20 สิงหาคม 2564
5,203

ทำความรู้จัก G-Cell นวัตกรรมใหม่ อนาคตใหม่ของพลังงานไทย


HighLight

หนึ่งในนวัตกรรมที่เชื่อกันว่า จะเปลี่ยนโฉมหน้าของโลกไปอย่างมากในอนาคต คือเรื่องของแบตเตอรี่และระบบการจัดเก็บพลังงาน ซึ่งจะส่งผลดีไม่ใช่แค่กับเรื่องของรถยนต์ที่จะกลายมาเป็นรถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น ราคาถูกขึ้น มีประสิทธิภาพดีขึ้นและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังรวมถึงการใช้ไฟฟ้าในระดับใหญ่ขึ้น ตั้งแต่บริษัทห้างร้าน SMEs ไปจนถึงโรงงานขนาดใหญ่ ที่เมื่อมีระบบการจัดเก็บพลังงาน บวกกับระบบบริหารจัดการอัจฉริยะ จะทำให้การใช้พลังงานไฟฟ้าในอนาคตของไทย พลิกโฉมหน้าไปได้เลย วันนี้ #ทันข่าวพลังงาน จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ G-Cell ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ทำให้เรื่องราวทั้งหมดนี้เกิดขึ้น


โรงงานผลิตหน่วยกักเก็บพลังงาน G-Cell ด้วยเทคโนโลยี SemiSolid แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ได้เปิดโรงงานผลิตหน่วยกักเก็บพลังงาน G-Cell ด้วยเทคโนโลยี SemiSolid แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีกำลังการผลิตเริ่มต้นที่ 30 MWh (เมกะวัตต์ชั่วโมง) ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ด้วยนวัตกรรมการผลิตแบตเตอรี่ SemiSolid ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการผลิตของบริษัท 24M Technologies, Inc. หรือ 24M จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งทาง GPSC ได้รับสิทธิ License ในการผลิตและจัดจำหน่าย โดยมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตจากปัจจุบันที่ 30 MWh เป็น 100 MWh ต่อปี และตั้งเป้าหมายก้าวสู่โรงงานผลิตเชิงพาณิชย์ ขนาดเริ่มต้น 1 GWh (กิกะวัตต์ชั่วโมง) ต่อปี ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาและพิจารณาแผนการลงทุนในระยะต่อไป

20210820-a-01.jpg

G-Cell คืออะไร? มีข้อดีอย่างไร ?


20210820-a-02.jpg

ถ้าพูดถึงแบตเตอรี่ หลายคนน่าจะเคยได้ยินชื่อแบตเตอรี่ ลิเทียมไอออน (Lithium Ion) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ดี มีจุดเด่นตรงน้ำหนักเบา พกพาสะดวก ปราศจากสารเคมีที่เป็นอันตราย มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน เหมาะแก่การใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่าง สมาร์ทโฟน แต่ก็แลกมาด้วยราคาที่แพงมาก หากจะทำเป็นแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ ก็จะมีปัญหาเรื่องราคา นอกจากนี้ ลิเทียมไอออนยังไม่สามารถรีไซเคิลผลิตภัณฑ์ได้ ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา

G-Cell เป็นนวัตกรรมแบตเตอรี่ลิขสิทธิ์ของบริษัท บริษัท 24M Technologies, Inc. หรือ 24M จากสหรัฐอเมริกา ที่ GPSC ได้ License ผลิตและจำหน่าย ซึ่งใช้การผลิตรูปแบบใหม่ที่มีชื่อว่า ‘SemiSolid’ ซึ่งมีข้อดีหลายด้าน ทั้งความสามารถในการกักเก็บพลังงานและอายุการใช้งาน นอกจากนี้ยังชาร์จไฟได้รวดเร็ว และที่สำคัญ แบตเตอรี่แบบ SemiSolid ไม่ต้องใช้แร่โลหะ อย่างทองแดง หรืออลูมิเนียม ทำให้ต้นทุนการผลิตถูกลง ปลอดภัยและสามารถนำไปรีไซเคิลต่อได้หลังแบตเตอรี่หมดอายุการใช้งานไปแล้ว

เรียกได้ว่า G-Cell เป็นแบตเตอรี่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าวิถีการผลิตแบบปกติ นำไปใช้งานในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ (Mobility Application - Light Duty and Heavy Duty) อาทิ รถบัสไฟฟ้า เรือไฟฟ้า รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมผลิตระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า (Stationary Application)


G-Cell ใช้งานอย่างไร ?

นึกภาพง่ายๆ G-Cell คือแบตเตอรี่ขั้นพื้นฐานในรูปแบบ Battery Pouch Cell เปรียบเสมือนตัวต่อเลโก้ 1 ชิ้น ที่เราสามารถนำ G-Cell หลายๆ ชิ้นมาต่อเข้าด้วยกัน ตามแต่ความต้องการการใช้งาน ซึ่งก็ตอบโจทย์ได้หลากหลายตั้งแต่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก รถยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ และในโรงงานอุตสาหกรรม ยกตัวอย่าง เช่น การใช้แบตเตอรี่ G-Cell ในรถสามล้อไฟฟ้า ก็สามารถวิ่งได้ 80 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง เครื่องยนต์เงียบ ไม่มีมลภาวะ ซึ่งก็ถือว่าสะดวกต่อการใช้งานจริง โดยโรงงานผลิตหน่วยกักเก็บพลังงาน G-Cell ด้วยเทคโนโลยี SemiSolid แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของ GPSC นี้ สามารถผลิตแบตเตอรี่ได้ 3 ระดับ คือ

1. G-Cell เป็นผลิตภัณฑ์ขั้นพื้นฐานในรูปแบบ Battery Pouch Cell

2. G-Pack มีการนำ Battery Pouch Cell มาเชื่อมต่อกันในรูปแบบ Battery Module และ Pack พร้อมทั้งติดตั้งระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ หรือ Battery Management System (BMS) ร่วมด้วย สำหรับการใช้งานในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กและขนาดใหญ่ (Mobility Application – Light Duty and Heavy Duty) เช่น รถบัสไฟฟ้า เรือไฟฟ้า รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า รถไฟฟ้าสี่ล้อขนาดเล็ก รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า และกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า (Stationary Application)

3. G-Box ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์พร้อมใช้งานสำหรับระบบสำรองไฟฟ้า (UninterruptiblePowerSupply หรือ UPS) และระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System หรือ ESS) ที่มีขนาดตั้งแต่ 10- 1,000 กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) ขึ้นไป ซึ่งสามารถนำเทคโนโลยี IoT (Internet of Things) AI (ระบบปัญญาประดิษฐ์) และ Block-chain เข้ามาพัฒนาเป็นแพลตฟอร์ม การให้บริการกับกลุ่มลูกค้าตามขนาดของความต้องการใช้ไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

และแน่นอนว่าเมื่อมีความต้องการใช้ ตัวอย่างเช่นในรถยนต์ ก็ต้องมีแท่นชาร์จมาประกอบกัน โดย GPSC และ กลุ่ม ปตท. ก็มีเป้าหมายให้มีการติดตั้งแท่นชาร์จทั่วประเทศ ทุกสถานีบริการน้ำมันที่มีความเป็นไปได้ ตลอดจนจุดสำคัญต่างๆ เช่น บนคอนโดมีเนียม ซึ่งน่าจะช่วยให้การใช้งานเกิดขึ้นได้จริงมากขึ้นด้วย


“GPSC Experience Center”เสริมสร้างความรู้ พัฒนาเยาวชน

20210820-a-03.jpg

20210820-a-04.jpg

โรงงานผลิตแบตเตอรี่แห่งนี้ GPSC ยังได้พัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้เรื่องของแบตเตอรี่ และระบบกักเก็บพลังงาน จัดเป็นห้องนิทรรศการแสดงความเป็นมาของโครงการภายใต้ชื่อ Experience Center ที่จะเปิดให้กลุ่มลูกค้า นักเรียน นักศึกษาและเยาวชน สามารถเข้ามาเรียนรู้เทคโนโลยีที่สำคัญของไทย ซึ่งจะช่วยให้เป็นแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนสนใจในด้านวิทยาศาสตร์ โดยในศูนย์ดังกล่าวแบ่งเป็นหลายโซนตั้งแต่การให้ความรู้การพัฒนาแบตเตอรี่ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม และชนิดของแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ที่มีหลายรูปแบบที่จะเป็นส่วนสำคัญพัฒนาเทคโนโลยีสีเขียวหรือเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่จะเกิดขึ้นในประเทศที่จะมีบทบาทในชีวิตประจำวันในอนาคต

ติดต่อโฆษณา!