18 พฤศจิกายน 2564
2,092

ไทยอาจต้องใช้ไม้แข็ง!! ไม่ฉีดวัคซีนห้ามไปที่สาธารณะ

ไทยอาจต้องใช้ไม้แข็ง!! ไม่ฉีดวัคซีนห้ามไปที่สาธารณะ
Highlight

กระทรวงสาธารณสุขพบว่า มีประชาชนกว่า 10 ล้านคนยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มแรก ซึ่งปัจจัยความเสี่ยงในขณะนี้เพิ่มขึ้นจาก การเปิดประเทศ การเปิดเรียน การผ่อนคลายให้กิน-ดื่มในร้านอาหารได้ และการรวมตัวทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งพบว่าผู้ที่ไม่ฉีดวัคซีนบางส่วนอาจมีความกังวลเรื่องความปลอดภัยของวัคซีน  การรอวัคซีนทางเลือก หรือการเข้าไม่ถึงบริการสาธารณสุข จากนี้จะเร่งดำเนินการเพื่อให้วัคซีนเข้าถึงประชาชนให้ได้มากที่สุด ซึ่งอาจจะต้องใช้ไม้แข็ง เช่นยื่นเอกสารการรับวัคซีนอย่างน้อย1 เข็มในการเข้าพื้นที่สาธารณะ


นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยตั้งเป้าการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ถึง 100 ล้านโดส ภายในสิ้นเดือน พ.ย.นี้ แต่พบว่าในช่วงหลังยอดการฉีดวัคซีนลดลงไม่เป็นไปตามเป้า โดยพบว่ามีประชาชนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มแรก กว่า 10 ล้านคน 

การที่ประชาชนไม่ได้รับวัคซีนเข็มแรกอาจจะมาจากหลายสาเหตุ เช่นความกังวลด้านสุขภาพ การรอวัคซีนทางเลือก หรือการเข้าไม่ถึงบริการทางสาธารณสุขในบางพื้นที่ จากนี้ต้องขอความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องรวมทั้งผู้นำชุมชน เพื่อให้ข้อมูลกับประชาชนและการเข้าถึงวัคซีนให้มากที่สุด 

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) จะสั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดให้บริหารจัดการกลุ่มที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ให้มาฉีดวัคซีน จูงใจให้ประชาชนมาฉีดวัคซีน และออกประกาศ การไปที่สาธารณะจะต้องแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีน เนื่องจาก ศบค.อยากให้กลุ่มเป้าหมายเข้ามาฉีดวัคซีนมากขึ้น อาจจะมีมาตรการจูงใจเพื่อให้ประชาชนเข้ามาฉีดวัคซีน และสุดท้ายถ้าจำเป็นจริงๆ ถ้า ศบค.พิจารณาแล้วการไปทำกิจกรรมต่างๆ ในที่สาธารณะ อาจจะต้องมีการแสดงผลการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 โดส เพื่อจะให้เกิดความปลอดภัย เพราะถือเป็นความรับผิดชอบของประชาชนต่อชุมชนเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ประเทศไทยมี 4 ปัจจัยที่ทำให้มีความเสี่ยงจะเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เพิ่มขึ้นได้อีก ได้แก่ การเปิดประเทศ  การเปิดเรียน การผ่อนคลายให้กิน-ดื่มในร้านอาหารได้ และการรวมตัวทำกิจกรรมต่างๆ ได้จำนวนหนึ่ง 

ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงมุ่งเน้นการดำเนินงาน 4 ส่วน ได้แก่  

1. V- Vaccine เร่งรัดการฉีดวัคซีนให้ทุกคนบนแผ่นดินไทยให้ได้ 100 ล้านโดส 

2. U- Universal Prevention ให้ประชาชนใช้มาตรการป้องกันตนเองสูงสุด

3. C-COVID Free Setting ร้านค้า/สถานประกอบการใช้มาตรการพื้นที่ปลอดโควิด 19 และ 

4. A-ATK ใช้ชุดตรวจคัดกรองเมื่อมีความเสี่ยง เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับคนในประเทศ ช่วยให้ก้าวผ่านวิกฤตโควิด 19 และได้ฉลองปีใหม่อย่างมีความสุข

สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ล่าสุดเมื่อ 18 พ.ย.ที่ผ่านมา ฉีดได้ถึง 86 ล้านโดสแล้ว แบ่งเป็นเข็มแรก 45,700,036 โดส เข็มที่ 2 จำนวน 37,527,295 โดส  และเข็มที่ 3 จำนวน 2,844,176 โดส โดยตั้งเป้าให้ได้ 100 ล้านโดสในสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยให้หน่วยงานฝ่ายปกครองในพื้นที่สำรวจ ติดตามประชาชนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนให้มาฉีดให้มากที่สุด รวมไปถึงแรงงานต่างด้าวทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย

ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขจะปรับรูปแบบการฉีดวัคซีนให้สะดวกกับประชาชนมากขึ้น เช่น จัดทีมฉีดวัคซีนเชิงรุกให้ผู้สูงอายุ คนติดบ้านติดเตียง จัดสัปดาห์รณรงค์การฉีดวัคซีน เป็นต้น มหาวิทยาลัยและโรงเรียนแพทย์จะสื่อสารทำความเข้าใจและให้ข้อมูลวัคซีนแก่ประชาชนอย่างถูกต้อง ส่วนผู้ประกอบการจะช่วยจัดระบบป้องกันไม่ให้มีการติดและแพร่เชื้อได้ และดูแลให้พนักงานได้รับวัคซีนครบโดส

โดยในส่วนของ ศบค. มีแนวคิดที่จะส่งเสริมให้กลุ่มเป้าหมายเข้ามาฉีดวัคซีนมากขึ้น โดยอาจพิจารณาเรื่องการแสดงผลการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 โดส เมื่อทำกิจกรรมต่างๆ ในที่สาธารณะ เพื่อความปลอดภัยและถือเป็นความรับผิดชอบต่อสังคม รวมถึงอาจเพิ่มมาตรการจูงใจต่างๆ

สำหรับสถานการณ์ประเทศไทยขณะนี้ภาพรวมมีแนวโน้มลดลง แต่ยังพบการติดเชื้อต่อเนื่องบางจุด เช่น เรือนจำ กลุ่มแรงงานประมง แคมป์ก่อสร้าง ค่ายฝึกทหาร สถานประกอบการ ตลาด และการจัดพิธีกรรมทางศาสนา เป็นต้น ซึ่งสถานการณ์ที่มีผู้ติดเชื้อลดลงมีส่วนทำให้ประชาชนคลายความกังวลและไม่ไปรับการฉีดวัคซีน 

20211118-a-03.jpg

จึงขอให้ผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนรีบมารับการฉีด เพื่อป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตเนื่องจากการใช้ชีวิตประจำวันทั่วไปก็มีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อโควิด 19 ได้ สำหรับประชาชนที่ไม่สะดวกเดินทางมาฉีดวัคซีนที่จุดบริการ สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ให้ได้รับการฉีดเชิงรุก สำหรับพื้นที่ที่มีการปรับเปลี่ยนมาตรการ ขอให้สถานประกอบการปฏิบัติตาม และศึกษาแนวทางอย่างเคร่งครัด

20211118-a-02.jpg

ศบค.ย้ำต้องเร่งฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันความเสี่ยงเจ็บป่วยหนัก-เสียชีวิต

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงว่า ข้อเสนอมาตรการเร่งรัดการฉีดวัคซีนจากที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข (อีโอซี) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) คือต้องมีการจัดกิจกรรมสัปดาห์แห่งการฉีดวัคซีนช่วงวันที่ 27 พฤศจิกายน ถึงวันที่ 5 ธันวาคม จัดทีมฉีดวัคซีนเชิงรุกให้กับผู้สูงอายุผู้ป่วยติดเตียง และขยายให้กลุ่มแรงงานต่างด้าว โดยกระทรวงมหาดไทยค้นหากลุ่มเป้าหมายที่ยังไม่ได้ฉีดเชิงรุกและนำมาฉีดวัคซีน จัดส่วนลดราคาค่าโดยสารรถสาธารณะ ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ เพื่อจูงใจการเข้ามารับการฉัดวัคซีน

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ขณะที่ ศบค.ควรจะออกประกาศ กรณีไปสถานที่สาธารณะต้องแสดงผลการฉีดวัคซีน และให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดบริหารจัดการกลุ่มเป้าหมายที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเชิงรุกให้มาฉีดวัคซีน และจูงใจประชาชนด้วยของรางวัล ทั้งหมดสรุปเป็นข้อเสนอ ยังไม่ได้มีการอนุมัติ ซึ่งคงจะต้องมีการพูดคุยและลงรายละเอียดต่อไป

มาตรการจูงใจและมาตรการกดดันทางสังคมที่ต่างประเทศใช้กับผู้ไม่ฉีดวัคซีน

ประเทศไทยในช่วงเริ่มต้นการฉีดวัคซีน ในปีนี้ได้มีการรณรงค์ในรูปแบบต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ “แมคโดนัลด์” แสดงบัตรรับรองการฉีดวัคซีน รับฟรี เฟรนช์ฟรายส์ , ZEN รับฟรีทาโกะยากิ เมื่อซื้อสินค้าอย่างน้อย 1 เมนูและแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีน , ร้านปิ้งย่าง “AKA” แจกฟรี ซุปกิมจิ , “On the Table” ให้ฟรี สลัดไส้กรอกอาราบิกิ และ“ร้านเขียง”ให้ฟรี ข้าวกะเพราไก่ เป็นต้น

  • แคลิฟอร์เนีย สร้างแรงจูงโดยให้ลุ้นรางวัลในรูปแบบเดียวกับลอตเตอรี่จำนวน 10 รางวัล ซึ่งมีมูลค่ารางวัลละ 1.5 ล้านดอลลาร์หรือราว 46 ล้านบาท และรางวัลละ 50,000 ดอลลาร์หรือราว 1.5 ล้านบาทอีก 30 รางวัล พร้อมมอบบัตรกำนัลแลกเป็นเงินสดหรือสินค้าอุปโภคบริโภคคนที่ฉีด2 ล้านคนแรก มูลค่ารายละ 50 ดอลลาร์ หรือราว 1,500 บาท

  • ออสเตรีย, อเล็กซานเดอร์ แชลเลินแบร์ค นายกรัฐมนตรีออสเตรีย เริ่มใช้มาตรการล็อกดาวน์สำหรับคนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยให้เริ่มมีผลบังคับใช้ทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย.64  ต่อเนื่องอย่างน้อย 10 วัน ผู้มีอายุตั้งแต่ 12 ปี ในออสเตรีย ซึ่งยังไม่ได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 หรือ ฉีดแล้วแต่ยังไม่ครบ จะออกจากบ้านไปในสถานที่สาธารณะได้ในบางกรณีเท่านั้น เช่น ทำงาน จ่ายตลาด โดยเจ้าหน้าที่จะสุ่มตรวจหลักฐานการฉีดวัคซีน หากพบการฝ่าฝืนถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย และอาจต้องชำระค่าปรับมากถึง 1,450 ยูโร
     
  • รัฐบาล สิงคโปร์ ได้ประกาศว่า คนที่เลือกจะไม่ฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วติดเชื้อโควิด-19 จะต้องออกค่ารักษาเอง โดยจะเริ่มเรียกเก็บเงินผู้ป่วยโควิด-19 ที่เลือกไม่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 8 ธ.ค.64 แต่ผู้ที่มีไม่สามารถฉีดได้จริงๆ ทางรัฐบาลยังคงออกค่ารักษาพยาบาลให้ตามปกติ ส่วนคนที่ฉีดเข็ม 1 จะขยายเวลาให้ฉีดเข็ม 2 จนถึง 31 ธ.ค.
     
  • นิวยอร์ก ใช้แผน “Key to NYC Pass” บังคับประชาชนแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนโควิด-19 ก่อนเข้าสถานที่สาธารณะ นับเป็นเมืองแรกของสหรัฐอเมริกาที่ใช้มาตรการดังกล่าวเต็มรูปแบบเมื่อวันที่ 13 ก.ย. 64 “บิล เดอ บลาซิโอ” นายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก เผยว่า ประชาชนในพื้นที่จะต้องแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนโควิด-19 ก่อนเข้าใช้บริการในร้านอาหาร ฟิตเนส สถานบันเทิง รวมถึงพนักงานที่ทำงานในสถานที่นั้นๆ โดย มาตรการดังกล่าว ถือเป็นหนึ่งในมาตรการกระตุ้นให้ชาวอเมริกันไปฉีดวัคซีนมากขึ้น


ปลายเดือน ก.ค. ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กำหนดให้ข้าราชการและลูกจ้างรัฐบาลกลางหลายล้านคนแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนแล้ว หรือที่เรียกว่าพาสปอร์ตวัคซีน โดยพนักงานของรัฐที่ไม่มีหลักฐานว่าฉีดวัคซีนแล้วจะต้องตรวจหาเชื้อโควิดสัปดาห์ละ 1 หรือ 2 ครั้ง และถูกจำกัดการเดินทางในราชการ ทั้งยังสั่งการให้กระทรวงกลาโหมหาวิธีการและกำหนดเวลาให้บุคลากรในกองทัพฉีดวัคซีน

แพทย์หญิงสุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวว่า การติดเชื้อทั่วโลกยังสูงในบางจุด เช่นที่ยุโรป ซึ่งศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศเยอรมนี ผู้ป่วย 1 ใน 3 ได้วัคซีนไม่ครบโดส และการติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นในหลักหมื่นก็เนื่องจากมีการเปิดกิจการ กิจกรรมที่มากขึ้น แต่ไม่ได้เคร่งครัดมาตรการส่วนบุคคล ซึ่งก็เหมือนกับในหลายประเทศในยุโรป ซึ่งช่วงนี้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น

“ดังนั้นถึงแม้ว่าจะได้รับวัคซีนแล้วก็ยังคงต้องใช้ชีวิตในวิถีแนวใหม่อยู่ ภายใต้มาตรการสูงสุดแบบครอบจักรวาล หรือ Universal Prevention” แพทย์หญิงสุมนีกล่าว

20211118-a-01.jpg

ติดต่อโฆษณา!