02 เมษายน 2565
1,381

“สุรินทร์” เตรียมนำร่องโควิดสู่การเป็นโรคประจำถิ่น จังหวัดอื่นพร้อมไหม?

“สุรินทร์” เตรียมนำร่องโควิดสู่การเป็นโรคประจำถิ่น จังหวัดอื่นพร้อมไหม?
Highlight

ย่างเข้าสู่ปีที่ 3 ที่ทุกคนต้องใช้ชีวิตร่วมกับโควิด-19 ที่ระบาดไปทั่ว ส่งผลให้ประชากรโลกติดเชื้อแล้วกว่า 482 ล้านคน และเสียชีวิตกว่า 6.15 ล้านคน (ข้อมูล ณ 29 มี.ค.) ปัจจุบันได้รับวัคซีนกันเป็นส่วนใหญ่และลดการเสียชีวิตลงได้มาก โควิดกำลังถูกประกาศเป็นโรคประจำถิ่น เพื่อให้มีการใช้ชีวิตใกล้เคียงอย่างปกติ ไทยประกาศเป็นโรคประจำถิ่นเริ่ม 1 กรกฎาคมนี้ “สุรินทร์”เตรียมนำร่องจังหวัดแรก แต่รอประเมินสถานการณ์หลังสงกรานต์อีกครั้ง


เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2565 จังหวัดสุรินทร์ ประกาศพร้อมเปลี่ยนโควิด-19 ให้เป็นโรคประจำถิ่นเป็นจังหวัดแรกของประเทศ โดยครั้งแรกประกาศพร้อมเข้าสู่โรคประจำถิ่นวันที่ 1 เม.ย.นี้ แต่ต่อมาแจ้งเลื่อนเนื่องจากไม่พร้อม รอดูสถานการณ์หลังสงกรานต์พร้อมเชิญชวนชาวสุรินทร์ทุกคนไปฉีดเข็มที่ 3 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน

จังหวัดสุรินทร์ ออกตัวมาตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม 2565 ว่า จะเป็นจังหวัดนำร่อง นำโรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ประกาศสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว สอดคล้องนโยบายการเปิดประเทศตามโครงการ “Travel Bubble” ระหว่างประเทศ กับประเทศเพื่อนบ้าน (ไทย-กัมพูชา)

เมื่อ 28  มี.ค.2565 สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสุรินทร์  โพสต์ประกาศพร้อมเปลี่ยนโควิด-19 เป็นโรคระบาดประจำถิ่น จังหวัดแรก พร้อมระบุเป้าหมายชัด โดยระบุว่า "สุรินทร์ พร้อมเปลี่ยนโควิด-19 ให้เป็นโรคระบาดประจำถิ่น จังหวัดแรกของประเทศ" 

มาตรการรองรับโรคประจำถิ่น จ.สุรินทร์

ด้านคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสุรินทร์ ได้ออกมาตรการเพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นจังหวัดนำโรคโควิด เข้าสู่โรคประจำถิ่น ไว้ 9 ข้อ ประกอบด้วย

  1. อัตราผู้ป่วยครองเตียงผู้ป่วยหนักไม่เกิน 3% ของผู้ป่วยติดเชื้อทั้งหมด
  2. อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคติดเชื้อไม่เกินร้อยละ 0.5
  3. ประชาชนทั่วไปฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 และ 2 ไม่น้อยกว่า 70%
  4. ประชาชนกลุ่ม 608 ได้รับวัคซีนเข็มแรกไม่น้อยกว่า 80%
  5. ทุกหมู่บ้านมีชุดตรวจ ATK ไม่น้อยกว่า 10% ของประชากรในหมู่บ้าน
  6. หมู่บ้านมีการปลูกสมุนไพรเพื่อดูแลสุขภาพ 100%
  7. อสม.ต่อประชากรในหมู่บ้านไม่น้อยกว่า 10 ครัวเรือนต่อ 1 คน
  8. ประชาชนสวมแมสก์ 100% และดำเนินการ D-M-H-T-T 100 %
  9. สถานที่ต้องมีมาตรการ องค์กรและปฏิบัติอย่างเคร่งครัด COVID Free Setting 100%

ตัวเลขผู้ติดเชื้อเมื่อ 27 มี.ค. 345 คน เสียชีวิต 2 คน กำหนด 5 แนวทาง เช่น ทุกหมู่บ้านต้องรักษามาตรการหมู่บ้านสีฟ้า ฉีดวัคซีน เข็ม 1,2 แล้ว 70% เสียชีวิตไม่เกิน 0.5%

20220401-a-02.jpg

ขณะที่ ศูนย์ข้อมูล COVID-19 จังหวัดสุรินทร์ รายงานสถานการณ์ COVID-19 จ.สุรินทร์ (ระลอกใหม่ ม.ค.65) ข้อมูลระหว่างวันที่ 24 ธ.ค.2564 ถึง 27 มี.ค.65 เวลา 18.00 น. ผู้ติดเชื้อยืนยันสะสม 16,699 คน ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 345 คน อยู่ระหว่างรักษา 2,904 คน (โรงพยาบาลสนาม/ศูนย์พักคอย 1,275 คน) หายป่วยสะสม 13,764 คน (รายใหม่ 299 คน) เสียชีวิตสะสม 31 คน (รายใหม่ 2 คน) 

สุรินทร์กลับลำ เลื่อนประกาศโควิดเป็นโรคประจำถิ่น จากเดิมดีเดย์ 1 เม.ย. เหตุไม่ผ่านเกณฑ์ ศบค. ประชาชนฉีดเข็ม 3 ยังน้อย รอประเมินหลังสงกรานต์อีกครั้ง

เมื่อ 29 มี.ค.65 ที่ผ่านมา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์ ได้มีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสุรินทร์ครั้งที่ 13/2565  เพื่อติดตามสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จังหวัดสุรินทร์ โดยมี นายเสริมศักดิ์ สีสันต์ รอง ผวจ.สุรินทร์ เป็นประธานการประชุม ร่วมกับ นายแพทย์สินชัย ตันติรัตนานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์ พร้อมด้วยนายแพทย์วุฒิชัย แป้นทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีณรงค์ นำเสนอสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ผลการดำเนินงานฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยที่ประชุมมีมติให้เลื่อนการประกาศโรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นออกไปเป็นหลังเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งมีคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.สุรินทร์ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม 30 คน

โดยมติในที่ประชุมหลักๆ ที่มีการเลื่อนดังกล่าว คือยังไม่ผ่านเกณฑ์ ที่ต้องใช้มาตรการถึง 13 ข้อ ในการเสนอให้ ศบค.ส่วนกลางเป็นผู้พิจารณาอนุมัติให้เป็นโรคประจำถิ่น ที่ประชุมจึงขอให้เลื่อนออกไปหลังเทศกาลสงกรานต์ และจะมีการประเมินใหม่อีกรอบ เพราะช่วงสงกรานต์ มีโอกาสเป็นไปได้ที่จะมีคลัสเตอร์ของการระบาดอีก และต้องติดตามประเมินสถานการณ์ช่วงสงกรานต์อีกครั้ง

ทั้งนี้อัตราการครองเตียงผู้ป่วย ของจังหวัดสุรินทร์ยังสูงอยู่ คร่าวๆ ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 8% ซึ่งเกณฑ์กำหนดอยู่ที่ 3% เท่านั้น อาจมาจากวัคซีน เข็มที่ 3 ที่เรายังมีตัวเลขไม่ถึง 20% ทำให้มีผู้ป่วยหนักยังสูงอยู่ จำนวนเตียง ทั้งหมดในโรงพยาบาล ทั้งโรงพยาบาลสนาม CI อยู่ที่ 671 เตียง มีผู้ป่วยหนัก 71 เตียง ใส่ท่อช่วยหายใจ 8 เตียง ทั้งนี้ทางทีมแพทย์ยังกังวล ถึงสถานการณ์ช่วงสงกรานต์อยู่ จึงขอความร่วมมือประชาชนทุกคน ก่อนกลับมาบ้าน ให้งดไปพื้นที่เสี่ยง 7 วัน และตรวจ ATK ก่อนเดินทางกลับบ้าน จะลดความเสี่ยงลงได้มาก

20220401-a-03.jpg

สธ.ย้ำ ยังต้องเดินตามกรอบ ศบค.

อย่างไรก็ตาม แม้จังหวัดสุรินทร์จะออกมาตรการรองรับการเข้าสู่โรคประจำถิ่นของตนเองแล้ว แต่ในภาพรวมยังคงต้องเป็นไปตามกรอบมาตรการที่ ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) และกระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดไว้

ตามที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2565 ว่า จังหวัดสุรินทร์ ได้ดำเนินการเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม 2565 ด้วยระบบของจังหวัด สามารถทำได้ แต่ในภาพรวมจะต้องเป็นไปตามกรอบมาตรการของ ศบค. และ สธ. ที่กำหนดไว้ ซึ่งไม่ได้แตกต่างกัน เพียงแต่จังหวัดก็ประกาศตัวเพื่อสร้างกำลังใจให้ประชาชน เพื่อสร้างความร่วมมือ

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า การบริหารจัดการเรื่องดังกล่าวขึ้นอยู่กับแต่ละจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด มีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) เป็นเลขานุการฯ

“หากผู้ว่าราชการจังหวัดมีความตั้งใจจริง ผมต้องขอชมเชย ส่งกำลังใจให้ท่าน หากแต่ละจังหวัดเกิดความกระตือรือร้น อยากให้กลับสู่สภาวะปกติที่สุด ก็เป็นเรื่องที่ดี กระทรวง พร้อมให้การสนับสนุนทุกจังหวัด จริง ๆ ต้องทำในระดับจังหวัดขึ้นมา หากทำได้อย่างดี ก็จะเกิดเป็นระดับภูมิภาค และมาเป็นระดับประเทศ เราต้องช่วยกัน ต่างคนให้ความร่วมมือกัน ประสานงานกันดีระหว่าง สธ. และกระทรวงมหาดไทย และอื่น ๆ เป็นสิ่งที่ต้องสนับสนุนอย่างเต็มที่”นายอนุทิน กล่าว

เบื้องหลัง “สุรินทร์” ประกาศโควิดเป็นโรคประจำถิ่นจังหวัดแรก

ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โรคโควิด-19 (ศบค.) ที่มีนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.เป็นประธาน เมื่อวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมา ได้เห็นชอบแผน/มาตรการบริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิด-19 เข้าสู่โรคประจำถิ่น แบ่งเป็น 4 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 1 Comdatting เริ่มวันที่ 12 มีนาคม-ต้นเดือนเมษายน ระยะที่ 2 Plateau ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ระยะที่ 3 Declining (ปลายเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน) และระยะที่ 4 Post Pandemic ช่วงวันที่ 1 กรกฎาคมเป็นต้นไป พร้อมทั้งมอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปบริหารจัดการต่อ

โดยวาง 4 มาตรการ ที่ต้องดำเนินการเพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย คือ

1. ด้านสาธารณสุข ต้องเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้มากกว่าร้อยละ 60 ปรับระบบการเฝ้าระวัง เน้นการระบาดเป็นกลุ่มก้อน และผู้ป่วยปอดอักเสบ ปรับแนวทางการแยกกักตัวผู้ป่วย และกักกันผู้สัมผัส 

2. ด้านการแพทย์ ปรับแนวทางการดูแลผู้ป่วยนอก ดูแลผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงอาการรุนแรง และมีอาการรุนแรง รวมทั้งอาจมีภาวะลองโควิด 

3. ด้านกฎหมายและสังคม บริหารจัดการด้วยกฎหมายของทุกหน่วยงานให้สอดคล้องกับการปรับตัวเข้าสู่โรคประจำถิ่น ผ่อนคลายมาตรการทางสังคม ลดการจำกัดการเดินทางและการรวมตัวของคนหมู่มาก ทุกภาคส่วนต้องส่งเสริมมาตรการ UP และ Covid Free Setting และ

4. ด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ ต้องสร้างความรู้ ความเข้าใจเชิงรุกอย่างครอบคลุม ส่วนเป้าหมายที่จะสามารถเข้าสู่โรคประจำถิ่นได้ คือ การเสียชีวิต ต้องไม่เกินร้อยละ 0.1 และความครอบคลุมการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจะต้องได้มากกว่าร้อยละ 60

ทั้งนี้ ศบค.ระบุว่า การประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ไม่ใช่ว่าจะต้องผ่อนคลายมาตรการทันที แต่จะต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป พร้อมประเมินว่า หากสถานการณ์ช่วงเดือนมีนาคม-ถึงต้นเดือนเมษายน สามารถควบคุมได้ดี จะเข้าสู่ระยะที่ 2 คือ เดือนเมษายน-พฤษภาคม จะเป็นระยะคงตัว และตัวเลขผู้ติดเชื้อจะลดลงในปลายเดือนพฤษภาคมและเดือนมิถุนายน จากนั้นวันที่ 1 กรกฎาคม อาจจะได้เห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ลดลงได้อีก และทั้งหมดนี้จะต้องเกิดจากความร่วมมือของประชาชน

20220401-a-01.jpg

แต่หากสถานการณ์ในวันที่ 1 กรกฎาคม มีความเปลี่ยนแปลงไปจากนี้ อาจจะต้องเปลี่ยนแผนอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจการเดินหน้าเข้าสู่โรคประจำถิ่น ในส่วนของความครอบคลุมการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจะต้องได้มากกว่าร้อยละ 60 นั้น ล่าสุด ข้อมูล ณ วันที่ 27 มีนาคม 2565 ประเทศไทยมีการให้วัคซีนกระตุ้น (เข็มที่ 3) แล้วเพียง ร้อยละ 33.3 และกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 เพียงร้อยละ 35 เท่านั้น ขณะที่อัตราการเสียชีวิตของประเทศไทย ในช่วงระลอกการระบาดเดือนมกราคม 2565 อยู่ที่ร้อยละ 0.24

หลังจากที่ ศบค.ได้ประกาศแนวทางและแผนสู่การปรับโควิดเป็นโรคประจำถิ่น นายอนุทิน เดินทางลงพื้นที่ จ.สุรินทร์ ไปเปิดงานสัมมนาเรื่อง การเปิดประเทศตามโครงการ Travel Bubble ระหว่างประเทศ กับประเทศเพื่อนบ้าน (ไทย-กัมพูชา) จัดโดยคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา ที่โรงแรมทองธารินทร์ จ.สุรินทร์

โดยนายอนุทินกล่าวระหว่างเปิดงานว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ตั้งเป้าจะเป็นจังหวัดแรกที่เปลี่ยนโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ถือว่าเป็นการนำร่องการผ่อนคลายมาตรการให้โควิดเป็น Endamic ซึ่ง สธ.พร้อมสนับสนุนเพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้ สร้างความฮือฮาให้บรรดาสื่อมวลชน และผู้ที่ติดตามสถานการณ์

นายสุวพงศ์ กิติภัทย์พิบูลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า ในครั้งนั้นได้นำเรียนไปว่า จ.สุรินทร์มีฐานความพร้อมเป็นจังหวัดนำร่อง เพื่อก้าวสู่ความเป็นโรคประจำถิ่นของโควิด-19 เนื่องจากชาวสุรินทร์ มีความร่วมมือในการดูแลตัวเอง ดูแลสังคม ดูแลครอบครัวไม่ให้เชื้อแพร่ออกไปสู่ผู้อื่น 

สำหรับฐานความพร้อมที่นำไปสู่การเป็นจังหวัดนำร่องโรคประจำถิ่นของโควิด-19 ต้องมีการดำเนินการ 3 เรื่อง ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ของ สธ.ที่ต้องดำเนินการ คือ 1.ปัจจัยเชื้อโรค อัตราผู้ป่วยครองเตียง หรือผู้ป่วยหนัก ต้องไม่เกินร้อยละ 3 ของผู้ป่วยติดเชื้อทั้งหมด และอัตราการเสียชีวิตไม่เกินร้อยละ 0.5 ซึ่งวันนี้ ข้อมูลของผู้ป่วยหนักของสุรินทร์แทบไม่มีเลย

โรคประจำถิ่นคืออะไร

โรคประจำถิ่น ภาษาอังกฤษ เรียกว่า Endemic คือโรคที่เกิดขึ้นประจำเฉพาะในพื้นที่นั้น ๆ มีการแพร่กระจายและสามารถคาดเดาการติดเชื้อได้ อัตราป่วยคงที่ ซึ่งโรคระบาดเองก็แบ่งได้ตามระดับด้วยเช่นกัน โดยมี 4 ระดับ ดังนี้

1. โรคประจำถิ่น (Endemic) โรคที่เกิดขึ้นประจำเฉพาะในพื้นที่นั้น ๆ เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ โรคไข้เลือดออกในประเทศไทย โรคเอดส์ หรือโรคมาลาเรียในทวีปแอฟริกา

2. การระบาด (Outbreak) เช่น การระบาดของโรคไข้เลือดออกที่เป็นโรคประจำถิ่นอยู่แล้ว แต่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นผิดปกติในปี 2562 หรือการระบาดของโควิด 19 ที่เป็นโรคอุบัติใหม่ และแม้จะมีผู้ป่วยเพียงรายเดียวก็นับว่าเป็นการระบาด

3. โรคระบาด (Epidemic) เป็นการระบาดของโรคที่แพร่กระจายไปในพื้นที่ที่กว้างขึ้นและมีอัตราการระบาดเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน ทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเกินกว่าที่คาดการณ์ได้ เช่น โรคอีโบลาที่ระบาดในทวีปแอฟริกาตะวันตกในปี พ.ศ. 2557-2559

4. การระบาดครั้งใหญ่ การระบาดทั่วโลก (Pandemic) หรือ ระดับการระบาดสูงสุด เช่น การระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปน ในปี พ.ศ. 2461 (Spanish flu) หรือการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 และล่าสุดคือการระบาดของโควิด 19 ที่พบผู้ติดเชื้อครั้งแรกในประเทศจีนในปี 2019 ก่อนแพร่กระจายไปยังทวีปต่าง ๆ ทั่วโลก รวมกว่า 220 ประเทศ  จนทำให้มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 300 ล้านคน

โควิด 19 ใกล้จะเป็นโรคประจำถิ่นหรือยัง

สำหรับข้อสงสัยนี้ ทางกระทรวงสาธารณสุขเคยออกมาชี้แจงไว้แล้วว่า การที่โรคระบาดอย่างโควิด 19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นได้ ต้องเข้าเกณฑ์ 3 ข้อด้วยกัน คือ

1. เชื้อก่อโรคลดความรุนแรงลง โดยสอดคล้องกับสถานการณ์โควิดโอมิครอนในปัจจุบันที่แม้จะมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก แต่จำนวนผู้ป่วยอาการหนัก ใส่เครื่องช่วยหายใจ และผู้เสียชีวิตมีทิศทางลดลง ซึ่งในประเทศไทยขณะนี้มีอัตราผู้เสียชีวิตจากโควิด 19 อยู่ที่ประมาณ 1 ราย ต่อผู้ติดเชื้อ 1,000 ราย หรือไม่ถึง 1%
     
2. ประชาชนมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น ทั้งจากการได้รับวัคซีนหรือเคยติดเชื้อมาก่อน
     
3. ในประเทศมีระบบบริหารจัดการ การดูแลรักษาที่มีประสิทธิภาพ และควบคุมหรือชะลอการระบาดของโรคได้อย่างดี
          
ทั้งนี้ ภาครัฐและประชาชนทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันในเรื่องชะลอการระบาดของโรค และเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน จึงจะเข้าเกณฑ์ทั้ง 3 ข้อ และอาจนำพาโรค COVID-19 ไปสู่การเป็นโรคประจำถิ่นได้ในอนาคต

โควิดเป็นโรคประจำถิ่นต้องปรับตามขั้นตอน 4 ระยะ

ศูนย์ข้อมูล COVID-19 เผย มติ คกก.โรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบ ปรับโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น เริ่ม 1 ก.ค.นี้ แบ่งเป็น 4 ระยะ เริ่มระยะแรก 12 มี.ค.ถึงต้นเม.ย. เร่งกดตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่ให้สูง

วันที่ 10 มี.ค. 2565 เพจเฟซบุ๊กศูนย์ข้อมูล COVID-19 โพสต์ว่า มติคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบ ปรับโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น เริ่ม 1 ก.ค.นี้ แบ่งระยะของโควิดเป็นโรคประจำถิ่น 4 ระยะ

  • ระยะที่ 1 (12 มี.ค.-ต้น เม.ย.) เรียกว่า Combatting ต้องออกแรงกดตัวเลขไม่ให้สูงกว่านี้ เป็นระยะต่อสู้ เพื่อลดการระบาด ลดความรุนแรงลง จะมีมาตรการต่างๆ ออกไป การดำเนินการให้กักตัวลดลง

  • ระยะที่ 2 (เม.ย.-พ.ค.) เรียกว่า Plateau คือ การคงระดับผู้ติดเชื้อไม่ให้สูงขึ้น ให้เป็นระนาบจนลดลงเรื่อยๆ

  • ระยะที่ 3 (ปลาย พ.ค.-30 มิ.ย.) เรียกว่า Declining การลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงให้เหลือ 1,000-2,000 คน

  • และอีกบวก 1 หรือระยะ 4 ตั้งแต่ 1 ก.ค. 65 เป็นต้นไป เรียกว่า Post pandemic คือ ออกจากโรคระบาด เข้าสู่โรคประจำถิ่น

เปิดความเห็น WHO กับการเป็นโรคประจำถิ่นของโควิด 19

แม้หลายประเทศเตรียมยกให้โควิด 19 กลายเป็นโรคประจำถิ่น ทว่าทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ยังคงไม่เห็นด้วยนัก พร้อมอธิบายว่าคงเร็วเกินไปหากจะสรุปเองว่าโควิด 19 ไม่ต่างจากโรคไข้หวัดใหญ่ เพราะอาจทำให้มาตรการป้องกันโรคหย่อนยานลงไปโดยไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ ณ ปัจจุบัน ที่ยังคงมีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง ไม่สามารถคาดการณ์อัตราการกระจายของโรคได้ และถึงแม้ว่าทุกฝ่ายจะประเมินว่าในที่สุดโควิด 19 ก็จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น แต่ก็ยังไม่ใช่เวลานี้

ขณะที่ผู้อำนวยการฝ่ายฉุกเฉินของ WHO ระบุว่า คำว่าโรคประจำถิ่นไม่ได้หมายความว่าดี แค่หมายความว่าจะคงอยู่ตลอดไป ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นต้องทำคือ เร่งฉีดวัคซีนในประชากรโลกให้ได้มากที่สุด เพื่อทำให้เกิดโรคน้อยและไม่ให้มีใครต้องเสียชีวิต นั่นจึงจะหมายถึงการสิ้นสุดของการระบาดใหญ่

อ้างอิง : Thaihealth.or.th,  ไทยคู่ฟ้า, Matichon

ติดต่อโฆษณา!