11 กุมภาพันธ์ 2565
2,083

เตือนประชาชนเตรียมใจ รัฐอาจเลิกรักษาฟรีโควิดใน 1-2 เดือน!

เตือนประชาชนเตรียมใจ รัฐอาจเลิกรักษาฟรีโควิดใน 1-2 เดือน!
Highlight

นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมารัฐบาลใช้งบประมาณในการดูแลเรื่องนี้เป็นจำนวนมาก และให้บริการฟรีหมดทุกอย่าง ดังนั้นประชาชนต้องเตรียมใจที่จะมีการเปลี่ยนผ่านไปถึงช่วงที่รัฐบาลอาจไม่สามารถให้บริการตรวจรักษาโรคติดเชื้อโควิดโดยไม่มีค่าใช้จ่ายได้  ซึ่งที่ประชุมศบค.ล่าสุด ยังคงพิจารณาการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้า แม้ว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อจะกลับมาเพิ่มขึ้น


นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เปิดเผยว่า สถานการณ์โควิดในประเทศคาดว่าในช่วงปลายเดือน ก.พ.นี้จะมียอดผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มสูงขึ้น แต่ยอดเสียชวิตจะไม่เพิ่มมาก เนื่องจากอาการเจ็บป่วยทุเลาลงจากการได้รับวัคซีนก่อนหน้า  อย่างไรก็ตาม แนวโน้มที่รัฐบาลจะลดและไม่จ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ประชาชนนั้นน่าจะมีการพิจารณาในไม่นานนี้ 

“ผมคิดว่ารัฐบาลก็ไม่ไหว คือต้องยอมรับว่าเราใช้เงินเยอะมาก รัฐบาลทุ่มเงินให้ฟรีหมด ไม่มีประเทศไหนให้ฟรีได้มากเท่าประเทศเรา ถ้าพูดกันตรงๆ ผมคิดว่าตอนนี้เราต้องช่วยกันฟื้นฟูเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งตอนนี้ต้องทำใจ ผมคิดว่าเราต้องเตรียมใจในช่วงที่จะต้องเปลี่ยนผ่านกับโรคระบาดทั่วโลก ซึ่งต้องฝากให้ทำความเข้าใจกับประชาชน

เราอาจเหมือนยุโรปกับอเมริกา เพียงแต่เราจะไม่ทำอะไรสุ่มสี่สุ่มห้า เราต้องใช้เวลาเตรียมตัว อย่างที่ประชุมสาธารณสุขช่วงเช้าผมบอกว่าอีกซัก 1-2 เดือน เราอาจต้องประกาศเหมือนประเทศสวีเดน แต่ต้องเตรียมตัวประชาชนให้ดี” นพ.อุดม กล่าว

สำหรับสถานการณ์ในประเทศคาดว่าในช่วงปลายเดือน ก.พ.นี้จะมียอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มจากวันนี้ที่มี 15,000 ราย มากขึ้นไปถึงวันละ 17,000-18,000 ราย ซึ่งอยู่ในคาดการณ์ของกระทรวงสาธารณสุข แต่หวังว่าจะไม่ถึง 20,000 รายในช่วงสิ้นเดือน ก.พ.นี้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับประชาชนทุกคนที่ต้องช่วยกัน

“ทุกคนอึดอัดมา 2 ปี อยากผ่อนคลาย และอยากให้เศรษฐกิจเดินหน้า แต่ขณะนี้ผู้ที่เจ็บป่วยรุนแรงน้อยลงถ้าเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยมีผู้ป่วยหนักลดลงถึง 10 เท่า ถือเป็นข้อดีที่เรายังสู้ไหว แม้จะไม่รุนแรงแต่ขอให้ประชาชนเร่งฉีดวัคซีนเข็ม 3 ขณะนี้วัคซีนมีจำนวนมากแต่มีผู้ไปฉีดน้อย ซึ่งเข็ม 3 มีข้อมูลชัดเจนว่าช่วยป้องกันได้”นพ.อุดม กล่าว

ที่ปรึกษา ศบค.กล่าวว่า ไม่อยากให้ประชาชนตระหนกที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และต้องบอกว่าตัวเลขจะเพิ่มขึ้นอีก แต่ไม่อยากให้สูงถึง 20,000 ราย เพราะจะทำให้มีสัดส่วนผู้ป่วยหนักสูงขึ้น ถ้าไม่สูงเกิน 20,000 รายต่อวันก็สามารถสู้ไหวแบบสบายๆ กำลังด้านสาธารณสุขมีเพียงพอทุกอย่าง ระบบได้ทำไว้ดีหมดแล้ว

สำหรับการฉึดวัคซีนในเด็กอายุตั้งแต่ 5-11 ปียังมีการฉีดน้อยมาก เนื่องจากผู้ปกครองมีความกังวล ซึ่งหากไม่ต้องการฉีดไฟเซอร์ ก็มีซิโนแวคและชิโนฟาร์มเป็นอีกทางเลือก ขณะที่เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป กระทรวงสาธารณสุขจะให้ใช้สูตรไขว้ได้ เพื่อให้ภูมิขึ้นเร็ว ซึ่งขอให้เด็กไปรับการฉีดวัคซีน เพราะการระบาดในเด็ก เมื่อเด็กป่วยแล้ว เชื้อจะกระจายไปทั่วร่างกาย ถือเป็นสิ่งที่น่ากลัวกว่าผู้ใหญ่ที่เชื้อลงปอดเท่านั้น

ศบค.คงระดับสีพื้นที่-มาตรการคุมโควิดหลังติดเชื้อยังเพิ่มแม้รุนแรงน้อยลง

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. แถลงผลการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธาน เมื่อ 11 ก.พ.  ว่า ที่ประชุมยังคงระดับสีของจังหวัดต่างๆ ในประเทศไทยไว้ตามเดิม 

ทั้งนี้เพื่อตรึงมาตรการต่างๆ และขอความร่วมมือประชาชนช่วยกันลดการติดเชื้อให้มากที่สุด ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ เพราะหากตัวเลขผู้ติดเชื้อขยับเพิ่มสูงขึ้นเป็นหลายหมื่นคนต่อวัน อาจส่งผลให้บรรยากาศการท่องเที่ยวเปลี่ยนแปลงได้

ในส่วนจังหวัดนำร่องท่องเที่ยว (สีฟ้า) ที่มีการเปิดให้มีการผ่อนคลายให้ขายสุราและดื่มสุรา เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันมาจากพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว จึงขอให้ประชาชนในจังหวัดเหล่านี้ช่วยกันลดอัตราการติดเชื้อให้ได้ และเพื่อประโยชน์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปด้วย

โฆษก ศบค.กล่าวว่า การติดเชื้อในกลุ่มวัยเด็กช่วงอายุ 0-9 ปี และอายุ 10-19 ปี เป็นภาพที่แตกต่างกับการติดเชื้อในกลุ่มสายพันธุ์เดลต้า และอัลฟ่า แต่ครั้งนี้พบการติดเชื้อในเด็กเล็กและนักเรียนเยอะขึ้น ส่วนผู้เสียชีวิตในกลุ่มผู้สูงอายุยังมีอยู่ แต่ยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงในการดำเนินการควบคุมป้องกันโรค

ที่ประชุม ศบค.ยังได้ขอความร่วมมือประชาชนและใช้ความสามัคคีในการช่วยทำให้ทิศทางของตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงมา แต่ยังดีว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตยังต่ำ อย่างไรก็ตาม การเสียชีวิตแม้เพียง 1 รายก็เป็นสิ่งที่น่าเสียใจ

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สถานการณ์การใช้เตียงของประเทศรายจังหวัดและระดับเตียง ข้อมูลวันที่ 9 ก.พ.2565 โดยเตียงในระดับสีแดง ใช้ไปประมาณ 12.1% ฉะนั้นศักยภาพในการรับผู้ป่วยหนักยังดีอยู่

ด้านนายนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ว่า ล่าสุดเป็นการพิจารณารายงานว่า ที่ผ่านมามีการดำเนินการอย่างไร รวมถึงรายงานความพร้อมของระบบสาธารณสุขว่ายังรับมือสถานการณ์ได้ แม้จะมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น แต่จำนวนผู้ติดเชื้อที่มีอาการหนักและเสียชีวิตยังเท่าเดิม การครองเตียงและการใช้อุปกรณ์เครื่องช่วยชีวิตไม่ได้เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคติดตามสถานการณ์ตลอด พบแต่เพียงจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันกลับมาเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้อยู่แล้ว เนื่องจากสายพันธุ์โอมิครอนแพร่เชื้อเร็ว แต่โชคดีที่ไม่รุนแรง นอกจากนี้ ขณะนี้ประชาชนฉีดวัคซีนจำนวนมากแล้ว ทำให้มีภูมิต้านทานเพียงพอที่จะรับมือกับเชื้อโรค

ติดต่อโฆษณา!