28 มิถุนายน 2565
1,091

แพทย์เผยโอมิครอน BA.4 – BA.5 เกาะเซลล์ปอดมากกว่า BA.2

แพทย์เผยโอมิครอน BA.4 – BA.5 เกาะเซลล์ปอดมากกว่า BA.2
Highlight

“หมอประสิทธิ์” คณบดีศิริราช เผยยังไม่พบหลักฐานผู้ติดเชื้อโอมิครอน สายพันธุ์ BA.4 BA.5 ป่วยจนเสียชีวิต จากผลการศึกษาเกาะเซลล์ปอดได้มากกว่า BA.2 แต่ไม่เท่าเดลต้า แนะฉีดวัคซีนเข็ม 4 ป้องกัน ผลการศึกษาอาการผู้ป่วยสายพันธุ์ BA.4  BA.5 ใหม่ในต่างประเทศ พบว่าเกิน 50% มีอาการอ่อนเพลีย ไอ ไข้ ปวดศีรษะ น้ำมูกไหล


ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยถึงกรณีราชกิจจานุเบกษาประกาศให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยได้ตามความสมัครใจ ว่า เรื่องนี้ประกาศเพื่อบอกว่าไม่ได้บังคับให้สวมหน้ากากแล้ว แต่ไม่ได้บอกว่าต้องถอดออก โดยเฉพาะตอนนี้ที่มีโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 โดยเชื่อว่าประชาชนจะระวังตัวมากขึ้น เพราะยังต้องเฝ้าติดตามความรุนแรงของโรค โดยคาดว่าอีก 2 สัปดาห์จะเห็นภาพชัดเจนของ BA.4 และ BA.5 มากขึ้น

สำหรับสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน BA.4 และ BA.5 พบข้อมูลมาหลายเดือนแล้ว โดยเฉพาะประเทศทางยุโรป ที่พบอัตราติดเชื้อกลับมาสูงขึ้นเป็นหมื่นรายต่อวัน ซึ่งข้อมูลตอนนี้พบว่าสายพันธุ์ย่อยเริ่มไปทดแทนสายพันธุ์ย่อย BA.2 เนื่องจาก BA.4 และ BA.5 แบ่งตัวเร็วกว่า แต่ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ารุนแรงมากกว่า เพราะยังไม่มีหลักฐานการป่วยจนเข้าโรงพยาบาลอาการรุนแรงถึงเสียชีวิตที่ชัดเจน แต่ยังต้องเฝ้าติดตาม

อีกทั้งการที่มีการแพร่ระบาดเร็วขึ้นมองได้ 2 แง่ ได้แก่ 1.ตำแหน่งการกลายพันธุ์ 2.คนเริ่มผ่อนคลายมาตรการหน้ากากอนามัย จึงมีโอกาสที่แพร่กระจายได้มากขึ้น รวมถึงกิจกรรมสังคมที่มากขึ้นด้วย ซึ่งหลายประเทศก็ไม่ได้ตรวจหาเชื้อกันแล้ว ดังนั้นที่เห็นผลตรวจเป็นหมื่นราย แสดงว่ายอดจริงต้องมากกว่านั้น

สำหรับสิ่งที่ต้องย้ำคือฉีดวัคซีนป้องกัน เพราะข้อมูลการศึกษาของ BA.4 และ BA.5 มีแนวโน้มว่าอาจจะเกาะเซลล์ปอดได้มากกว่า BA.2 แต่ยังไม่ต้องไปเทียบกับเดลต้า เพราะไม่มีหลักการว่าจะรุนแรงมากกว่า

จากคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข ที่ได้ศึกษาข้อมูลประชากรกว่า 5 แสนคน พบว่าการฉีดวัคซีนเข็ม 3 ป้องกันติดเชื้อได้ 25% แต่ถ้าฉีด 4 เข็มก็จะเพิ่มสูงถึง 70-75%

20220628-a-01.jpg

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ แนะนำให้ฉีด 4 เข็มในกลุ่มคนทั่วไป และบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าเป็นเข็ม 5 ได้เลย ซึ่งหลายคนได้รับแล้ว “คนไทยต้องป้องกันตัวเอง เพราะเราบังคับนักท่องเที่ยวได้ยาก”  

ในกรณีคนเคยติดโควิดจะมีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้สั้นสุดกี่เดือน และติดเชื้อซ้ำจะมีผลต่ออวัยวะภายในร่างกายอย่างไร ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ตนเชื่อว่าสั้นกว่านั้น เนื่องจากโอมิครอนทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำได้ แต่คนจำนวนหนึ่งติดแต่อาการน้อยจึงไม่ได้ตรวจ ที่เราเคยพูดว่าจะติดเชื้อซ้ำได้ใน 4-6 เดือน ก็อาจจะสั้นกว่านั้น

ทั้งนี้ข้อมูลที่เห็นได้ว่า BA.4 BA.5 ติดเชื้อได้เร็ว ตนเห็นว่าภูมิคุ้มกันที่มีอยู่อาจลดลงเร็วกว่าตอนที่ป้องกัน BA.2 ฉะนั้น คนกลุ่มเสี่ยง 608 ควรฉีดวัคซีนกระตุ้นเมื่อครบ 4 เดือน ส่วนคนที่ติดเชื้อซ้ำ ต้องบอกว่าลองโควิด(Long Covid19) เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงและเกิดขึ้นได้ทุกสายพันธุ์ บางคนมีอาการทำให้ชีวิตประจำวันลดลง เช่น สมองตื้อ ผมร่วง ดังนั้น หากมีสายพันธุ์ที่กระจายเร็วกว่าเดิม การติดเชื้อก็จะไม่คุ้มกับลองโควิด

“คนที่หายแล้วติดอีกซ้ำๆ ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่ามีหรือไม่มีผลกระทบกับภาพรวมสุขภาพ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ควรจะติดเชื้อซ้ำ เพราะตอน BA.2 ที่ไม่ลงปอดเราสบายใจหน่อย แต่มา BA.4 สมมติว่ามีข้อมูลพิสูจน์ชัดว่าอาการรุนแรง เล่นงานปอด นั่นก็เรื่องใหญ่ หากทุกครั้งที่ติดแล้วจู่โจมปอด ก็ทำลายเนื้อปอดที่อาจไม่ฟื้นตัวกลับมาง่ายๆ” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

เมื่อถามว่า BA.4 BA.5 จะเป็นคลื่นระบาดรอบใหม่หรือไม่ ศ.นพ.ประสิทธิกล่าวว่า โอกาสที่จะกลับมาระบาดมากแบบระลอกเดลต้าไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะคนฉีดวัคซีนกันมาก ระวังตัวมากขึ้น ซึ่งขอเน้นย้ำว่าเรายังคงต้องป้องกันตัวเองให้มากขึ้น หากพบว่าเริ่มมีสัญญาณรุนแรงมากขึ้น เราก็เตรียมกลับมา ยกการ์ด

อาการของผู้ป่วยโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 BA.5 เกิน 50% มีอาการอ่อนเพลีย ไอ ไข้ ปวดศีรษะ น้ำมูกไหล

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เมื่อ 25 มิ.ย.  เกี่ยวกับอาการของผู้ติดเชื้อ COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอน BA.1 BA.4 และ BA.5 ที่เก็บข้อมูลโดยหน่วยงานสาธารณสุขของฝรั่งเศส โดยเก็บข้อมูลจากผู้ป่วยจำนวนใกล้เคียงกัน คือ 281-288 คน โดยรวมแล้วอาการของผู้ป่วยที่ติดเชื้อ BA.4 และ BA.5 มีความชัดเจนกว่าผู้ป่วยที่ติดโอมิครอนรุ่นแรก ในทุกอาการที่รายงาน

สังเกตจากกราฟสีเขียวสูงกว่าสีชมพูทั้งหมด โดยอาการที่พบมากกว่า 50% ของผู้ป่วย คือ อ่อนเพลีย ไอ ไข้ ปวดศีรษะ น้ำมูกไหล ตามลำดับ และเป็นที่น่าสนใจว่า กลุ่มอาการทางเดินหายใจ เช่น หายใจถี่ หายใจลำบาก พบได้ในกลุ่ม BA.4 BA.5 เช่นเดียวกัน

กลุ่มอาการทางเดินอาหาร เช่น อาการท้องเสีย พบได้มากกว่าในกลุ่ม BA.4 และ BA.5
แต่ในรายงานเขียนไว้ว่า ในบรรดากรณีศึกษาของการติดเชื้อ BA.4 หรือ BA.5 นั้น การรักษาในโรงพยาบาล 12 ครั้ง ไม่มีการรับผู้ป่วยวิกฤต และไม่มีรายงานการเสียชีวิต

ในบรรดาผู้ป่วยในโรงพยาบาล 10 ราย มีปัจจัยเสี่ยงและระยะเวลาการรักษาในโรงพยาบาลเฉลี่ย 5 วัน ซึ่งเป็นข้อมูลที่เป็นข่าวดีอยู่ เพราะ BA.4 และ BA.5 อาจไม่ใช่ไวรัสโอมิครอนที่เปลี่ยนแปลงไปแบบอ่อนเชื้อลง แต่ภูมิจากร่างกายที่ได้รับวัคซีนกันมายังเพียงพอต่ออาการรุนแรงได้

ที่มา : https://www.hfocus.org/content/2022/06/25382, ThaiPBS, Top News

ติดต่อโฆษณา!