำเนิดได้แล้ว ยังมีผิวหน้าดี ลดการเกิดสิว น้ำหนักไม่ขึ้น

ยาฝัง ยาฉีดคุมกำเนิดมีส่วนช่วยให้เกิดความอยากอาหารเพิ่มขึ้น แต่ถ้าเราไม่กินก็ไม่อ้วน

นวัตกรรมการคุมกำเนิดแบบแผ่นแปะ

เป็นนวกรรมที่ที่มีมานาน ซึ่งดีมากสามารถแปะส่วนใดก็ได้ของร่างกาย ยกเว้นเต้านม เพราะอาจไปกระตุ้นฮอร์โมน ราคาพอ ๆ กับยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน ไม่มีสารตกค้างในตับ ไม่เกิดลิ่มเลือดดำอุดตัน ซึ่งเป็นข้อเสียของการทานยาคุมกำเนิด แผ่นแปะคุมกำเนิดหนึ่งแผ่นใช้ได้นาน 7 วัน ราคายาคุมกำเนิดแตกต่างไปตามคุณสมบัติ

ปัจจุบันทาง สปสช.มีการแจกยาคุมกำเนิดฟรี ผ่าน อพพลิเคชั่น และรับยาได้จาก สถานพยาบาลใกล้บ้าน เข่นเดียวกับถุงยางอนามัยฟรี สามารถลงชื่อเพื่อขอรับบริการจากหน่วยงานสาธารณสุขใกล้บ้านเช่นกัน

คำถามเกี่ยวกับสุขภาพด้านอื่น ๆ ร่วมตอบคำถาม โดย ศ. พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์และผศ. พญ.อรวิน วัลลิภากร สาขาเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา

  • กรณีติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำอย่างไร?

สามารถติดต่อสาธารณสุขใกล้บ้านเพื่อเข้ารับการรักษา ตรวจอาการ หรือส่งตัวต่อไปยังสถานพยาบาลที่เหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป ปัจจุบันกรณีที่ต้องรับยาต้านไวรัส แพทย์จะจ่ายยาแพกซ์โลวิด หรือ โมลนูพิราเวียร์ รวมทั้งยารักษาตามอาการ เช่น ยาละลายเสมหะ ยาแก้ไอ เป็นต้น

  • กินฮอร์โมนแล้วจะช่วยปรับฮอร์โมนในร่างกายได้จริงหรือไม่ ?

ปรับได้จริง สำหรับในคนไข้บางกลุ่มที่มีฮอร์โมนเพศชายเกิน ผู้หญิงที่ส่วนสูง 165 เซ็นติเมตร น้ำหนัก 70 กิโลกรัม ก็ไม่ควรหนักเกิน 55 กิโลกรัม ถ้าน้ำหนักตัวเยอะจะสัมพันธ์กันคือภาวะฮอร์โมนเพศชายในร่างกายสูง ทำให้ไข่ไม่ตก การกินยาคุมกำเนิดจะจะช่วยปรับสมดุลลดฮอร์โมนเพศชายลง ข้อสังเกตคือมีสิว ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ มีหนวดเคราขึ้น ในลักษณะนี้กินยาคุมกำเนิดจะมีประโยชน์ในการช่วยคุมการมีรอบเดือนและลดฮอร์โมนเพศชายลง ลดการบวมน้ำลงได้อีกด้วย

  • เป็นฝ้า จากการกินฮอร์โมน เกิดขึ้นได้หรือไม่?

ถ้ากินฮอร์โมนกลุ่มเอสโตรเจน จะทำให้ เกิดฝ้าง่ายขึ้น เป็นแล้วก็เป็นเลย การกินฮอร์โมนกระตุ้นให้เกิดเร็วขึ้น ควรจะต้องทาครีมกันแดดตั้งแต่อายุยังน้อยหรือในวัยเด็ก หรือทาครีมกันแดดทุกครั้งที่เจอแดด ก็จะช่วยป้องกันการเป็นฝ้า แม้จะหยุดทานฮอร์โมนก็ยังไม่หายเป็นฝ้า ทั้งนี้ฝ้าเข้มหรือจางสัมพันธ์กับปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนที่มีอยู่ในยาคุม อาจจะจางลง

  • อายุ 63 ปี เป็นซีสต์ที่ไต กลางคืนปัสสาวะบ่อย อนาคตจะมีอันตรายด้านใดบ้าง?

ปกติถ้าไม่อยู่ในตำแหน่งที่สำคัญก็ไม่เกี่ยวข้องกับการทำงานของไต ถ้าอายุ 63ปีแล้ว ปัสสาวะกลางคืนบ่อย อาจจะต้องดูในเรื่องต่อมลูกหมากโตหรือไม่ อาจจะต้องไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจเช็คให้ละเอียด หรืออาจจะเป็นเบาหวานหรือไม่ อาจจะต้องตรวจเลือด เพื่อความชัดเจนอีกครั้ง

  • เป็นวัยทอง อ่อนเพลีย ผิวแห้ง ควรกินวิตามินหรือผลิตภัณฑ์อะไรเสริมหรือไม่?

ผู้หญิงวัยทอง คือช่วงที่ขาดประจำเดือนประมาณหนึ่งปี วิธีการดูคือ หมดประจำเดือน ร้อนวูบวาบ อ่อนเพลีย ไม่มีแรง นอนไม่หลับ ทะเลาะกับคนในบ้านบ่อย สมาธิสั้น ช่องคลอดแห้ง ปัสสาวะบ่อย  ถ้ามีอาการเหล่านี้ก็คือเป็นวัยทอง แต่ถ้าอายุมากขึ้น เช่นเข้าสู่ช่วง 65 ปี ผิวแห้ง ปัสสาวะบ่อย ก็อาจจะเป็นอาการที่เปลี่ยนไปตามอายุ

ถ้ามีอาการเหล่านี้ควรปรึกษาสูตินารีแพทย์จะแก้ปัญหาได้ตรงมากที่สุด แพทย์อาจจะให้ฮอร์โมนเพศหญิงเพิ่ม การเตรียมตัวเข้าสู่วัยทองสามารถเตรียมตัวได้ตั้งแต่อายุ 35-40 ปี เช่น ถ้าน้ำหนักตัวเยอะ ก็ต้องออกกำลังกาย ลดน้ำหนักตัว ถ้าเริ่มตอนอายุ 50 ปี ก็จะลดน้ำหนักยากขึ้น

เอสโตรเจนที่อยู่กับเราจะมีประโยชน์เรื่องกระดูกมากที่สุด ซึ่งเมื่อหมดประจำเดือนแล้วควรรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีที่เพียงพอ ถ้าทานไม่พอจึงค่อยพิจารณาว่าควรเสริมหรือไม่ ควรได้รับวันละ 1,200 มิลลิกรัม ซึ่งส่วนใหญ่คนไทยได้รับไม่เพียงพอ นมหนึ่งแก้วเท่ากับ 200 มิลลิกรัม เท่านั้น ดังนั้นเท่าที่มีการวิจัยศึกษาอาหารไทยที่เรารับประทานเข้าไปหนึ่งวัน มีแคลเซียมประมาณ 300-400 มิลลิกรัมเท่านั้น ได้รับไม่เพียงพอ อาหารไทยที่แคลเซียมสูงสุดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือคือข้าวเหนียว

คนไทยยังได้รับวิตามินไม่เพียงพออีกด้วยแม้ว่าจะเป็นเมืองร้อนก็ตาม วิตามินที่ตะได้รับจากแสงแดดต้องผ่านการสังเคราะห์ UVB (Ultraviolet B) แต่มลภาวะในกรุงเทพทำให้ ยูวีบีส่งมาไม่ถึง ทำให้ได้รับวิตามินดีน้อยกว่าปกติและได้รับฝ้า กระ แทน

  • วัยทองในผู้ชายเป็นอย่างไร?

วัยทองในผู้ชายก็จะมีอาการคล้ายกับของผู้หญิง หากเปรียบเทียบกันผู้หญิงจะมีภาวะการลดลงของฮอร์โมนอย่างรวดเร็วเหมือนลงลิฟท์ ฮอร์โมนเพศชายจะค่อย ๆ ลดลง อาจจะไม่ชัดเจนเหมือนผู้หญิง อาจจะเห็นชัดเจนเมื่ออายุมากกว่า 50 ปี  อายุ 60 ปีก็จะชัดเจนขึ้น เพราะกระดูกพรุน หรือกระดูกบางลงเช่นเดียวกัน

ถ้าผู้หญิงจะมีตัวชี้วัดที่ชัดเจนคือภาวะหมดประจำเดือน ส่วนในผู้ชายอาจจะมีภาวะสมรรถภาพทางเพศลดลง นกเขาไม่ขัน ก็ให้เช็คสุขภาพได้ เป็นอาการแรกที่มักจะเกิดขึ้น เหนื่อยง่ายไม่มีแรง

  • อายุ 26 ปีเป็นถุงน้ำดีในรังไข่หลายใบ กินยาจัสติน 2-3 ปีเป็นอันตรายหรือไม่?

น่าจะเป็นอาการที่เรียกว่า Polycystic Ovary Syndrome เมื่ออัลตร้าซาวด์จะเห็นมีถุงน้ำในรังไข่หลายใบ คล้ายรังผึ้งมีไข่หลายใบ แต่ไม่ตก เป็นความผิดปกติของรังไข่เอง สัมพันธ์กับภาวะเรื่องอินซูลิน เจอได้บ่อยในคนไทย คนเอเชีย เป็นยีนที่มีความเสี่ยงเรื่องเบาหวานหรือภาวะอินซูลินได้  เป็นโรคประจำตัวที่ผิดปกติระดับยีน พันธุกรรมมีส่วน ถ้ามีใครในบ้านเป็นเบาหวานก็จะมีความเสี่ยง ที่เป็นภาวะโรคถุงน้ำรังไข่หลายใบได้ อาการคือมีภาวะประจำเดือนไม่สม่ำเสมอ หรือมาทีออกเยอะๆ 2-3 เดือนมาทีนึง มีการสะสมเยื่อบุโพรงมดลูก 2-3 เดือนก็พังทลายลงมาทีนึง การรักษาคือให้ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน ข้อดีคือ ทำให้ประจำเดือนมาตรงสม่ำเสมอ ลดภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ มักจะเป็นโรคประจำตัว

ถ้ากินยาคุมนานๆ 1-2 ปีก็อาจจะหายได้ ไข่หยุดโต ก็จะช่วยให้ภาวะการมีประจำเดือนปกติได้ สามารถหยุดกินยาคุมได้ แต่อาการจะกลับมาใหม่ก็อาจต้องทานยาไปเรื่อยๆ ไม่ได้เป็นโรคร้ายแรง แต่เป็นความผิดปกติที่พบได้

  • ผู้ชายอายุ 49 ปี น้ำหนัก 57 กิโลกรัม ส่วนสูง 158 เซ็นติเมตร มีอาการ ไขมันสูง วิธีการกินยา ก่อนอาหาร ก่อนนอน ควรทานอย่างไร?

ส่วนใหญ่ยาที่รับประทานก่อนอาหาร เพื่อให้ได้รับยาช่วงที่ท้องว่าง และได้ความเป็นกรดที่ยังอยู่ในกระเพาะเพื่อช่วยในการดูดซึม ถ้าลืมกินยา ก็ต้องเว้นช่วงไปนานราว 2 ชั่วโมง เพื่อให้อาหารที่รับประทานเข้าไปนั้นย่อยเสียก่อน

ถ้าเป็นยาหลังอาหาร ก็สามารถทานหลังอาหารได้ทันทีหรือพร้อมอาหารก็ได้ ส่วนยาก่อนนอนก็ไม่ได้มีข้อบังคับอะไรมาก ยกเว้น ยาบางชนิด เช่น ยาต้าน HIV กินแล้วจะมึนงง ก็อาจจะต้องกินแล้วนอนไปเลย ยาไขมันก็กินช่วงเย็นหรือก่อนนอนก็ได้ ส่วนใหญ่ยาทานก่อนนอนไม่ค่อยซีเรียสเท่าไหร่

  • ผู้หญิงอายุ 63 ปี ส่วนสูง 162 เซ็นติเมตร น้ำหนัก 48 กิโลกรัม มีซีสที่ไต 4 เซ็นติเมตร นิ่วที่ไต 2 มิลลิกรัม แต่ทางปกติ ค่าไตระยะ 2 ทานคอลลาเจน หรือแคลเซียมได้หรือไม่ ?

ซีสต์ต้องดูว่าอยู่ตำแหน่งไหน หากอยู่ขอบๆ ไม่ขัดขวางทางเดินปัสสาวะหรืออยู่ในกรวยไตอาจอุดทางเดินปัสสาวะได้ ไม่ต้องกังวล ส่วนนิ่วถ้าอยู่กรวยไต หรือท่อไต ก็ต้องกังวล เพราะอาจจะทำให้เกิดปัญหาได้ อันตรายพอควร

การกินแคลเซียม อาหารเสริมควรปรึกษาหมอก่อนว่า ปัญหาการเกิดนิ่ว มาจากเรื่องทานแคลเซียมเกินหรือไม่ การทานแคลเซียลมีหลายลักษณะ ควรให้แพทย์แนะนำ

คอลลาเจนไม่แนะนำ คอลลาเจนไม่สามารถกินเข้าไปได้ ไม่ได้ดูดซึมหรือไปสร้างเนื้อเยื่อให้เราเท่าไหร่ ถึงจะกินไปก็ไม่ได้ช่วยอะไรมาก

  • อายุ 62 ปี เป็นเยื่อสมองอักเสบ ตั้งแต่ 6 ขวบ เป็นโควิดเมื่อปีที่แล้ว (2564) และเป็นกล้ามเนื้ออ่อนแรงตามมาที่ขา จะเกี่ยวกับโรคพาคินสันหรือไม่ และต้องรักษาอย่างไร ?

ถ้าจะพูดถึงแค่เรื่องอ่อนแรง อาจจะไม่ใช่โรคพาคินสัน เพราะมีอาการหลาย ๆ อย่าง ไม่ได้มาด้วยเรื่องอ่อนแรงเป็นหลักแต่จะมาด้วยอาการ “สั่น” เช่น มือสั่น ดังนั้นต้องมาดูและประเมินด้วยว่า กล้ามเนื้ออ่อนแรงมาจากอะไร มีเรื่องของโรคสมองติดเชื้อตอนเด็ก 6 ขวบ หลงเหลืออยู่หรือไม่ ขาอ่อนแรงอย่าวเดียวไม่ใช่พาคินสัน

พาคินสัน มียารักษาหายขาดในปัจจุบันหรือไม่ ประเด็นนี้กรณีที่คนไข้เป็นไม่มากก็สามารถให้ยาควบคุมได้ด้วยยา

  • ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดมีอาการอย่างไร ตอนนี้อายุ 20 ปี

การติดเชื้อในกระแสเลือดเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงอายุ แต่ถ้าอายุมากขึ้นก็มีความเสี่ยงมากขึ้น ที่มักได้ยินข่าวบ่อย ๆ สาเหตุหลัก ๆ มาจาก 2 ประเด็น

ประเด็นแรก การติดเชื้อในกระแสเลือดแน่นอนว่าจะต้องมีเชื้อโรคเข้าไปในเลือดเรา เชื้อโรคเข้าไปได้ทางไหน บางทีแบคทีเรียในตัวเราก็มีเชื้อแบคทีเรียอยู่แล้ว วันดีคืนดีก็อาจจะเข้าสู่กระแสเลือดได้เลย ส่วนใหญ่ที่เจอคือผู้สูงอายุ แค่อายุเยอะก็ทำให้ภูมิต้านทานต่ำ หรือบางคนมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน หรือโรคประจำตัวอะไรก็ตามที่ทำให้เรามีภูมิต้านทานต่ำ ก็ทำให้มีความเสี่ยงมากกว่าคนอื่น

ประเด็นที่สอง มีทางเข้าของเชื้อ ส่วนใหญ่ติดเชื้อแบคทีเรียเป็นหลัก เช่น ผิวหนังมีรอยอักเสบ บวมหรือไม่ หรือมีการอักเสบช่องปัสสาวะ แสบ ขัด ขุ่นหรือไม่ แสดงว่าตรงปัสสาวะเป็นเหตุตั้งต้นและเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดได้ ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ หรือมาช้า ทำให้ให้ยาไม่ทัน

  • มีอาการปวดตรงกราม ทานข้าวแล้วปวด ควรประคบร้อนหรือเย็น

จะต้องดูว่าปวดมานานเท่าไหร่และปวดทั้งสองข้างหรือไม่ แนะนำควรหาหมอฟันดูก่อน

ติดต่อโฆษณา!