03 กรกฎาคม 2565
1,277

ติดโควิด19 รักษาฟรีตามสิทธิบัตรทอง ยกเลิกระบบ HI เริ่มต้น 1 ก.ค.

ติดโควิด19 รักษาฟรีตามสิทธิบัตรทอง ยกเลิกระบบ HI เริ่มต้น 1 ก.ค.
Highlight

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เผยปรับระบบการรักษาโควิด-19 กลับสู่ภาวะปกติ เริ่ม  1-ก.ค.นี้ ติดโควิด19 รักษาฟรีตามสิทธิบัตรทอง สิ้นมิ.ย.ยกเลิกระบบ Home Isolation (HI) ปรับเป็นดูแลผู้ป่วยโควิดเป็นผู้ป่วยนอก “เจอ- แจก-จบ” ส่วนประกันสังคมยังขยายต่อ เผย 3 ปีใช้งบฯรักษามากกว่า 1.5 แสนล้านบาท


จากกรณีเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง การยกเลิกกรณีที่มีเหตุสมควรเกี่ยวกับโรคโควิด-19 เพื่อรองรับการเป็นโรคประจำถิ่น พ.ศ. 2565  

นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงถึงเรื่องนี้ ว่า  โดยหลักทั่วไปของระบบการรักษานั้น เมื่อเจ็บป่วยก็เป็นไปตามสิทธิ แต่ช่วงโควิดก็จะมีกฎหมายเข้ามาว่า ถ้าเป็นโควิดจะต้องรักษาแบบไหนอย่างไร และเบิกอย่างไรได้บ้าง ส่วนการประกาศของ ศบค.จะมีผลในทางกฎหมายอย่างไร ต้องขอไปดูประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อน 

ส่วนที่จะเข้าสู่โรคประจำถิ่นหรือระยะ Post-Pandemic ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.เป็นต้นไป ไม่ได้แปลว่า เราจะถอดหน้ากากทั้งหมดแล้วไม่ป้องกันตนเอง ยังจำเป็นต้องป้องกันตนเอง เพราะยอมรับว่ามีการติดเชื้อมากขึ้น ซึ่งก็เหมือนอย่างสิงคโปร์ อังกฤษ ยุโรปก็เพิ่มมากขึ้น แต่ตัวเลขที่มากขึ้นยังไม่มีนัยสำคัญของผู้ติดเชื้อกับความรุนแรงและอัตราเสียชีวิต พอ 2 ตัวนี้ไม่เพิ่มศักยภาพเตียงก็ยังรับได้ 

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า  หลังจากที่ไทยพ้นการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ( Post-Pandemic)  ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ในวันที่ 1 ก.ค. ซึ่งระบบการรักษาพยาบาลของประชาชนจะกลับสู่ภาวะปกติ  

เมื่อมีการเจ็บป่วยก็ให้รักษาพยาบาลตามสิทธิรักษาเดิมที่มีอยู่โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เป็นการไปใช้บริการในสถานพยาบาลใกล้บ้าน หากแพทย์พิจารณาแล้วจำเป็นต้องมีการส่งตัวเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอื่น ก็จะใช้ระบบประเมินแล้วส่งต่อไปยังโรงพยาบาล

อาการป่วยโควิดต่อไปก็จะเหมือนกับการเจ็บป่วยแบบไข้หวัดธรรมดา จากเดิมการระบาดของโควิด ช่วงแรกที่มีการระบาดมีประชาชนป่วยมาก ทำให้หน่วยงานรัฐต้องระดมความช่วยเหลือจากภาคเอกชน ทำให้เมื่อป่วยโควิด สามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกที่ หรือการเกิด Hospital  แต่เมื่อสถานการณ์การระบาดของโควิดเริ่มดีขึ้น ก็ต้องมีการปรับระบบเข้าสถานการณ์ปัจจุบัน  เพราะโรคไม่ได้รุนแรงเหมือนเดิมอีกต่อไป ทพ.อรรถพรกล่าว  

สำหรับค่ารักษาพยาบาลโควิด-19 ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ ปี  2563  ถึง  ปัจจุบัน ใช้งบประมาณมากกว่า 150,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ในการประชุมบอร์ดสปสช.ในวันที่ 4 ก.ค.  เตรียมพิจารณาเรื่องการแจกชุดตรวจ ATK ในร้านขายยาว่าสมควร “ยกเลิก” หรือ “ขยายต่อ” หรือไม่ เนื่องจากตามหลักเกณฑ์ของกรมควบคุมโรค การตรวจ ATK จะทำต่อเมื่อมีอาการป่วยเท่านั้น ไม่ต้องมีการตรวจบ่อยครั้งเหมือนในอดีต

ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์กล่าวว่า แนวทางการดูแลผู้ป่วยจะปรับตามสถานการณ์  ในช่วงแรกปี 2563 ผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลหมด แต่ระยะที่พบผู้ป่วยหลักแสนราย ก็ใช้ระบบรักษาที่บ้าน (Home Isolation) ต่อมาก็เปลี่ยนเป็นรักษาแบบผู้ป่วยนอก “เจอ-แจก-จบ” 

ฉะนั้น สำหรับระยะหลังการระบาดใหญ่(Post pandemic) เราต้องมั่นใจว่าผู้ป่วยจะไม่เพิ่มขึ้นเร็ว ไม่รุนแรง และต้องยอมรับว่าเรายังรู้จักโอมิครอน BA.4 BA.5 ไม่ทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม กรมการแพทย์ ได้ทำหนังสือสั่งการให้ทุกคนยังคงสวมหน้ากากอนามัย
ในสถานพยาบาลทุกแห่ง พร้อมการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในบุคลากรการแพทย์ รวมถึงประชาชนที่มารับบริการด้วย

“ในส่วนผู้ติดเชื้อที่อาการไม่ได้มากจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เตรียมปรับระบบรักษาเป็นแบบผู้ป่วยนอก(OPD) ส่วนระบบรักษาที่บ้าน (HI) ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แจ้งว่าจะให้บริการถึงวันที่ 30 มิ.ย.65  และจะใช้ระบบเจอ-แจก-จบ หรือ OPSI แทน  

ส่วนประกันสังคมเท่าที่ทราบจะมีการขยายให้บริการ HI ต่อออกไปอีก ทั้งหมดนี้จะปรับตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป เพราะผลของการศึกษาทดลองพบว่า BA.4 BA.5 เชื้อไปที่เซลล์ปอดมากขึ้น แต่ข้อมูลในโลกจริงยังไม่มีระบุถึงความรุนแรงที่มากขึ้น”นพ.สมศักดิ์กล่าว   

นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า สำหรับประกันสังคมมีการดำเนินการเช่นกันในเรื่องนี้ โดยเตรียมยกเลิกการรักษา HI  ในวันที่ 4 ก.ค.นี้ แต่ผู้ติดเชื้อโควิดสามารถเข้ารับการรักษาตามแนวทาง "เจอ แจก จบ" ได้เช่นเดิม และสามารถรักษาที่ไหนก็ได้ในรพ.ของประกันสังคม รวมทั้งของสิทธิยูเซปเช่นกัน โดยจะมีการประกาศแนวทางเพื่อดำเนินการตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค.เป็นต้นไป  ส่วนฮอสปิเทล จะยกเลิกเช่นกัน

ติดต่อโฆษณา!